เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ประวัติคนที่บอกเล่าตัวตน และเรื่องราวของยุคสมัย

มีนักอ่านจำนวนหนึ่งชอบอ่านและสะสมหนังสืองานศพ โดยเฉพาะหนังสืองานศพที่เรียบเรียงความเป็นมาของบุคคลสำคัญอย่างประณีต เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองและนับเป็นบุคคลสาธารณะที่การรับรู้เรื่องราวของท่านเหล่านั้นคือการรับรู้ความเกี่ยวข้องของชีวิตท่านกับความเป็นไปของสังคม ของประเทศชาติ

หนังสืองานศพเช่นที่ว่านี้ ที่ได้อ่านในสองสามวันนี้คือหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.ถนัด คอมันตร์ ซึ่งมีอายุครบ 100 ปี

บุตรและบุตรีทั้ง 3 ของท่านเขียนไว้ในหน้าแรกของหนังสือว่า “It was while cleaning out a cupboard in a little-used store room that we came upon a treasure, letters our grandfather had written to his son when he was a fourteen-year old student in France”

แปลความว่า พวกเราได้พบจดหมายที่คุณปู่เขียนถึงคุณพ่อในขณะที่ท่านอายุ 14 ปี และเป็นนักเรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จดหมายนี้พบในตู้ในห้องเก็บของ

เป็นจดหมายทั้งหมด 113 ฉบับ ที่เขียนสม่ำเสมอทุกเดือนตลอด 12 ปี เป็นจดหมายที่ ดร.ถนัด หอบติดตัวกลับมาจากต่างประเทศหลังจบการศึกษา และผ่านกาลเวลาในสงครามโลก รวมทั้งรอดพ้นจากปลวก

 

wk05220160812-3หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “แต่พ่อที่รักของลูก” และมีชื่อรองว่า Thanat Khoman : The Formative Years เพราะเหตุไรจึงมีชื่อเช่นนี้

บรรณาธิการของหนังสือ อาจารย์สิริลักษณา คอมันตร์ บุตรีสะใภ้ของท่าน ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวในครอบครัวที่เขียนภาษาไทยแตกฉาน เนื่องจากบุตรและบุตรีของท่านทั้ง 3 ใช้ชีวิตในต่างประเทศ ได้อธิบายว่า ในสมัยโน้น คำว่า “แต่” น่าจะหมายถึงคำว่า “จาก” ส่วนชื่อรองที่ว่า Thanat Khoman : The formative Years น่าจะหมายถึงการที่ลูกๆ เห็นว่าจดหมายเหล่านี้มีความสำคัญมากในการบ่มเพาะตัวตนของท่านให้เป็นท่านอย่างที่คนไทยรู้จักกัน

การบ่มเพาะนี้เหมือนกับเป็นแนวทางมาตั้งแต่รุ่นบิดาของ ดร.ถนัด บิดาของท่านคือ พระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย ชื่อเดิมคือนายโป๋ มีมารดาคือนางอิ่ม เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลได้พานายโป๋ไปฝากไว้กับอาจารย์ภาษาไทยชื่อดังที่สุดในสมัยนั้นคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ทำให้นายโป๋ได้ประจักษ์ถึงความสำคัญของการเล่าเรียนเขียนอ่าน

ต่อมาถึงรุ่นลูกคือ ดร.ถนัด ก็เห็นว่าการเล่าเรียนในประเทศก็ยังไม่พอ ต้องส่งไปเรียนต่างประเทศเพื่อให้ได้ความรู้รอบตัวกว้างขวาง

บิดาของท่านไปเรียนกับพระยาศรีสุนทรโวหารเมื่ออายุ 13 ปี ส่วน ดร.ถนัด ถูกส่งไปเรียนฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 14 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังก่อร่างสร้างความคิดและอุปนิสัย

ตลอดช่วงเวลา 12 ปี บิดาก็เขียนจดหมายถึงโดยตลอด เนื้อหาที่เขียนได้เตือนถึงการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน พร้อมๆ กับการรู้จักใช้เวลาพักผ่อน และที่สำคัญให้ประหยัดในการใช้จ่าย

จดหมายที่ว่านี้ไม่เพียงพูดถึงเรื่องส่วนตัวระหว่างพ่อกับลูกแต่เล่าถึงเรื่องความเป็นไปของบ้านเมืองและให้ข้อคิดต่างๆ

 

นอกจากนี้ ผู้เป็นบรรณาธิการยังได้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ในยุคนั้นอย่างเข้าใจง่าย อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าหนังสือนี้น่าจะมีไว้ในห้องสมุดโรงเรียนให้นักเรียนได้อ่านกัน

