อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (9)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (9)

 

นโยบายของสหรัฐและอัฟกานิสถาน

ประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อนของอัฟกานิสถาน

อะไรที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานสามารถย้อนกลับไปที่นโยบายต่างประเทศแบบขยายกล้ามของสหรัฐ หลังสงครามเย็นและการสร้างวาทกรรมว่าด้วยการก่อการร้ายของโลก

การล่มลงของรัฐบาลอัชร็อฟ กอนีย์ แห่งอัฟกานิสถานที่สนับสนุนโดยสหรัฐ และการขึ้นมาของฏอลิบานในฐานะตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นควรจะได้รับการพิจารณาด้วยสายตาและมุมมองทางประวัติศาสตร์เพราะมันได้นำไปสู่แง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสร้างคำถามให้กับนักศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หลายคำถามด้วยกัน

ประการแรก เราได้เป็นประจักษ์พยานให้กับศตวรรษแห่งอเมริกัน (American Century) และสงครามทั่วโลกว่าด้วยการก่อการร้าย (Global War on Terrorism) หรือ GWOT ที่ได้รับการประกาศโดยประธานาธิบดี Bush ผู้ลูก (Bush Jr.) อันเนื่องมาจากการโจมตีตึก World Trade Center เมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน ปี 2001

ประการที่สอง เราจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานได้อย่างไร? เราจำเป็นต้องย้อนเวลากลับไปไหม?

ประการที่สาม Biden ทำถูกต้องไหม? ทำไมเขาจึงประหลาดใจในความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น หลังจากเขาตัดสินใจถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานให้เสร็จสิ้นภายใต้วันเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้?

ประการที่สี่ อินเดียกำลังใช้การทูตที่อันตรายอยู่ในน้ำขุ่นหรือไม่ อินเดียจะทำได้ดีกว่านี้ไหม

ประการที่ห้า อะไรที่รออัฟกานิสถานและภูมิภาคนี้รออยู่ข้างหน้า

 

ศตวรรษแห่งอเมริกัน

วลี American Century นี้มาจากสำนักพิมพ์ Time โดย Henry Luce ผู้ที่มีบิดาเป็นนักเผยแผ่ศาสนาได้ตีพิมพ์บทความของเขาในวารสาร Life โดย Luce สนับสนุนให้ประเทศของเขาหลีกเลี่ยงลัทธิการอยู่อย่างโดดเดี่ยวและแยกตัวออกมาจากสังคมอื่น (isolationism) และยอมรับบทบาทของการกระจายตัวออกนอกประเทศ พร้อมการขยายความเป็นประชาธิปไตย

Luce หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “American Empire” หรือจักรวรรดิอเมริกันด้วยเหตุผลซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ชื่นชอบจักรวรรดิดังกล่าวแต่อย่างใด

ปลายสงครามโลกครั้งที่ II สหรัฐและสหภาพโซเวียตตกอยู่ภายใต้สงครามเย็น ซึ่งได้สิ้นสุดลงก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายในปี 1991 เสียอีก

ในบทความที่มีชื่อเสียงของ Charles Krauthammer ว่าด้วยช่วงเวลาของการเป็นขั้วอำนาจเดียวในกิจการระหว่างประเทศ (The Unipolar Moment in Foreign Affairs) ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ปี 1990 นั้น คอลัมนิสต์การเมืองผู้นี้ได้ประกาศถึงการครองอำนาจนำของสหรัฐในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในช่วงหลังสงครามเย็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ฝ่ายบริหารที่ประสบความสำเร็จและกลุ่มก้อนของนักวิชาการในสหรัฐและคนส่วนใหญ่ในส่วนอื่นๆ ของโลกต่างก็ให้การยอมรับแนวคิดของเขากันโดยทั่วหน้า

 

อาวุธแห่งความหลอกลวงรวมหมู่

อันเนื่องมาจากแนวคิดของ Krathammer ทำให้ William Kristol และ Robert Kagen เปิดเผยถึงโครงการสำหรับศตวรรษใหม่ของอเมริกา (Project for New American Century) หรือ PNAC ในปี 1997

โครงการนี้ให้กำเนิดขบวนการอนุรักษนิยมใหม่ (neocanservative) หรือของใหม่ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดนี้ถูกเรียกขานว่าพวก neocons โดยเนื้อหาสำคัญจะเน้นไปที่การใช้นโยบายต่างประเทศแบบใช้กำลัง

ในสมัยของประธานาธิบดี Reagan (1981-1989) มีการประโคมถึงความจำเป็นที่จะให้สหรัฐเป็นผู้มีอำนาจนำที่ครอบคลุม (benovlent hegemon) เพื่อสร้างและรักษาการขยายพลังของสหรัฐเอาไว้

กลุ่ม neocons เชื่อว่าพวกเขามีความฉลาดพอที่จะหลอกลวงคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่อเมริกันได้ไม่ใช่แค่ชั่วครู่ชั่วยามแต่ตลอดไป

ตัวอย่างเบื้องต้นคือการสร้างภาพว่าอิรัก ภายใต้ซัดดัม ฮุสเซน ครอบครองอาวุธทำลายล้าง (Mass Destruction) หรือ WMD เพื่อหาความชอบธรรมในการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่ออิรักอย่างไร้มนุษยธรรม จนเป็นผลให้เด็กในอิรักนับแสนคนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าสลด เป้าหมายของการรุกรานและยึดครองอิรักก็เพื่อจัดหากำไรมหาศาลให้กับบริษัทของสหรัฐ

