ครัวอยู่ที่ใจ l ทางรอดอยู่ในครัว : องค์ประกอบของอาหารบ้านๆ / อุรุดา โควินท์

 

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: องค์ประกอบของอาหารบ้านๆ

 

“พี่กินแค่นี้จริงเหรอ” เธอถาม

ฉันหัวเราะ “แค่นี้ก็อิ่มแล้วนะ มีผัก มีหมู มีแป้ง ครบห้าหมู่”

“คือ…พี่เขียนเรื่องอาหาร กับข้าวมันควรฟูๆ” เธอพูดเบา

“หมายถึงหรูหราหมาคำรามกว่านี้ใช่มั้ย”

เธอหัวเราะ

“นี่เป็นอาหารในชีวิตจริง ชีวิตของผู้หญิงที่ทำอาหารวันละสามมื้อ ทำงานบ้าน และทำงานอื่นด้วย มีมื้อที่ฟู มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเกินครึ่งเป็นอาหารจานเดียวง่ายๆ หรือกับข้าวอย่างเดียว”

ฉันไม่มีเวลามากพอสำหรับอาหารฟูๆ สามมื้อหรอกนะ ไม่สมฐานะด้วย (สิ้นเปลืองเกินไป)

ฉันเชื่อว่าประชาชนชนชั้นกลางกินกันแบบนี้ เป็นอาหารบนโต๊ะจริง ที่บางครั้งไม่ได้โพสต์อวด (แน่ล่ะ มื้อฟูต้องโพสต์)

“ไม่ค่อยเล่น FB ล่ะสิ สิงในทวิตเตอร์ ถึงไม่เห็นว่าอาหารของพี่ก็ประมาณนี้” ยืดอกอย่างภูมิใจ ถาม “กินได้มั้ย”

“ได้สิพี่” รีบตอบ “แค่แปลกใจน่ะ หนูชอบเส้นอยู่แล้ว ยากิโซบะกินบ่อยมากค่ะ”

 

เพิ่งนึกได้ว่าลืมทอดไข่ดาวให้เธอ กินกับไข่ดาวอร่อย แต่มื้อเช้า ฉันกินไข่ลวกไปสองฟอง ไข่ดาวมื้อกลางวันดูจะมากไป

“พี่จะไปไหน ไม่กินด้วยกันเหรอ”

“ดาวไข่ไง”

“ไม่ๆๆๆ” เธอปฏิเสธเสียงแข็ง “หนูไม่กินไข่ที่ไม่สุก” หัวเราะ “หมายถึงไข่ดาว หนูกินแต่ไข่เจียว และแค่นี้ก็น่าอร่อยแล้วค่ะ”

เธอรีบตักใส่ปาก กินไปสองคำ เธอบอก “อร่อยมาก ไม่หวานไป ส่วนใหญ่หนูเจอหวานไปนิด ทนๆ เอา เพราะชอบกินเส้น”

“พี่ทำซอสเอง ใส่น้ำตาลน้อยหน่อย” ฉันบอก “มันง่ายมากเลยนะ กินให้อิ่ม เดี๋ยวผัดอีกจานให้พี่ต้น เข้าไปทำด้วยกัน จะได้รู้ว่าไม่ต้องซื้อกินก็ได้”

เธอรีบพยักหน้า

ยากิโซบะควรกินตอนร้อน ต้นพาหมาไปอาบน้ำ ฉันจึงยังไม่ผัดให้เขา รอเขามา เรากินเสร็จ ค่อยว่ากัน

ฉันหั่นผักไว้แล้ว มีกะหล่ำปลี แคร์รอต และต้นหอม

“ถ้ามีเห็ดหูหนู ใส่ลงไปด้วยก็ดีนะ” ฉันบอก

ชี้ผักให้เธอดู “จะหั่นแบบไหนก็ได้ แล้วแต่ชอบ แคร์รอตหั่นยาวหน่อยก็ได้ เน้นกะหล่ำปลี เพื่อนญี่ปุ่นเคยบอกว่า ยากิโซบะต้องใส่กะหล่ำปลีเยอะๆ”

 

“นี่อะไรคะ” เธอชี้ถ้วยซอส

“ถ้าไม่มีสิ่งนี้ จะไม่เป็นยากิโซบะเลย มันคือซอสสำหรับปรุง ซื้อเอาก็ได้ มีขายเยอะยี่ห้อ แต่ต้องเสี่ยงกับความหวาน”

“ทำยากมั้ยคะ”

ฉันดีดนิ้ว “ง่ายแบบนี้เลยล่ะ”

หยิบขวดเครื่องปรุงให้เธอดู “ใช้น้ำมันหอยนิดหน่อย ซีอิ๊วญี่ปุ่น มิริน แล้วก็น้ำตาล เราใส่น้ำตาลนิดเดียวพอ มิรินหวานอยู่แล้ว”

คนๆๆๆ ให้น้ำตาลละลาย แล้วชิมก่อน เค็มกับหวานมาคู่กัน มีเปรี้ยวจางๆ และหอมมิริน คือใช้ได้

“เนื้อสัตว์ใช้ไก่ก็ได้นะ พี่ใช้สันคอหมู หมักซีอิ๊วกับน้ำมันงาไว้หน่อย”

ฉันเปิดเตา วางกระทะ เทน้ำมันลงไป ส่งตะหลิวให้

เธอรับอย่างกล้าๆ กลัวๆ

“ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่อร่อย หรือพัง 90 เปอร์เซ็นต์คือสำเร็จ” ฉันบอกเธอ

“แล้วอีก 10 เปอร์เซ็นต์ล่ะพี่”

“เส้นอาจเละ ถ้าผัดแรงไป แต่บางคนใช้ตะเกียบกับกระทะเทฟลอน แบบนั้นยังไงก็รอด”

 

แล้วฉันก็เปลี่ยนใจ วางกระทะเทฟลอนแทนที่กระทะก้นลึก “ดีกว่า จะได้มั่นใจ” รับตะหลิวมาแขวน ส่งตะเกียบอันยาวให้เธอ

“ไม่ใส่กระเทียมก็ได้นะ ญี่ปุ่นคงไม่ใส่ แต่ต้นเค้าชอบ พี่ใส่หน่อยหนึ่ง”

กระเทียมลงกระทะ ตามด้วยหมู ให้เธอผัดจนสุก แล้วฉันก็เอาแคร์รอตกับกะหล่ำปลีลงตาม

“ผัดให้สลด แล้วเอาเส้นลง กับเส้น ถ้าซื้อเส้นสดจากห้าง แกะถุงแล้วมันเป็นก้อน ให้ตั้งน้ำร้อน ลวกมันก่อน อย่าเอาลงกระทะทั้งก้อนเด็ดขาด”

เธอมองหน้าฉัน “พี่ควรสอนทำอาหารนะ”

“พี่ทำแต่อาหารบ้านๆ ไม่ต้องเสียตังค์เรียนหรอก มาทำด้วยกันในครัวแหละ”

“ถ่อมตัวอีกล่ะ” เธอว่า “ใส่เส้นได้ยังคะ”

ฉันเทเส้นลงไป “ผัดให้ร้อน ให้คลายตัว แล้วค่อยเอาซอสลง”

ส่งถ้วยซอสให้เธอ เธอหันมาถาม “เทแล้วยังไงต่อ”

“ผัดจนซอสแห้ง ปิดเตาเลย”

“ง่ายแบบนี้เลย อร่อยอีกต่างหาก”

“มีประโยชน์และไม่แพงด้วย” ฉันเสริม

องค์ประกอบของอาหารบ้านๆ ก็มีเท่านี้ ฟูทุกมื้อ หรูหราทุกวัน นั่นไม่ใช่ราษฎรอย่างเราหรอก