ศิลปะ ผูกพัน ยืนยาว รำลึก 3 ปี แห่งการจากไป ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ (ศิลปินแห่งชาติ)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558

เป็น “วันครบรอบ 1 ปีเต็ม” ที่อาจารย์ประหยัดเปิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ” เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2557 บริเวณปากช่อง เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

มีความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็วมาก ซึ่งแท้ที่จริงเวลาก็เดินทางอย่างปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

การพบกับอาจารย์ประหยัด ในวันเปิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ครั้งนั้น จึงเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย

เนื่องจากเมื่อถึงวันที่ 19 กันยายน 2557 คือ อีก 6 เดือนต่อมาอาจารย์ประหยัด ก็มาลาจากไป

ศิษย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ รุ่นใกล้เคียงส่วนมากมักเรียกอาจารย์ประหยัด ว่า “พี่หยัด” ทั้งๆ ที่ท่านเป็นอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ เป็นศิลปินแห่งชาติ “สาขาทัศนศิลป์” (ภาพพิมพ์) ปี พ.ศ.2541

การเปิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ” บริเวณเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จะเรียกว่าเป็นการเปิด “นิทรรศการ ผลงานศิลปะ” ของอาจารย์ประหยัด หรือ “พี่หยัด” เป็นครั้งสุดท้ายในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ว่าได้

 

ในโอกาสครบรอบ 3 ปีที่อาจารย์ประหยัดลาจากครอบครัวอันเป็นที่รัก และไม่มีโอกาสสร้างงานศิลปะอีกต่อไปแล้ว

เพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงศิลปินอารมณ์ดีมีน้ำใจ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับครอบครัว “พงษ์ดำ” ได้นำผลงานของ “พี่หยัด” ที่ได้สร้างไว้จำนวนมาก ทั้งภาพพิมพ์ (Graphic) งานพิมพ์ไม้ (Wood Cut) เพ้นติ้ง (Painting) มาจัดนิทรรศการ ชื่อว่า “ศิลปะ ผูกพัน ยืนยาว”

นิทรรศการครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 4-27 กรกฎาคม 2560 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งแปลว่าเมื่อนิตยสารฉบับ “มติชนสุดสัปดาห์” นี้ออกวางตลาด ท่านที่รักชอบศิลปะ นักศึกษาศิลปะ ตลอดจนประชาชนที่ให้ความสนใจก็ไม่มีโอกาสได้ชมแล้ว

แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใดสำหรับท่านที่รักชอบศิลปะ และติดตามผลงานของอาจารย์ประหยัดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะผลงานของทั้งหมดจะนำกลับไปติดตั้งแสดงแบบถาวรยัง “บ้านศิลปินแห่งชาติ” เขาใหญ่ ซึ่งว่ากันว่าถ้าหากท่านอาจารย์ประหยัดยังมีชีวิตอยู่จะใช้บ้านแห่งนี้เป็น Shop และ Studio สร้างงานได้อีกมาก

ทายาทของอาจารย์ประหยัดได้ตกลงกันว่านิทรรศการครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ที่จะนำผลงานของพ่อออกมาแสดงนอกสถานที่ เพราะเอาออกมาบ่อยๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน เนื่องจากว่าการเคลื่อนย้ายงานทุกครั้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเสี่ยงต่อความเสียหายเป็นอย่างมาก แม้จะสามารถทำประกันได้ แต่ออกจะไม่คุ้มกัน

“ครั้งนี้เราทำประกันความเสียหายไว้ในวงเงิน 60 ล้านบาท (ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าจริงอย่างมาก เพื่อให้เบี้ยประกันไม่สูงจนเกินไป) แต่ยังต้องจ่ายเบี้ยประกันถึง 200,000 (สองแสนบาท)”

 

ไหนๆ ก็ย้อนกลับรำลึกถึง “พี่หยัด” ซึ่งก็ยังพอจำได้ว่าในระยะหลังๆ ก่อนท่านจะเสียชีวิต มีโอกาสพบเจอกันบ่อยครั้งขึ้น ตามนิทรรศการศิลปะสำคัญๆ รวมทั้งงานอันเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเรื่องศิลปะในแวดวงของศิลปินใหญ่ทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยัง “บ้านดำ เชียงราย” ของ “(ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี” ปราชญ์วาดรูป โดยที่ได้เดินทางไปร่วมงานในฐานะ Columnist อาวุโส ซึ่งบังเอิญเป็นศิษย์เก่าในแวดวงศิลปะ ในขณะที่ “พี่หยัด” ไปในฐานะศิลปินแห่งชาติ ซึ่งก็นับว่าอาวุโสที่สุดในคราวนั้น รองลงมาก็เป็น (ท่านพี่) ถวัลย์

ครั้งนั้นได้ไปพักยังสถานที่แห่งเดียวกัน ได้พูดคุยกับท่านในยามเช้าบนโต๊ะอาหารพอสมควร 2-3 วันหลังจากที่แยกย้ายจากกันไปนานกว่า 40 ปี หลังจบการศึกษา ซึ่งถึงจะได้พบเจอ “พี่หยัด” เป็นระยะๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีเวลาสนทนากันสักเท่าไร

