เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : วิกฤตซ้อนวิกฤต

ขอบคุณภาพจาก ข่าวสด

 

วิกฤตซ้อนวิกฤต

 

สิบกว่าปีที่ผ่านมาจีนประกาศนโยบายที่จีนเรียกว่า “เข็มมุ่ง” สามประการ มี

หนึ่ง ปลดปล่อยพลังการผลิต และพัฒนาพลังการผลิต

สอง ทำลายการกดขี่ขูดรีด

สาม ลดช่องว่างความรวยความจน บรรลุสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน

เหมือนว่าเราจะนำมาแปรเป็นหลักปฏิรูปประเทศไทยอยู่ด้วยสองประการด้วยประโยคที่ว่า

ลดความเหลื่อมล้ำ

สร้างความเป็นธรรม

ดูจะยังคงกล่าวย้ำกันอยู่เสมอแม้ในยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศที่ทำท่าจะกลายเป็น “ปฏิลูบ-ปฏิคลำ” กันอยู่นี้

 

ประโยคว่า “ปลดปล่อยพลังการผลิต” นี้ลึกซึ้งนัก ใจความคือการ “พัฒนาคุณภาพคน” นั่นเอง ในสมัยสภา สปช.นั้นให้คุณค่าคำว่า “พลเมือง” คือพลังของสังคม ถึงกับส่งเสริมให้มีสมัชชาประชาชนด้วยซ้ำ

จากนั้นคำนี้ก็เหมือนจะค่อยเลือนหายไปพร้อมกับการล่มสลายของสภาปฏิรูป

ที่จริงคำ “ปลดปล่อยพลังการผลิต” ของนโยบาย หรือ “เข็มมุ่ง” จีนนี้กินความลึกซึ้งนัก

คือเขาเชื่อว่าคนทุกคนต่างล้วนมีความสามารถไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความสามารถที่ต่างมีนี่แหละล้วนเป็น “พลังการผลิต” ที่ก่อเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี ความสามารถก็คือ “ศักยภาพ” ของแต่ละคนนี้อาจไม่ปรากฏหรือไม่อาจประจักษ์ได้ด้วยเหตุใดก็สุดแท้ อุปสรรคนี้คือ “พันธนาการ” ที่ต้อง “ปลดปล่อย” ออกให้หมดไป

กระทั่ง “ความไม่รู้” นี่ก็เป็น “พันธนาการ” ที่ต้องปลดปล่อย หรือปลดเปลื้อง หรือขจัดให้หมดไปด้วยการทำให้รู้ เช่น ด้วยการศึกษา เป็นต้น

เมื่อปลดปล่อยพลังการผลิตจนคนได้ประจักษ์ค่าของตนอย่างแท้จริงแล้ว ก็ต้องพัฒนาความสามารถหรือศักยภาพที่มีอยู่นี้ให้เป็น “พลัง” เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมต่อไป ซึ่งนี่คือการ

พัฒนาพลังการผลิต

สมประโยคสมบูรณ์ดังกล่าวคือ

ปลดปล่อยพลังการผลิต และพัฒนาพลังการผลิต

ถึงวันนี้จีนก้าวหน้าไปแล้วอย่างไรและกำลังปรับแปรแก้ไขอะไรตามเข็มมุ่งสามประการได้จริงอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องน่าจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

ทีนี้หันมาดูไทยเราบ้าง

เวลานี้ไทยเรากำลังเผชิญวิกฤตห้าประการคือ

หนึ่ง วิกฤตโคหวิด (ขอเขียนโคหวิดตามเสียงพูด)

สอง วิกฤตเศรษฐกิจ

สาม วิกฤตการเมืองในสภา

สี่ วิกฤตการเมืองนอกสภา

ห้า วิกฤตความขัดแย้งของสองมหาอำนาจในโลก

ทั้งห้าประการนี้ เป็นวิกฤตซับซ้อนอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นสภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” จนกลายเป็น “พันธนาการ” ที่ดูเหมือนยากจะ “ปลดปล่อย” ให้สังคมไทยเราได้คืนสู่ “พลังการผลิต” แท้จริง

