ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “คัวเงิน”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “คัวเงิน”

คัวเงิน หมายถึง เครื่องเงิน คำว่า “ครัว” แปลว่าของใช้ต่างๆ

ครัวเงิน คือข้าวของเครื่องใช้ที่ทำมาจากเงิน เช่น ขัน หรือที่เรียกว่า สลุง ซึ่งเป็นขันน้ำขนาดใหญ่ ขันดื่มน้ำ พาน เป็นต้น

ย่านทำเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงในล้านนา โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงย่านวัวลาย

เนื่องจากชุมชนบริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่ใหญ่ที่สุด และทำเครื่องเงินกันมาช้านาน

 

วัวลาย เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่

จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละระหว่างปี พ.ศ.2325-2339 ได้ทำการ “ฟื้นม่าน” คือรวบรวมผู้คนเข้ามาผลักไสพม่าที่ครองเมืองเชียงใหม่อยู่ แต่เนื่องจากผู้คนชาวเมืองดั้งเดิมได้หนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ในป่าในดอย ทิ้งบ้านเรือนให้รกร้างว่างเปล่า การที่จะฟี้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้ยิ่งใหญ่คืนมา คงจะใช้เวลานาน

จนถึงระหว่างปี พ.ศ.2342-2344 ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละ จึงรวบรวมไพร่พลขึ้นไปตีเมืองในเชียงตุง และข้ามแม่น้ำคงไปตีเอาเมืองต่างๆ ขึ้นไปจนถึงเมืองเชียงรุ่ง กวาดต้อนชาวไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ทั้งเจ้านายและชาวไพร่ลงมาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่

โดยนำเอาช่างฝีมือมาตั้งชุมชนบ้านเรือนนอกกำแพงเมืองชั้นใน ในกำแพงเมืองชั้นนอก เช่น ช่างทำเครื่องเขิน ช่างทำเครื่องเงิน ช่างหล่อ (หล่อพระพุทธรูป) ช่างฆ้อง ช่างแต้ม เป็นต้น

นอกจากนั้น นำผู้คนที่กวาดต้อนมาไปตั้งบ้านเรือนนอกเมืองห่างออกไป ซึ่งยังคงมีชื่อเรียกตามบ้านเมืองที่อพยพมา เช่น เมืองวะ เมืองเลน เมืองลวง เมืองก๋าย เชียงขาง เป็นต้น

โดยกลุ่มทำเครื่องเงิน ตั้งรกรากใกล้กับกลุ่มทำเครื่องเขิน (ครัวฮักครัวหาง) บริเวณวัดนันทาราม วัดหมื่นสาร วัดศรีสุพรรณ

เรียกตามหมู่บ้านว่า “บ้านงัวลาย” (วัวลาย)

 

ในอดีตชาวบ้านวัวลายส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เมื่อหมดช่วงฤดูทำนา มักจะทำเครื่องเงินเป็นอาชีพเสริม โดยเกือบทุกหลังคาเรือนมีโรงงานขนาดเล็กที่เรียกว่า “เตาเส่า” สำหรับทำเครื่องเงิน สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำ ผู้ชายเป็นผู้ขึ้นรูป ผู้หญิงเป็นผู้สลักลาย ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

ระยะแรกผลิตภัณฑ์จากเครื่องเงินทำขึ้นเพื่อความต้องการของเจ้านาย ต่อมามีการขยายตัวทางการค้า เครื่องเงินจึงเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน โดยมีรูปแบบเป็นภาชนะ เช่น สลุง พาน ถาด เชี่ยนหมาก ขันน้ำใบเล็ก เป็นเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ กำไล เข็มขัด ต่างหู โดยออกแบบตามศิลปะล้านนา เช่น ลายดอกฝ้าย ลายนักษัตร แม้ว่าส่วนหนึ่งก็ยังคงรักษาวิธีการที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ต้องปรับเพื่อให้ตรงกับความนิยมของท้องตลาดมากขึ้น

แต่เครื่องเงินกลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเงินเกรดดี เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่าเครื่องเงินแท้ๆ

ปัจจุบันราคาของแร่เงินมีราคาสูงขึ้นตามราคาทองคำ ทำให้เครื่องเงินมีราคาสูง จึงมีการนำแร่ชนิดอื่นๆ มาทำเป็นเครื่องใช้ต่างๆ แทน ซึ่งมีราคาถูก เก็บรักษาและทำความสะอาดง่าย

อีกทั้งขาดผู้สืบทอดวิชาการทำเครื่องเงิน และเนื่องจากช่างที่มีอยู่เดิมเลิกอาชีพนี้ การทำเครื่องเงินจึงคงเหลืออยู่ไม่มากนัก จะเห็นได้จากร้านค้าเครื่องเงินบ้านวัวลายทยอยปิดไป กลายเป็นการผลิตแบบดุนโลหะ เช่น กรอบรูป หรือเป็นของใช้กระจุกกระจิกแทน

อย่างไรก็ตาม เกือบทุกครอบครัวล้านนายังคงมี “ครัวเงิน” หรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงิน เช่น สลุง ขัน พาน เพื่อนำไปใช้ในประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม เช่น การทำบุญประจำปี ประเพณีปีใหม่เมือง ที่ยังคงเป็นที่นิยมของล้านนาที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาช้านาน

คัวเงินของงัวลาย

แปลว่า เครื่องเงินผลิตที่ย่านงัวลาย