วิกฤติศตวรรษที่21 [อนุช อาภาภิรม] : มหาสงครามกับกลุ่ม 20

มหาสงครามเป็นสิ่งเกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจโลกและอำนาจท้องถิ่น นั่นคือเกิดขึ้นภายในกลุ่ม 20 ด้วยกัน

การเข้าใจสถานการณ์มหาสงครามว่าเป็นอย่างไร ไปทางไหน อยู่ในขั้นใด จึงสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการการศึกษาความเป็นไปและความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม 20 นี้เอง

ปรากฏการณ์โลกหลายขั้วอำนาจสะท้อนชัดเจนในช่วงการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2017 ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจุดหนึ่ง

โดยถือได้ว่าหลังสงครามเย็นจนถึงการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เป็นช่วงโลกขั้วอำนาจเดียวภายใต้การนำของสหรัฐ

และหลังการประชุมนี้เป็นโลกหลายขั้วอำนาจที่ทั้งขัดแย้งและสร้างสมดุลใหม่

กลุ่ม 20 มองในด้านหนึ่งคือกลุ่ม 7 ขยายวง

กลุ่ม 7 เป็นมหาอำนาจโลกเดิมหรือกลุ่มตลาดเก่า มีสหรัฐเป็นแกน มีการจัดประชุมของรัฐมนตรีคลังและประธานธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น เตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดเพื่อการปรึกษาหารือและจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของโลก

ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ผลอะไรนัก

มาถึงปี 1997 เกิดวิกฤติใหญ่ทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกแล้วลามไปทั่วโลก กลุ่ม 7 ไม่สามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกทีได้ จึงได้ขยายวงไปมีการก่อตั้งกลุ่ม 20 ขึ้นในปี 1999 ซึ่งสหรัฐก็ยังคงมีบทบาทมากอยู่ดี

กลุ่ม 20 ที่ตั้งขึ้นเป็นการยอมรับความสำคัญของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ หรือมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก อย่างเช่น จีน อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย บราซิล แอฟริกาใต้และอาร์เจนตินา เป็นต้น

อนึ่ง มีหลายประเทศที่เข้าเกณฑ์ที่จะอยู่ในกลุ่ม 20 แต่ไม่ได้อยู่ เช่น ประเทศไทยและอิหร่าน

กลุ่ม 20 นี้มีส่วนช่วยแก้ไขวิกฤติการเงินเอเชียครั้งนั้นไปได้แบบเฉพาะหน้า (ไม่ได้แก้ไขทางโครงสร้าง)

เมื่อถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 วิกฤติการเงินลามเข้าสู่ศูนย์กลางสหรัฐเอง

เริ่มจากฟองสบู่ดอตคอมแตก (ปี 2001-2002 ที่เรียกว่าดอตคอมเป็นบริษัทที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นฐานทางธุรกิจ) ตามด้วยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก (ปี 2008 ที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางจนถึงทุกวันนี้) เป็นวิกฤติใหญ่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

กลุ่ม 20 ได้มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองไม่ให้ผลกระทบรุนแรงมากเกินไป

แต่เมื่อนานเข้าเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ฟื้นตัวตามคาด อยู่ในภาวะชะงักงัน เกิดการดิ้นรนหาทางออกใหม่ ก่อความแตกแยกทั้งภายในและระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะในค่ายของสหรัฐ ที่แตกเป็น ก) กลุ่มวงในสหรัฐ ข) กลุ่มสหภาพยุโรปที่เยอรมนี-ฝรั่งเศสขึ้นมาเป็นแกน ค) กลุ่มชายขอบที่ขยายระยะห่างยิ่งขึ้น

การแตกกลุ่มในค่ายสหรัฐ หรือก็คือการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง “ศูนย์กลาง-กึ่งชายขอบ-ชายขอบ” เรื่องเป็นทำนองว่าสหรัฐได้วางตำแหน่งของตนเป็นผู้พิทักษ์กลุ่มทุนโลกที่นำโดยทุนการเงิน

การอยู่ในฐานะตำแหน่งนี้ ทำให้สหรัฐต้องลงทุนมาก โดยเฉพาะการก่อสงครามไปทั่วโลกยาวนานหลายสิบปี รวมทั้งการรักษาเส้นทางส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมายังโลกตะวันตก

ปฏิบัติการเหล่านี้ทำประโยชน์ให้แก่พันธมิตรสหรัฐเป็นอันมาก แต่ว่าไม่ได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายหรือออกแรงเท่าที่ควร

ดังนั้น จึงต้องมาทำข้อตกลงใหม่ทั้งหมด

ทั้งหมดนี้สหรัฐคิดว่าทางฝ่ายกึ่งชายขอบ ได้แก่ สหภาพยุโรปคงจะโอนอ่อนให้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

แต่ผิดคาด สหภาพยุโรปกลับขยับตัวออกห่าง ตอบว่าเรื่องค่าใช้จ่ายและการออกแรงไม่เป็นปัญหา สหภาพยุโรปยังยึดมั่นในการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ

แต่เมื่อสหรัฐอ่อนล้าลง ก็ขอขึ้นมาเป็นศูนย์อำนาจโลกอีกศูนย์ ร่วมกันครองโลก ไม่ใช่เป็นเชิงบริวารสหรัฐเหมือนที่เป็นมา

สำหรับกลุ่มประเทศชายขอบของสหรัฐ มีตั้งแต่กลุ่มอาเซียน กลุ่มอเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออก และหลายประเทศในตะวันออกกลางต่างก็ไปตามทางและกำลังของตน รอดูการตกลงระหว่างศูนย์กลางกับกึ่งชายขอบ

ลำพังความแตกแยกในค่ายสหรัฐก็มีปัญหาความขัดแย้งพื้นฐานแก้ไขได้ยากอยู่แล้ว เช่น ยุโรปต้องพึ่งพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่สหรัฐไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งยังต้องการทำลายอุตสาหกรรมพลังงานรัสเซียเพื่อให้อ่อนแอทางเศรษฐกิจ

หรือประเทศในยุโรปมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐมาก ไม่สามารถขึ้นมาเป็นศูนย์อำนาจเทียบเคียงกับสหรัฐ จำต้องรวมกันเป็นกลุ่มประเทศ

การปฏิบัติทางการเมืองต้องอาศัยการปรึกษาหารือ จะปฏิบัติการโดยลำพังแบบสหรัฐไม่ได้

เมื่อมีอำนาจอีกขั้วหนึ่ง คือ รัสเซีย-จีน ที่ต้องการรักษาความเป็นอิสระของตนตั้งแต่ต้น เรื่องก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก

รัสเซียเคยเป็นอภิมหาอำนาจของโลก ดังนั้น จึงมีพื้นฐานทางจิตใจและทางวัตถุ เช่น ความช่ำชองในงานสายลับ ความกล้าทางการเมืองและคลังอาวุธนิวเคลียร์ ได้ประกาศตัวและเข้าโรมรันกันสหรัฐ-นาโต้-สหภาพยุโรปอย่าง “มาไม้ไหน เอากลับคืนเป็นหลายเท่า”

รัสเซียได้ประกาศ “เขตผลประโยชน์พิเศษ” ของตน (ปี 2008) หมายถึงดินแดนที่เคยอยู่ร่วมเป็นสหภาพโซเวียต ได้แก่ จอร์เจียและยูเครน เป็นต้น ที่มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย และจะป้องกัน “ชีวิตและเกียรติภูมิพลเมืองรัสเซีย ไม่ว่าจะอยู่รวมกันที่ใด”

ต่อมาในปี 2014 ยังได้ก่อตั้ง “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย” มีสมาชิก 5 ประเทศคือ รัสเซีย คาซัคสถาน เบรารุส คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย สร้างเขตเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียว และความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ทั้งมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ยูเรเซียให้มากที่สุด (สหรัฐบ่นว่า มาแบ่งโลกกันอย่างนี้จะเป็นโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร)

ส่วนจีนผู้สงบเสงี่ยม เพิ่งฟื้นจากศตวรรษที่ตะวันตกทำให้อับอาย เมื่อถึงปี 2013 ก็ได้ประกาศว่าต้องการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างมหาอำนาจ โดยมีหลักการสามประการคือ

ก) หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือความขัดแย้งทางทหาร

ข) มีความเคารพกันและกัน ที่สำคัญคือ สหรัฐเคารพผลประโยชน์ใจกลางของจีน ได้แก่ บริเวณที่จีนถือเป็นดินแดนของตนในแปซิฟิกตะวันออก เป็นต้น

และ ค) แสวงหาความร่วมมือแบบ “ชนะ-ชนะ”

นอกจากนี้ จีนยังได้เสนออภิโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งถนน” เป็นเหมือนการปั๊มหัวใจเศรษฐกิจโลก เพื่อให้ร่วมมือกันพัฒนาภูมิภาคยูเรเซีย ทั้งได้เร่งพัฒนากองทัพของตนอย่างรวดเร็ว

และส่งกองกำลังไปยังฐานทัพนอกประเทศครั้งแรกที่นครรัฐจิปูตี บริเวณจะงอยแอฟริกา

การเกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้นของมหาสงคราม

ในระยะหลังมีการกล่าวถึงมหาสงครามหรือสงครามโลกครั้งที่สามกันบ่อยขึ้น

เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อม ชวนให้เข้าใจไปเช่นนั้น

เช่น เกิดสงครามลามระบาด การก่อการร้ายเพิ่มขึ้น ผู้อพยพลี้ภัยหลายล้านคน

การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย-จีนเข้มข้นขึ้น

การปะทะของความขัดแย้งเพิ่มความน่าอันตราย เช่น เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธของตนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันชาติสหรัฐถึงกับทดลองขีปนาวุธข้ามทวีป

วิกฤติเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ การตื่นตัวและการลุกขึ้นสู้ของมวลชนรากหญ้าทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม มหาสงครามไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ จึงควรทำความเข้าใจในประเด็นนี้เล็กน้อย

มหาสงครามเกิดขึ้นได้ยากจากเหตุปัจจัยสำคัญคือ

1) มหาอำนาจไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเพราะว่า

ก) จะเป็นสงครามที่ควบคุมไม่ได้ มหาอำนาจต้องการสงครามที่ควบคุมได้ ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น การบรรลุผลทางการเมือง เปลี่ยนระบบปกครองในประเทศเป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคุมประชาชนของตนให้ยินยอมต่อการที่มีมาตรฐานการครองชีพและสิทธิประชาธิปไตยที่ลดลง เป็นต้น ตัวอย่างสงครามที่ควบคุมได้เช่นสงครามเย็น เพื่อการควบคุมต้องสร้างกลไกและมาตรการบางอย่าง เช่น โทรศัพท์ฮอตไลน์ระหว่างผู้นำ การแจ้งเตือนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากเกินไป เช่น เมื่อสหรัฐจะยิงจรวดโทมาฮอว์กใส่ฐานทัพอากาศที่ซีเรีย ก็ได้แจ้งล่วงหน้าแก่รัสเซียราวสองชั่วโมง

ข) จะหมายถึงสงครามที่ต้องรบในบ้านของตนขณะที่ประเทศมหาอำนาจ (หรือประเทศไหนๆ) ต้องการรบนอกบ้านมากกว่า แต่เมื่อมีอาวุธนำวิถีข้ามทวีปที่แม่นยำ แม้ห้วงอวกาศก็เป็นสมรภูมิได้

ค) สงครามโลกครั้งที่สามจะต่อสู้ด้วยอาวุธทำลายล้างสูง เกิดความเสียหายมากจนกระทั่งไม่มีโลกให้เป็นใหญ่ได้ต่อไป

2) การพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจในกระบวนโลกาภิวัตน์ ในสิ่งที่เรียกว่า “ห่วงโซ่มูลค่าโลก” ซึ่งห่วงโซ่นี้เกิดขึ้นจากกลไกธรรมดาในตลาด ได้แก่ อุปสงค์และอุปทาน โดยเมื่อมีอุปสงค์ระหว่างประเทศมากขึ้นนำไปสู่

ก) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการค้าใหม่ การวิจัยและการพัฒนาทางการตลาด

ข) การแบ่งเขตในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ไทยชำนาญด้านการผลิตอุปกรณ์ยานยนต์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ค) นำไปสู่ยุทธศาสตร์การจัดจ้างภายนอกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ในด้านอุปทานมีการพัฒนาคู่ขนานกันไป ได้แก่

ก) การขยายตัวการค้าสินค้าระหว่างประเทศ

ข) นำไปสู่ความต้องการมาตรการทางสถิติใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ การสร้างและจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ค) การเกิดผลกระทบ ต่อท้องถิ่นหรือพื้นที่จากห่วงโซ่อุปทานโลก

เช่น การสร้างแหล่งอุปทานเป็นซัพพลายเออร์และระบบโลจิสติกส์ ในนี้ เกิดผลกระทบที่เรียกว่า “โรงงานแห่งเอเชีย” ขึ้น (จีนได้สมญาว่าเป็นโรงงานโลก ก็อยู่ในกลุ่มนี้) การค้าโลกเปลี่ยนไป จากการค้าสินค้าไปสู่การค้าชิ้นงานจำเพาะ (ดูรายงานที่ปรุงและบรรณาธิการกิจโดย Hubert Escaith & Satoshi Inomata ชื่อ Trade patterns and global value chains in East Asia: From trade in goods to trade in tasks ใน wto.org ใช้ข้อมูล จนถึงราวปี 2010)

การทำลายห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างรุนแรงด้วยสงคราม เท่ากับทำลายอารยธรรมอุตสาหกรรม และวิถีดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งโลกรวมทั้งผู้ก่อสงครามเอง เพื่อบรรเทาผลกระทบจำต้องการเดินนโยบายชาตินิยมหรือลัทธิปกป้องการค้า ลดความสัมพันธ์กับตลาดโลกและโลกาภิวัตน์ซึ่งต้องใช้เวลา

จากแง่มุมนี้คาดหมายว่าจนถึงปี 2020 ไม่น่าจะเกิดมหาสงคราม (หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณากันใหม่)