อย่างเช่น เมื่อเล่าถึงเรื่องการเรียนกฎหมายในสมัยนายโป๋ โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นผู้สอน บรรณาธิการได้ยกเอาข้อเขียนของกรมหลวงราชบุรีฯ มาเล่าว่า “ได้อธิบายกฎหมายที่ในคราวนี้สิ้นเวลาหลายวัน ทุกครั้งได้นั่งพูดไม่หยุดปากไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง แลถึง 4 ชั่วโมงก็มี มิใช่เป็นการเล่น และนักเรียนปีนี้ก็มากจนจะไม่มีที่ให้นั่งเก้าอี้ต้องลงไปนั่งกับพื้นแล้ว ต่างคนต่างถืออาวุธดินสอสำหรับจดถ้อยคำทำให้ผู้สอนกระดากกระเดื่องว่าจะพูดเหลวไหลไปได้ ต้องจุดตะเกียงลุกขึ้นอ่านหนังสือร้อยแปดไว้เตรียมการ”

หรืออย่างเช่น การเตรียมตัวเกษียณของบิดาที่เขียนจดหมายไปเล่าให้ลูกฟังว่า “พ่อนั้นมีอายุครบ 55 ปีแล้วจะได้ออกรับเบี้ยบำนาญในสิ้นปีนี้ จะได้อยุดพักให้ร่างกายสบายจะได้มีอายุยืนยาวต่อไปให้มาก เพื่อจะได้เลี้ยงลูกให้เป็นหลักฐานมั่นคงขึ้น ลูกไม่ต้องเป็นห่วงเพราะพ่อเตรียมตัวมาหลายปีแล้วที่จะมาออกให้เป็นศุขโดยหารายได้และรายจ่ายให้พอคุ้มกัน เพราะพ่อต้องกรากกรำทำราชการมาถึง 37 ปีแล้ว ต้องอยุดพักให้เป็นอิศรแต่ตัว” แสดงถึงการดำเนินชีวิตที่รอบคอบระมัดระวังที่ลูกอย่าง ดร.ถนัด ก็ได้เจริญรอยตามต่อมา และมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จและสุขสงบ รับใช้บ้านเมืองได้เต็มที่

คุณพ่อของ ดร.ถนัด ได้อบรมสั่งสอนให้รู้จักคุณค่าของเงินตลอดเวลา เมื่อไปเรียนด้วยทุนของทางบ้านก็ให้นึกถึงการใช้เงินที่พ่อหามาอย่างระวัง เมื่อได้ทุนเล่าเรียนหลวงก็ให้ตระหนักว่าใช้เงินของแผ่นดิน คุณพ่อของท่านเขียนไปว่า

“เมื่อเป็นนักเรียนของรัฐบาลแล้วก็ต้องตั้งใจเล่าเรียนให้ยิ่งไปกว่าเดิมอีก…อย่ามีความประมาทหรืออย่าทะนงตัว ต้องรักตัวของตัว เล่าเรียนให้ดียิ่งกว่าเก่า เพราะเวลานี้ได้ใช้ทุนของรัฐบาลเป็นค่าเล่าเรียน ทุกๆ บาทและทุกๆ สตางค์ที่ใช้ไปจะต้องให้เป็นประโยชน์แต่วิชาที่เล่าเรียนทั้งสิ้น และอย่าเป็นคนใช้เงินเปลืองโดยไม่จำเป็น” และ “พ่อก็หวังว่าลูกคงคิดเช่นเดียวกับพ่อ เมื่อกลับกรุงเทพฯ จะได้ใช้วิชาที่เล่าเรียนมาให้เป็นประโยชน์แต่ชาติบ้านเมืองต่อไป”


บรรณาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในจดหมายเป็นร้อยฉบับ ไม่มีแม้แต่สักครั้งเดียว ที่พระยาพิพากษาฯ จะสั่งสอนให้เรียนหนังสือเพื่อนำความรู้ไปแสวงหาอำนาจ หรือให้ไปเป็น “เจ้าคนนายคน” หรือไปแสวงหาประโยชน์ให้ร่ำรวยเงินทอง สร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง มีแต่พร่ำสอนให้ระลึกถึงหน้าที่ ทำประโยชน์ให้ตนเองและสังคม และตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน

สิ่งที่หยิบยกมาเล่านี้คือส่วนหนึ่งของความเป็นมาของตัวตนบุรุษผู้หนึ่งที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี ผู้ใช้ชีวิตที่งดงาม ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติตลอดชีวิตของท่าน

การอ่านหนังสือนี้ยังทำให้ผู้อ่านเห็นชัดว่า การบ่มเพาะในช่วงชีวิตเยาว์วัยหรือที่หนังสือใช้คำว่า The Formative Years มีความสำคัญเพียงไรในชีวิตของคนคนหนึ่งอีกด้วย