ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ของไทยเป็นคู่กษัตริย์และพระราชินีที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก
ประชาชนที่ไม่เคยทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทก็จะเห็นแต่ภาพยนตร์ส่วนพระองค์และภาพยนตร์ข่าวต่างๆ บ้างก็ได้เข้าชมโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการพระราชดำริหลายๆ โครงการ
ในงานนิทรรศการ จากขุนเขา สู่ศิลปาชีพ Crafts from the Hands of the Hills To the Hands of The Queen ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ผ่านฟ้า ซึ่งจะแสดงต่อจากนี้ไปอีกสองเดือน เป็นรูปแบบใหม่ของการที่ประชาชนคนไทยจะได้รู้จักกับงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เกี่ยวกับงานฝีมือของชาวเขา
ความพิเศษของงานนี้นอกจากการจัดรูปแบบที่ทำได้สวยงามมีรสนิยมแล้ว ยังอยู่ที่เป็นงานที่กลั่นจากใจ กลั่นจากความคิด และกลั่นจากฝีมือของข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด ผู้ตามเสด็จไปทรงงานในพื้นที่ต่างๆ
ผู้จัดงานนำเสนอมิติต่างๆ ได้ลึกซึ้งและทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความใกล้ชิด สามารถจินตนาการเห็นภาพเหตุการณ์ที่พระองค์ท่านทรงงาน
จะขอยกตัวอย่างสองสามเรื่อง
อย่างแรกคือ การจำลองภาพโต๊ะทรงงานตรงกลางห้องจัดนิทรรศการ ซึ่งเป็นโต๊ะเตี้ยสำหรับประทับนั่งกับพื้น มีผลงานผ้าปักชาวเขาลวดลายต่างๆ วางเรียงรายโดยรอบ
ในฉากเหตุการณ์จริง จากคำบอกเล่าของผู้ตามเสด็จ สมเด็จฯ จะประทับนั่งอยู่คราวละนานหลายชั่วโมงให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงถามถึงงานและความเป็นอยู่
ในงานนี้ผู้เขียนได้พบกับชาวเขาตัวเป็นๆ ที่มาแสดงงานให้ดู ถามเขาว่าเคยเข้าเฝ้าฯ ไหม เขาบอกได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดทีเดียว
ที่พิเศษมากและทำให้ผู้เขียนตื่นเต้นมากคือการนำตัวอย่างบันทึกที่เขียนด้วยลายพระหัตถ์สดๆ เกี่ยวกับผู้เข้าเฝ้าฯ แต่ละคนมาแสดงไว้ ที่ทำให้ผู้เขียนคงจะต้องไปดูงานนิทรรศการซ้ำอีกหลายรอบ เพื่ออ่านลายพระหัตถ์เหล่านี้
จะขอยกตัวอย่างลายพระหัตถ์บนรายงานชิ้นหนึ่งมีดังนี้ “๒๘ มีนาคม ๓๙ ต้องเข้าผ่าตัดใหม่ที่เชียงใหม่ ช่วยเหลือ ติดตามด่วน” ข้อความนี้อยู่ด้านบนขวา ส่วนด้านล่างลายพระหัตถ์เขียนว่า “เป็นลิ้นหัวใจรั่ว ยังมีเสียง ฟังได้ชัด แม่บอกว่าผ่าหัวใจแล้ว ที่ ร.พ.เชียงใหม่ แต่ยังรั่วอยู่” และถัดลงมา “รอยแผลผ่าตัดประหลาดมาก ผิดลักษณะของการผ่าตัดหัวใจ”
เพียงเท่านี้ก็อ่านแล้วขนลุก แสดงถึงความเอาพระทัยใส่ และการทรงงานอย่างที่เรียกว่า Hands On เห็นภาพว่าท่านทรงงานหนักมาก คล้ายๆ หมอตรวจแล้วให้ข้าราชบริพารไปติดตามต่อ
ผลงานของชาวเขา 7 เผ่า ที่นำมาแสดงน่าชื่นชมในความหลากหลาย สีสัน ลวดลาย ความละเอียดประณีตไม่ซ้ำแบบกัน เบื้องหลังงานเหล่านี้คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่องานที่สร้างสรรค์ถูกนำออกมาและมูลนิธิศิลปาชีพหาช่องทางจำหน่ายให้
และถ้าหากมองลึกลงไป เราจะเห็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ ท่านที่ดึงเอาศักยภาพของมนุษย์และความเป็นปัจเจกออกมาด้วยพระเมตตา ทรงถามไถ่ทุกข์สุข ทรงดูแลราษฎรให้ปลอดจากปัญหาความป่วยไข้และความไม่พร้อมทางร่างกาย เพื่อให้มีจิตใจที่พร้อมในการทำงานสร้างสรรค์
สถานที่จัดแสดงสวยงามทันสมัย ไม่แพ้ต่างประเทศ ถ้าใครยังไม่เคยไปเยี่ยมเยือนหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ก็น่าจะถือโอกาสไปทำความรู้จักเสียคราวนี้
ผู้กำกับศิลป์ทำงานได้อย่างงดงาม ศิลปะการจัด ตกแต่งมีรสนิยม ดูง่ายสบายตา เป็นการผสมผสานระหว่างงานฝีมือ และมนุษย์ตัวเป็นๆ ที่มานั่งทำงานให้เราได้พูดคุย สามารถใช้เวลาเพลิดเพลินได้ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง จากการเดินชมงานทั้ง 5 ชั้น ผู้สูงอายุก็มีเก้าอี้เข็นอำนวยความสะดวกด้วยนะคะ
ชาวเขาผู้เป็นเจ้าของงานที่มาปรากฏตัวในงานส่วนใหญ่ไม่เคยเข้ากรุงเทพฯ ผู้เขียนรู้สึกเบิกบานที่ได้นั่งคุยด้วย คุยไปคุยมาขอนามบัตรก็ควักออกมา บอกอายๆ ว่าไม่สวย ที่ไหนได้ทำดีทีเดียว
ชาวเขาคนที่ว่านี้นั่งปั่นด้าย มีตัวอย่างผ้าที่ทำเสร็จแล้ววางอยู่ เธอบอกว่าผลิตออกมาฝรั่งกับญี่ปุ่นก็มาถึงบ้าน เหมาซื้อไปหมดในราคาเมตรละ 1,200 ผู้เขียนยุด้วยความคะนองให้ขึ้นราคา แต่ก็ดีใจแทนที่เขาสามารถหารายได้จากงานที่ทำโดยที่ไม่ต้องเข้ากรุงมารับจ้าง
พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกิดจากสายพระเนตรที่ยาวไกล ทำให้ประชาชนไม่ต้องทิ้งถิ่น ทิ้งครอบครัว สามารถมีความสุขกับงานที่เป็นงานศิลปะที่ตนเองมีความสุขใจและภูมิใจ และมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น
งานนี้จะมีไปอีก 2 เดือน เปิดทุกวันรวมทั้งเสาร์ อาทิตย์ เว้นวันพุธวันเดียว ค่าเข้าชมเพียง 50 บาท
ถ้าหากจะมีจุดที่ขอเสนอแนะ ก็คงเป็นเรื่อง การนำชมเป็นหมู่คณะ โดยมีผู้นำชมในจุดต่างๆ บรรยายเรื่องการทรงงานของพระองค์ท่านและการสร้างสรรค์ของชาวเขา แบบที่ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังจากข้าราชบริพารผู้จัดงานซึ่งต้องขออภัยไว้ตรงนี้ที่ไม่ได้ถามนามไว้