อัศจรรย์ ยิ่งนัก “เสถียร โพธินันทะ” l ดังได้สดับมา

หนังสือ “ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา” ฉบับมุขปาฐะ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2514

สะท้อนสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง มหามกุฏราชวิทยาลัย กับ เสถียร โพธินันทะ

เสถียร โพธินันทะ เป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชา “ประวัติพระพุทธศาสนา” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 จนกระทั่งมรณกรรมในปี พ.ศ.2509 บรรดาศิษยานุศิษย์ที่เคยเรียน สรุปการสอนของ เสถียร โพธินันทะ ออกมาตรงกันว่า

“เป็นขวัญใจของนักศึกษา รู้จริงและสอนจริง ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก”

ต่อมาในปี พ.ศ.2514 พระเทพกวี (ประยูร สังตังกุโร) เลขาธิการสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย แจ้งในคำปรารภว่า

หนังสือนี้ นักศึกษาคือ คุณวิจิตร เกิดวิสิษฐ์ ศ.บ. M.A. (พระมหาวิจิตร จันทปัจโชโต) ได้รวบรวมและสอบทานจากคำบรรยายวิชานี้ที่ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้บรรยายด้วยปากเปล่าและนักศึกษาได้จดไว้

“การบรรยายของอาจารย์เสถียรนั้นไม่มีต้นฉบับ ไม่มีการบันทึกการสอน ไม่มีอะไรทั้งนั้นในมือ มีแต่บันทึกที่อยู่ในสมอง”

ขอให้อ่านจาก “บันทึกของผู้รวบรวมแลสอบทาน”

คําว่า “มุขปาฐะ” นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ 2 นัยคือ ปากพูดและต่อปากกันมา

“ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา” ฉบับนี้ตรงกับนัยต้น

ผู้บรรยายคือ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ บรรยายด้วยปากเปล่าล้วนๆ โดยตลอด “ไม่มีกระดาษบันทึกในมือแต่ชิ้นเดียว”

แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพแห่งความจำอันเยี่ยมยอด

วิชา “ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา” เดิมเป็นหลักสูตรการศึกษา 3 ปี คือ ในชั้นเตรียมศาสนศาสตร์ปีที่ 1-2 และชั้นปริญญาตรีศาสนศาสตร์ปีที่ 1

แต่ละปีที่ผ่านไปนักศึกษาจะพบการค้นคว้าอย่างใหม่ๆ อย่างกว้างขวางของอาจารย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแต่ละรุ่นจะพบกับการบรรยายที่พิสดารและตัดย่อในบางเรื่องแตกต่างกันไปตามโอกาสของการบรรยายที่มีอยู่ตามหลักสูตร

บรรยากาศการบรรยายของอาจารย์นั้นมีชีวิตชีวากระปรี้กระเปร่าตลอดเวลา

เมื่อถึงกำหนดชั่วโมงการบรรยาย อาจารย์จะเข้าห้องตรงเวลาพอดี หมดเวลาก็ออกจากห้องทันที และในชั่วโมงวันต่อมา เว้นระยะจะเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ตาม อาจารย์ไม่เคยถามว่าถึงไหน แต่จะบอกให้ “ย่อหน้า” และให้จดบันทึกติดต่อกันสนิทพอดีกับครั้งที่แล้ว

และสิ่งที่บรรยายปลีกย่อยเป็นเรื่องในอดีตและต่างแดน ก็แจ่มแจ้งดุจว่าได้พบเห็นหรือได้เคยเกิดในสมัยนั้นๆ

ได้เคยถามอาจารย์ว่า “อาจารย์มีวิธีอย่างไร ทำไมอาจารย์จึงจำได้แม่นยำนัก”

คำตอบจากอาจารย์ก็คือ

“ฉันทะครับ”

มีอยู่ 2 อย่างที่ผมจำได้แม่นยำที่สุด คือ ประวัติศาสตร์ และ พระไตรปิฎก

เวลาอ่านประวัติศาสตร์ผมเห็นภาพเจิดจ้า ถึงตอนรบกันผมก็เห็นเชิงเทิน เห็นปราการ ป้อมค่าย เห็นอาวุธ ดาบ โล่ กระทบกัน ฯลฯ

เวลาผมอ่านพระสูตร

ผมเห็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งด้วยพระอาการอย่างไร และทรงเทศนาแก่พระสาวกด้วยลีลาอย่างไร และพระสงฆ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยลักษณาการอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นมโนภาพเจิดจ้าที่สุด ประทับใจผมเหลือเกิน ทำให้ไม่ลืม

ส่วนชื่อบุคคลทั่วไปผมจำไม่แม่นเพราะ “ไม่มีฉันทะครับ”

อาจารย์วิจิตร เกิดวิสิษฐ์ ยืนยันว่า ความทรงจำของอาจารย์เสถียรเป็นที่อัศจรรย์เลื่องลือยิ่ง อาจารย์เรียนภาษาจีน 3 ปี อ่านพระไตรปิฎกภาษาจีนได้ ถามพระไตรปิฎกบาลี-อรรถกถาฎีกา ตอบได้ฉับพลันหมด

ทราบว่าอาจารย์เรียนภาษาบาลีเหมือนกัน

อาจารย์ฟังปาฐกถา เดินไปเดินมาอยู่นอกห้องประชุม พอเข้าสอนนำมากล่าววิจารณ์ถ้อยคำเหมือนผู้ปาฐก ไม่มีตกหล่น สมองเหมือนเทปจริงๆ

จึงน่า “อัศจรรย์” อย่างยิ่ง จึงน่า “อัศจรรย์” ยิ่งนัก