ซึ่งก็ดูเหมือนว่าสังคมไทยเราจะยังไม่เคยมี “พลังการผลิต” ที่แท้จริง คือที่เป็นพลังไทยในลักษณะ “พอเพียง” กันจริงๆ เลย

เรายังลดความเหลื่อมล้ำ และหาความเป็นธรรมไม่ได้ในทุกวิกฤต เช่น ช่องว่างระหว่างความมีความจนที่นับวันจะทวีระยะห่างมากขึ้น เรายังมีสภาพกดขี่ขูดรีดที่สลับซับซ้อน เข้าทำนองที่ว่า

มันโกงซับโกงซ้อนโกงซ่อนเงื่อน

โกงจนเหมือนไม่โกงก็โกงได้

และทำนองที่ว่า

สังคมเลวไม่ใช่เพราะมีคนเลวมากกว่าคนดี หากเป็นเพราะคนในสังคมไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรเลวต่างหาก

นี่ก็เกินกว่าที่จะ “ปลดปล่อย” พลังของ “ความไม่รู้” ซึ่งเป็นพันธนาการใหญ่ของ “พลังการผลิต” ในสังคมไทยออกไปให้ได้อยู่แล้ว

ยิ่งโลกเจริญรุดหน้าด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ก็ยิ่งดูจะพูดกันไม่รู้เรื่องมากขึ้น เข้าใจกันยากขึ้น

 

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เข้าใจกันยากขึ้น หนึ่งนั้นคือปัญหาสื่อภาษา เช่น เราใช้ภาษาต่างชาติโดยเฉพาะภาษาฝรั่งอังกฤษดังยกเป็นภาษาสากลทันโลกทันสมัยอยู่นี้

ยิ่งวิกฤตโคหวิด ยิ่งใช้ศัพท์แสงทางวิชาการตามความจำเป็นของผู้รู้จนไม่อาจแปลหรือหาคำไทยมาถ่ายทอดได้ทัน คนไม่รู้ความหมายจึงจำต้องพลอยรู้ความไปตามๆ กัน รู้บ้างไม่รู้บ้าง พานเหมาเอาเป็นว่ารู้ เหมือน “ตกกระไดพลอยโจน” นี่ก็มีอยู่เป็นอันมาก

เอาง่ายๆ (ซึ่งที่จริงยาก) อย่างคำ “โซเชี่ยล ดิสแตนซิ่ง” ใช้กันจนคล่องปาก รู้มั่งไม่รู้มั่ง จนเหมือนจะรู้แล้ว ทั้งที่ยังไม่รู้เลย…มีจริงนะเอ้า

นี้คือวิกฤตวัฒนธรรมสำคัญทางภาษาที่เป็นรากฐานของสังคม

สังคมที่มีฐานมั่นคงจะต้องมีรากแข็งแรง หนึ่งนั้นคือความเข้าใจร่วมกัน สิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมที่สำคัญก็คือภาษา

ดังนั้น ภาษาจึงเป็น “รากร่วม” สำคัญยิ่ง

รากร่วมแข็งแรงจึงจะสร้าง “พื้นฐาน” ให้แข็งแรงได้

สองคำนี้จึงสำคัญ คือคำว่า “รากฐาน” กับ “พื้นฐาน”

พื้นฐานแข็งแรงก็จะเป็นความมั่นคงสร้างสรรค์สังคมให้เจริญรุ่งเรือง เกิดอารยธรรม เป็น “ภูมิฐาน” สมบูรณ์พูนสุข

“บรรลุสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน”

ได้จริงดังตัวอย่าง “เข็มมุ่ง” สามประการนั้น

ปัญหาของเราคือทำอย่างไรเราจึงจะใช้วิทยาการสมัยใหม่วันนี้ให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันถึงความสำคัญที่สัมพันธ์สามส่วนอยู่นี้คือ รากฐาน พื้นฐาน ภูมิฐาน

มิฉะนั้นเราก็ยังจะตกเป็นเหยื่อของยุควิกฤตซ้อนวิกฤตอยู่อย่างนี้คือ

ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา