กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “ฟีโอน่า ที่รัก”

www.facebook.com/eightandahalfsentences


“จระเข้” กับ “สิงโต” สู้กัน

คุณว่า ใครจะ “ชนะ”

ปี2004 ณ สำนักงานแห่งหนึ่ง ในเมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา

“อเมซอน (Amazon)” บริษัท อีคอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่ ระดับโลก

ขายทุกอย่าง ตั้งแต่ หนังสือ ของเล่น หูฟัง ลำโพง ทีวี ไปจนถึงเครื่องประดับ

ถ้าเป็นภาษาไทยก็คงจะเรียกกันว่า “ไม้จิ้มฟัน” ยัน “เรือรบ”

เจฟ เบซอส (Jeff Besoz) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูง ได้ทำการ “ตัดสินใจ” ครั้งใหญ่

อนุมัติโครงการลับสุดยอดของบริษัทภายใต้ชื่อ “Lab126”

มีเป้าหมายเพื่อ “ปฏิวัติ” ธุรกิจการขายหนังสือออนไลน์ของตัวเอง

เขามอบหมายลูกน้องที่เขาเชื่อมือมากที่สุด “สตีฟ เคสเซล”

โดยโยนเงินให้หนึ่งก้อน แล้วส่งไป “กบดาน” ที่ซิลิคอน วอลเลย์ (Silicon Valley) เป็นเวลาหลายปี

หาคนทำงานใหม่ สร้างระบบการทำงานใหม่ ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ

แน่นอนว่า เป็นงานที่ไม่ง่าย และ “ท้าทาย” ความสามารถของเคสเซล เป็นอย่างมาก

เคสเซล ถาม เบซอส ก่อนจะบินไปเริ่มงาน

“คุณคิดว่างานนี้จะต้องเสร็จเมื่อไร”

เบซอสตอบ “เราเริ่มช้าแล้ว คุณต้องรีบที่สุด”

เรียกได้ว่า “แรงกดดัน” มหาศาลจากหัวหน้าจอมโหด

เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “ฟีโอน่า” เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า “อีบุ๊ก (e-book)”

ออกแบบมาเพื่อให้นักอ่านรู้สึกเหมือนได้ “อ่านหนังสือ” จริงๆ โดยสามารถถือด้วย “มือข้างเดียว”

ภายหลังอุปกรณ์นี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “คินเดิล (Kindle)” ที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้

เจฟ เบซอส เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “ดิ เอฟเวอรี่ธิงสโตร์ (The Everything Store)” เขียนโดย “แบรด สโตน”

ว่า เขาชื่นชอบการอ่านหนังสือมาโดยตลอด และหนึ่งในหนังสือธุรกิจที่เขานำมาใช้ในการสร้าง “อเมซอน” มีชื่อว่า

“ดิ อินโนเวเตอร์ส ไดเลมม่า (The Innovator”s Dilemma) ของ “เคลตัน คริสเต็นเซน”

ศาสตราจารย์ที่โด่งดังด้านการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย “ฮาร์วาร์ด”

เคลตัน บอกว่า องค์กรนั้นประกอบด้วยสอง “ส่วนผสม” หลัก

หนึ่ง คือ “คน”

สอง คือ “วิธีการทำงาน”

ถ้าเราให้กลุ่มคนที่เก่ง มีพรสวรรค์ กลุ่มหนึ่ง

ไปทำงานในองค์กรสองแห่ง ที่มี “วิธีการทำงาน” ไม่เหมือนกัน

รับรองได้เลยว่า จะได้ “งาน” ออกมาไม่เหมือนกัน

ลองจินตนาการดูนะครับ

ถ้าเราย้ายพนักงานของบริษัท “กูเกิล” ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆ ต้องการอิสรภาพในการทำงาน

เข้าไปไว้ในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งของบ้านเรา ที่ยังต้อง “ตอกบัตร” กันอยู่

ก็คง “ฟีบ” ไม่ต่างจาก “ลูกโป่งแฟบๆ” ตกอยู่ที่พื้น

เช่นเดียวกัน “ข้าราชการ” ของไทย ที่หัวหน้าคอยบอก คอยสั่ง อยู่ตลอด

ชื่นชอบการนั่งคุย ปะทะวาทะกัน ประชุมอยู่นั่น ทั้งวัน ทั้งคืน ก็ยัง “ตัดสินใจ” อะไรไม่ค่อยจะได้

