ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง–(สุรินทร์ สรรพคุณ)
โคมคำ / [email protected]
เหรียญกงจักร 16 แฉก
หลวงพ่อรุ่ง ปุญญกโร
วัดโพธิ์พระใน เพชรบุรี
“พระครูปุญญกรวิโรจน์” หรือ “หลวงพ่อรุ่ง ปุญญกโร” วัดโพธิ์พระใน อ.เมือง จ.เพชรบุรี พระเกจิอาจารย์ที่ชาวตำบลโพพระเคารพนับถือ
วัตถุมงคลได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะ “เหรียญกงจักร 16 แฉก หลวงพ่อรุ่ง” มีทั้งหมด 3 รุ่น
รุ่น 1 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2490 เพราะช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่เคยจัดสร้างแต่อย่างใด แต่ได้พระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้นร่วมปลุกเสกมากมาย
มีหูห่วง ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อรุ่งครึ่งองค์ หันหน้าตรง ในวงกลมด้านล่างมีอักษร เขียนคำว่า “พระครูปุญญกรวิโรจน์”
ด้านหลังเป็นเส้นยันต์มีอักขระขอม คาถาพระเจ้าห้าพระองค์ อ่านว่า นะโมพุทธายะ ด้านล่างเป็นตัวเลขอารบิก “2490”
เหรียญกงจักร รุ่นที่ 2 สร้างในปี พ.ศ.2513 ลักษณะเหมือนกับเหรียญรุ่น 1 ทุกประการ มีข้อแตกต่างตรงด้านหลัง ใต้อักขระยันต์ เป็นตัวเลขไทย “๒๕๑๓”
ส่วนรุ่นที่ 3 เหมือนกับเหรียญรุ่น 1 และรุ่นที่ 2 มีข้อแตกต่างตรงด้านหลัง ใต้อักขระยันต์ เป็นตัวเลขไทย “๒๕๓๙” อีกทั้งยังจัดสร้างเหรียญแบบมีลงยาสีประจำวันด้วย
ทั้ง 3 รุ่น หลังจัดสร้างแล้วเสร็จ ได้รับความนิยมอย่างดี ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม
ผู้มีไว้ในครอบครองจึงเป็นที่หวงแหนกันมาก
มีนามเดิมว่า รุ่ง สุวรรณเพ็ชร เกิดที่ ต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2425 ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 10 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย บิดา-มารดาชื่อ นายสว่างและนางเปี่ยม สุวรรณเพ็ชร
เมื่ออายุ 11 ปี นายสว่างผู้เป็นบิดา นำไปฝากเป็นศิษย์พระปลัดบุญ วัดชีว์ประเสริฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เพื่อรับการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาด้วยความอุตสาหวิริยะ จนสามารถอ่านเขียนได้คล่องทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม
ครั้นอายุ 15 ปี จึงกลับมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนตาล
พ.ศ.2448 ขณะนั้นอายุ 22 ปี เข้าสู่พิธีอุปสมบท ณ วัดปากทะเลนอก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยมีหลวงพ่อดิษฐ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดปากทะเลนอก เป็นพระอุปัชฌาย์, เจ้าอธิการกรานต์ วัดโพธิ์พระใน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ศึกษาวิทยาคมต่างๆ กับหลวงพ่อดิษฐ์ และเดินทางไปมาระหว่างวัดโพธิ์พระในกับวัดปากทะเลนอกอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสศึกษาวิทยาคมกับพระอาจารย์สุ่ม พระภิกษุสูงอายุที่วัดโพธิ์พระใน ซึ่งท่านมีความชำนาญทางด้านแพทย์แผนโบราณ และมีวิทยาคมสูงมาก ซึ่งหลวงพ่อรุ่งท่านได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ ไว้จนหมด
กระทั่งปี พ.ศ.2460 พระอธิการทิพย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์พระใน มรณภาพลง จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พร้อมเป็นเจ้าคณะหมวดในปีเดียวกัน
วัดโพธิ์พระใน ตั้งอยู่ที่ ต.โพพระ อ.เมือง จ.เพชรบุรี สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตอนปลายรุ่นราวคราวเดียวกับวัดเกาะ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ประวัติเท่าที่สืบค้นได้มีเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดอยู่ 7 รูป (ก่อนหน้านี้คาดว่ามีหลายรูป แต่ไม่สามารถสืบค้นประวัติได้) คือ 1.พระอธิการสงค์ 2.พระอธิการโต 3.พระอธิการกรานต์ 4.พระอธิการทิพย์ 5.พระครูปุญญกรวิโรจน์ (หลวงพ่อรุ่ง) พ.ศ.2460-2488 6.พระครูโพธิวรคุณ (หลวงพ่อพลัด) พ.ศ.2488-2541 7.พระครูบวรโพธิวิโรจน์ (หลวงพ่อสมจิต) พ.ศ.2541-ปัจจุบัน
วัดโพธิ์พระใน ผ่านความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมชำรุดเรื่อยมา หลวงพ่อรุ่งดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมถาวรวัตถุต่างๆ ที่เกือบสิ้นสภาพให้กลับคืนยังประโยชน์ดังเดิม พร้อมจัดการงานอันเป็นสิ่งสาธารณูปการต่างๆ อาทิ สร้างกำแพงล้อมรอบพระอาราม ขุดสระน้ำกักเก็บไว้เป็นสาธารณะ สร้างโรงเรียนประชาบาล สร้างศาลาการเปรียญ ตั้งโรงเรียนนักธรรมศึกษาปริยัติธรรม สร้างหอพระไตรปิฎก ฯลฯ
พ.ศ.2475 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2481 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน นามว่า พระครูรุ่ง
พ.ศ.2484 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร นามว่า “พระครูปุญญกรวิโรจน์”
ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2486 หลวงพ่อรุ่งได้เริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีก 1 หลัง กว้าง 11 เมตร ยาว 23 เมตร (แต่ไม่ทันเสร็จก็มรณภาพเสียก่อน)
วัตถุมงคลต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นของที่มีผู้มาขอให้ทำเฉพาะตัว เช่น ตะกรุดลูกอม ที่เป็นของท่านสร้างจริงๆ ก็มีแต่ผ้ายันต์ ทำขึ้นเพื่อแจกทหารในครั้งสงครามอินโดจีนเท่านั้น
ส่วนเหรียญนั้น หลวงพ่อพลัดเจ้าอาวาสรูปต่อมา เป็นผู้ดำเนินการสร้างขึ้น หลังมรณภาพไปแล้ว เพื่อแจกในงานฌาปนกิจ โดยนำแผ่นโลหะไปให้คณาจารย์ต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรีลงอักขระแล้วนำมาหล่อหลอมรีดเป็นแผ่น แล้วนำไปจ้างโรงปั๊มเป็นเหรียญ เมื่อเรียบร้อยจึงจัดพิธีพุทธาภิเษกโดยได้นิมนต์พระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงของเพชรบุรีมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ช่วงบั้นปลายชีวิต เริ่มป่วยเป็นโรคลม แต่อาการของโรคประจำตัวนี้ หายบ้างเจ็บบ้างเป็นครั้งคราว ครั้นถึง พ.ศ.2488 โรคซึ่งเป็นประจำตัวนี้ได้เริ่มทำพิษบ่อยครั้งขึ้น ครั้นถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2488 อาการอาพาธทรุดหนักยิ่งขึ้น
เมื่อถึงวันที่ 4 กันยายน 2488 เวลา 01.15 น. จึงมรณภาพด้วยอาการสงบ
สิริอายุ 61 ปี 7 เดือน 16 วัน