อย่างมากเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจดุเดือดขึ้นจนกลายเป็น “สงครามเย็น 2”

เป็นสัญญาณร้ายที่สาธารณชนควรปัดเป่าต่อต้านเท่าที่จะทำได้ เพราะเห็นได้ต่อหน้าแล้วว่าประชาชนรากหญ้าเป็นผู้รับเคราะห์จากสงครามมากที่สุด

สําหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดมหาสงครามก็ด้วยเหตุปัจจัยสำคัญดังนี้

1) ทางตันในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมืองของชนชั้นนำโลก ซึ่งแสดงออกในหลายประการ ได้แก่

ก) การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงขั้นชะงักงันยาวนาน

ข) หนี้สินเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วนถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้

ค) การเงินเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ และเก็งกำไร (Minsky Moment)

ง) ช่องว่างทางเศรษฐกิจ-สังคมขยายตัว เกิดความแตกแยกทางสังคม

จ) อัตราการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดลงโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว

ฉ) วิกฤติประชากร-สิ่งแวดล้อม กระทบต่อการผลิตอาหารและการผลิตทั่วไป เร่งการเกิดสงครามชิงทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ช) เกิดการแตกแยกภายในชนชั้นนำ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐ เป็นต้น ขณะที่ในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งยังสามารถสร้างผู้นำที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ได้ เช่น ในรัสเซีย จีน ตุรกีและอิหร่าน

แต่ไม่ว่าเป็นตลาดเก่าหรือตลาดใหม่ ชนชั้นนำก็จะขัดแย้งมากขึ้นในระดับใดระดับหนึ่ง

กล่าวโดยรวมคือชนชั้นนำไม่สามารถปกครองอย่างเดิมได้ เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในแนวทางนโยบายและผลประโยชน์ ขณะที่มวลชนรากหญ้าที่เดือดร้อนและไม่พอใจ ดำเนินการต่อสู้หลากหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งก็รวมตัวกันลุกขึ้นสู้

2) ลัทธิชาตินิยมและการแข่งขันอาวุธ ปรากฏลัทธิชาตินิยมเข้มแข็งขึ้นขณะที่ลัทธิโลกาภิวัตน์อ่อนแรงลง ลัทธิชาตินิยม + การแข่งขันอาวุธ นำไปสู่สงครามได้เสมอ ลัทธิชาตินิยมมีประโยชน์หลายประการ ได้แก่

ก) การสงวนพื้นที่หรือตลาดไว้เป็นของตน สำหรับประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐสามารถแสดงความเป็นชาตินิยมได้ง่ายกว่า ส่วนชาติที่เล็กกว่าต้องรวมกันเป็นกลุ่มประเทศ เช่น ประเทศไทยถ้าหากไม่รวมกับกลุ่มอาเซียนก็ยากที่จะยืนติดบนเวทีโลก

ข) ควบคุมตัวแปรทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมได้ง่ายกว่า สะดวกในการชักนำภาคส่วนต่างๆ ให้รวมตัวกัน

สำหรับการแข่งขันอาวุธมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อการสร้างอำนาจต่อรองในการทำข้อตกลง โดยใช้ความน่าสะพรึงกลัวและการคุกคามว่าจะใช้กำลังความรุนแรง คล้ายในสารคดีชีวิตสัตว์ ที่ทำตัวให้พองใหญ่ ดุร้าย เพื่อแย่งพื้นที่และการผสมพันธุ์ เป็นต้น เมื่อการข่มขู่คุกคามไม่ได้ผลก็ต้องลงไม้ลงมือกัน

3) อุบัติเหตุจากคู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น ในสงครามเย็นเก่ามีผู้แสดงสำคัญเพียงสหรัฐกับสหภาพโซเวียต จึงดูแลควบคุมได้ง่าย

ใน “สงครามเย็น 2” มีคู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมาก นอกจากรัสเซีย-สหรัฐแล้ว ยังมีอินเดีย-ปากีสถาน (และจีนที่สนับสนุนปากีสถาน) อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล (รวมผู้หนุนหลัง) เกาหลีเหนือที่มีอาวุธนิวเคลียร์ กับสหรัฐและพันธมิตร รัสเซียกับยูเครนและกลุ่มประเทศบอลติก จีนกับสหรัฐ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-สหภาพยุโรปก็เกิดการมึนตึงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การพองตัวและการโจมตีก่อนสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก

มหาสงครามก่อตัวและสู้รบกันในสมรภูมิสำคัญ ได้แก่ การชิงพื้นที่และพันธมิตร (หรือด้านภูมิรัฐศาสตร์) สงครามเศรษฐกิจ สงครามไซเบอร์และสงครามข่าวสาร สงครามอวกาศ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการชิงพื้นที่กับมหาสงคราม