ในความเป็นจริงมีผู้เชี่ยวชาญถึง 1,625 คนที่มาร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะมีอาวุธทำลายล้างอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ถึง 1,700 แห่ง ใช้เงินไปหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ไม่พบอาวุธทำลายล้างตามที่สหรัฐได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ดังนั้น คำที่ถูกต้องของการขยายตัวของอาวุธทำลายล้างจึงน่าจะเป็นการขยายตัวของอาวุธแห่งการหลอกลวงรวมหมู่ (weapons of mass deception) เสียมากกว่า

มีช่วงขณะที่ประธานาธิบดีของสหรัฐคิดว่ามีความจำเป็นและมีความเพียงพอที่จะส่งทหารของตนไปแก้ปัญหาทุกๆ แห่งในโลก โดยสามารถกล่าวถึงสงครามใหญ่ที่สหรัฐต้องพ่ายแพ้หรือไม่ก็ให้การยอมรับผลที่ออกมาเสมอกันได้ ดังนี้

 

สงครามเกาหลี

สงครามเกาหลี ซึ่งน่าจะจบลงได้ในเดือนตุลาคม ปี 1950 เพียงแค่ประธานาธิบดี Turman จะเอาใจใส่ข้อแนะนำของเนห์รูผู้นำอินเดียให้พูดคุยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและยอมให้มีการหยุดยิงตามเส้นทางคู่ขนานที่ 38

สามปีต่อมาคนนับล้านต้องจบชีวิตลง ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีและมากกว่า 54,000 คน ที่เป็นชาวสหรัฐ การตกลงหยุดยิงมีขึ้นตามข้อปฏิบัติเดิม

แม้ว่าจะมีการปรับแก้เพื่อผลประโยชน์มากกว่าของชาวเกาหลีเหนือก็ตาม

 

สงครามเวียดนาม

สงครามเวียดนามจบลงในปี 1975 ถือเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายของสหรัฐ

เพราะเอกอัครราชทูตของสหรัฐขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากประเทศเวียดนามบนหลังคาสถานทูต

หลังจากธงชาติของสหรัฐถูกลดลงจากเสา

 

สหรัฐไม่ได้อะไรเลย

จากการรุกรานในสงครามอิรัก ปี 2003

ในสงครามอิรักปี 2003 นอกจากสหรัฐต้องจ่ายราคาของสงครามด้วยชีวิตของผู้คนแล้ว

สหรัฐยังได้ความขัดแย้งในทางภูมิรัฐศาสตร์กับอิหร่านเป็นของขวัญอีกด้วย

 

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายกลายเป็นสงครามที่รังแต่จะก่อให้เกิดการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้นทั่วโลก การประกาศชัยชนะที่ขาดความน่าเชื่อถือในปี 2003 ของ Bush ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของกลุ่มไอเอส (Islamic State) ซึ่งในปี 2014 มีพื้นที่ที่พวกเขาเข้าครองถึง 100,000 ตารางกิโลเมตรและเข้าควบคุมประชาชนจำนวน 11 ล้านคน

สหรัฐประกาศชัยชนะอีกครั้งเมื่อ Trump คุยโวในเดือนตุลาคม ปี 2019 ว่าโลกปลอดภัยแล้ว เมื่ออัล-บักดาดี (Abu Bakr Al-Baghdadi) ผู้นำของไอเอสถูกสังหาร

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้กลุ่มของไอเอสกลับมีความตื่นตัวอยู่ในมอริเตเนีย มาลี ไนเจอร์ ไนจีเรีย ชาด โซมาเลีย โมซัมบิก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นอกจากนี้ หน่อเนื้อเชื้อไขของไอเอสอย่าง IS-K ยังกระจายตัวอยู่ในเอเชียใต้และเอเชียกลางอีกด้วย

ควรจะบันทึกไว้ด้วยว่าสหรัฐได้เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในรูปแบบการก่อการร้ายโดยรัฐ (State Terrorism) ที่เลวร้ายที่สุดในกวนตานาโม (Guantanomo) เมื่อคนจำนวน 780 คนถูกกักขังเป็นปีๆ ส่วนใหญ่ไม่ถูกตั้งข้อหาหรือมีการไต่สวน และบ่อยครั้งที่ได้รับการทรมานอย่างป่าเถื่อน

ในบริบทเดียวกันนี้เราไม่ควรลืมความหฤโหดที่อบูกรออิบ (Abu Ghraib) ในอิรัก ซึ่งไม่อาจและไม่ควรจะถูกลืมเลือน เมื่อสหรัฐก่ออาชญากรรมโดยไม่มีการลงโทษ เพราะพวกเขา “อยู่เหนือกฎหมาย”

เราไม่อาจมั่นใจได้ว่าสหรัฐสามารถรักษาตัวเองเอาไว้ได้ในความพยายามที่จะมีอิทธิพลอยู่เหนือส่วนที่เหลือของโลก อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกับจีนและบทเรียนที่ได้รับจากอัฟกานิสถานอาจทำให้สหรัฐต้องหันมาสำรวจนโยบายของตนที่มีต่อประชาคมโลกมากกว่าเดิม

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายทำให้สหรัฐหมดเงินไป 6.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อรักษาการมีอำนาจนำอยู่ในเวทีโลก

ซึ่งผู้นำสมัยต่อมาเห็นว่านโยบายดังกล่าวสมควรจะยุติลงได้แล้ว