ย้ายพวกเขาให้ไปทำงานที่บริษัท “กูเกิล” ที่ไม่มีหัวหน้ามาคอยบอกว่า “คุณควรจะทำอะไร”

ให้โจทย์ไปกว้างๆ คุณไปคิดหาทางเอาเอง ไม่ต้องมาคุยกันบ่อยๆ

ก็อาจจะมีอาการ “สติแตก” กันบ้าง ไม่มากก็น้อย

(อ้าว ไม่ประชุม แล้วจะมาออฟฟิศทำไมล่ะ)

เรียกได้ว่า “คน” และ “วิธีการทำงาน” ต้องไปด้วยกัน

ที่น่าสนใจก็คือ บริษัทใหญ่ๆ หลายๆ แห่งในประเทศไทย ที่ต้องการจะ “ปรับตัว” สร้างนวัตกรรม

แม้ว่าจะมี “คนเก่งๆ” เรียนสูง จบเมืองนอกเมืองนา เดินชนกันอยู่เต็มบริษัท

กลับมี “วิธีการทำงาน” แบบเก่าๆ ที่เน้นเพียง “ประสิทธิภาพ”

ทำให้ดี ทำให้ไว ตะบี้ตะบัน ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ กันอย่างเข้มข้น ราวกับว่า บริษัทยังอยู่ในยุค “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” หลังสงครามโลก

หาใช่ “ยุคแห่งนวัตกรรม” อย่างที่หลายๆ องค์กรป่าวประกาศว่าจะเอาจริงเอาจัง

ทำให้ “สมองซีกขวา” ขององค์กร “พิการ” ไปอยู่ทุกวี่ทุกวัน โดยที่ผู้บริหารอาจจะยังไม่รู้ตัว

อย่างที่เขาว่า ใน “สุภาษิตไทย” ครับ

“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”

อะไรที่เราใช้กันมานาน เราก็จะเริ่มคุ้นชิน

ถ้ามีใครไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คนเขาทำๆ กันมา จนไม่ต้องปรับตัว ไม่ต้องคิดกันแล้ว ก็อาจจะมี “แรงต่อต้าน” ได้

หลายๆ ครั้ง “ของเก่า” มันก็แก้ไขยาก

“สร้างใหม่” ง่ายกว่า

การ “ตั้งองค์กรใหม่” จึงเป็นหนึ่งในทางเลือก ที่จะสร้าง “นวัตกรรม” ให้เกิดขึ้นได้ อีกครั้งหนึ่ง

รู้อย่างนี้งี้ เจฟ เบซอส ก็ไม่รอช้า เลือกที่จะ “ตั้งองค์กรใหม่” ในที่ใหม่ พร้อมใส่คนใหม่ๆ เข้าไปเต็มที่ พร้อม “อิสรภาพ”

ตั้ง “โจทย์ใหญ่” กำหนด “เวลา”

แต่ให้อิสระใน “วิธีการ”

ผลลัพธ์คือ เจ้าเครื่อง “คินเดิล” ที่เราท่านใช้กันอยู่ในทุกวันนี้

ผมได้มีโอกาสให้คำปรึกษาผู้บริหารหลายๆ ท่าน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เคยได้ยินผู้บริหารหลายๆ ท่าน แอบบ่นๆ เวลาเข้า “ซื้อกิจการ” ของบริษัทอื่น หรือที่เรียกว่า M&A ว่าจะ “ควบรวม” ให้มี “วัฒนธรรม” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร

ผมก็มักจะเล่าเรื่องของบริษัท “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ให้ฟังครับ

พูดถึงบริษัทนี้ หลายท่านคงจะนึกถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กๆ เช่น แป้งเด็ก แชมพู เป็นต้น

ถูกครับ แต่มีมากกว่านั้นมาก

น้ำยาบ้วนปาก “ลิสเตอรีน” ปลาสเตอร์ปิดแผล “แบนด์เอด” ยาแก้ปวดหัว “ไทลีนอล”

ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทแห่งนี้ทั้งสิ้น

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เติบโตมาได้ด้วยการ “ซื้อกิจการ”

ปัจจุบัน มีบริษัทเล็กๆ กว่า 200 ที่ถูกซื้อเข้ามา และสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็น “นวัตกรรม” มากมาย

รายได้รวมกว่า “ล้านล้านบาท”

ที่น่าสนใจคือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ไม่ได้ “ยัดเยียด” วัฒนธรรมของตัวเองให้กับ “บริษัทลูก” ที่ซื้อมา

เขาเชื่อว่า ถ้าบริษัทที่ซื้อมามีศักยภาพ ก็เป็นเพราะบริษัทนั้นๆ มี “ระบบการทำงาน” ที่เข้ากับ “คน” ของเขาอยู่แล้ว

สิ่งที่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ทำก็คือ “สนับสนุน” ให้บริษัทลูกเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มที่เท่านั้น

ถ้าต้องการ “เงิน” ก็ให้ “เงิน” ถ้าขาดคน ก็หา “คน” ให้ ขาดอะไร ก็เพิ่มเติมกันไป

ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน “วิธีการทำงาน”

ไม่จำเป็นต้อง “ครอบ” หรือ “ควบรวม”

เพราะฉะนั้น คำถามที่ผู้บริหารมักจะมีว่า “จะสร้างวัฒนธรรมร่วม” ได้อย่างไรนั้น

อาจจะต้องมีถามก่อนว่า “มันจำเป็นต้องทำอย่างนั้น” หรือเปล่า ตั้งแต่แรก

หลายๆ ครั้ง “การซื้อกิจการ” ใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดในองค์กร “เก่าๆ” นั้น “ล้มเหลว”

ก็เป็นเพราะ ยัดเยียด “วิธีการทำงานเก่าๆ” ให้กับ “ความคิดใหม่ๆ” ต่างหาก

กลับมาที่ “ประเทศไทย” ที่รักยิ่ง

ถ้านึกถึงบริษัทหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้าง “นวัตกรรม”

ผมเชื่อว่า ชื่อหนึ่งที่คุณนึกถึงตอนนี้คือบริษัท “ปูนซิเมนต์ไทย” หรือ “เอสซีจี (SCG)”

SCG ไม่ได้ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเหมือน “อเมซอน” แต่ก็นับว่า ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว

คงต้องยอมรับว่า อดีตเบอร์หนึ่ง คุณกานต์ ตระกูลฮุน ใช้เวลากว่า “สิบปี” ที่อยู่ในตำแหน่งซีอีโอ

สนับสนุนพนักงานให้ “กล้าคิด กล้าทำ” กันอย่างเต็มที่

แม้ใช้เวลาอยู่บ้าง แต่ก็เริ่ม “ออกดอกออกผล”

เรียกได้ว่า “ผู้นำ” เป็นส่วนสำคัญมากทีเดียว

เมื่อปีที่แล้ว ยักษ์ใหญ่สีม่วงแห่งวงการธนาคาร ก็ประกาศจะเอาจริงเอาจังด้าน “นวัตกรรม” กับเขามั่ง

เราได้เห็นธนาคารสีม่วง “ริเริ่ม” ตั้ง “บริษัทลูกแห่งใหม่” มาดูแลด้าน “ธุรกิจดิจิตอล”

ได้ข่าวว่า หาคนพันธุ์ใหม่ ระบบวิธีการทำงานแบบใหม่ สถานที่แห่งใหม่ มีเงินทุนให้ไปใช้กันพอประมาณทีเดียว

ด้วยความเชื่อที่ว่า “สภาพแวดล้อม” มีความสำคัญ

จะเอาระบบเก่าๆ คร่ำครึอย่างระบบบริหารธนาคาร มาใช้กับ “คนพันธุ์ดิจิตอล” ก็คงจะไม่เหมาะ

จะออกหัว หรือ ออกก้อย ผมคิดว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งครับ

กลับมาที่คำถามข้างต้น

“จระเข้” กับ “สิงโต” สู้กัน ใครจะชนะ

……………

คงจะต้องถามกลับก่อนว่า “สู้กันบนบกหรือในน้ำ”

“ถูกคน” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ถูกที่” ด้วย