ครั้งหนึ่งสองสาวน้อยที่บ้านเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาโดยจะไปพักยังบ้านของ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ในเมือง Los Angeles มลรัฐ California ก่อนระยะหนึ่งโดยมีจุดหมายปลายทางต่อไปยังต่างรัฐ

แต่เกิดการสับสนคลาดเคลื่อนเรื่องเวลาของสายการบินไปนิดหน่อย ได้โทรศัพท์ไปสอบถามยังบ้านพักของกมล ปรากฏว่าคนที่รับสายกลายเป็น “พี่หยัด” ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปพร้อมกับ (ท่านพี่) ถวัลย์ ปราชญ์วาดรูป ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) และพำนักยังบ้านนั้นเช่นเดียวกัน

“พี่หยัด” ดำเนินการตรวจสอบประสานให้เสร็จสรรพจนได้ทราบว่าสองสาวน้อยจากเมืองไทยได้พบกับ “นวลศรี ทัศนาญชลี” เจ้าของฉายา “ตะหลิวทองคำ” (แม่บ้านของ กมล ทัศนาญชลี-เป็นคนทำอาหารเลี้ยงรับรองศิลปิน นักศึกษาศิลปะ ครูผู้สอนศิลปะ แขกจากเมืองไทยที่ไปพำนักยังบ้านนั้น) เรียบร้อยแล้ว

กมล ทัศนาญชลี ซึ่งขณะนั้นไม่อยู่บ้าน โดยต้องขับรถพา (ท่านพี่) ถวัลย์ ออกตระเวนไปเที่ยวซื้อหาเขี้ยวงา เขา หนังกะโหลกสัตว์ ฯลฯ ทั้งหลายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำกลับมายังบ้านดำ จังหวัดเชียงราย

 

ตามที่ทราบกันดีว่าศิลปินใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติ คือ (ท่านพี่) ถวัลย์ กับ “พี่หยัด” นั้นสนิทสนมกันมาก เนื่องจากเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องห่างกันไม่กี่ปี สามารถพูดจากระเซ้าเย้าแหย่กันได้อย่างสนุกสนาน ประเภทเกทับกันแหลกลาญก็เคยทำเป็นประจำเสมอๆ

ทั้ง 2 ท่านมีผลงานเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่นิยมชื่นชอบของนักสะสมศิลปะมายาวนาน สามารถสร้างหลักปักฐานจากการจำหน่ายผลงานศิลปะในราคาสูง แต่ (ท่านพี่) ถวัลย์มักจะเสียดสีพี่หยัดว่าผลิตงานออกมามากเพราะเวลาเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในแถบยุโรปจะได้พบกับรูปสัตว์ รูปแมว รูปไก่ จิ้งจก ตุ๊กแก และ ฯลฯ ของพี่หยัดทั่วไปหมด “เพราะพี่แกขายราคาถูกรูปละ 20,000-30,000 บาท– ” ?

“ถ้า (กู) เก็บเงินจากการขายรูปไว้ป่านนี้กองมันจะสูงเท่ากับภูเขาทองแล้ว” “พี่หยัด” หยอกล้อแบบกวนๆ ในขณะที่ (ท่านพี่) ถวัลย์ ก็เกกลับทันทีทันใดว่า “ของผมมันกองสูงเท่ากับดอยนางนอน (จังหวัดเชียงราย) ที่ลุกขึ้นยืนแล้ว— ”

(ท่านพี่) ถวัลย์ ปราชญ์วาดรูปลาโลกไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ก่อนพี่หยัดเพียง 19 วัน ถึงวันนี้นับได้เป็นเวลาเฉียด 3 ปี

เสียดายเป็นอย่างยิ่งสำหรับวันที่แยกย้ายจากกันที่ “บ้านดำนางแล” จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผลิตผลทางทางปัญญาของปราญ์วาดรูป “พี่หยัด” บอกว่า “กลับไปกรุงเทพฯ ไปหาที่บ้านบางแค จะให้งานไว้ติดบ้าน—

(ท่านพี่) ถวัลย์ ก็บอกว่า “ให้พาครอบครัว ลูกๆ รวมทั้ง (น้อง) หมาไปพบกันที่บ้านกรุงเทพฯ เพื่อรับภาพเขียนของพี่ที่สัญญาว่าจะให้ไว้นานแล้ว!”

หลังจากวันนั้นก็ไม่มีโอกาสได้พบกับ (ท่านพี่) ถวัลย์ ปราชญ์วาดรูปอีกเลย จนท่านเดินทางไปวาดรูปบนสวรรค์แล้ว ส่วน “พี่หยัด” แม้จะได้พบกันก็เป็นเพียงแค่เฉียดๆ ในงานสวดพระอภิธรรมศพ (ท่านพี่) ถวัลย์

ก่อนจะได้ไปในงานสวดพระอภิธรรม และงานพระราชทานเพลิงศพ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ ในเวลาต่อมาอีกไม่นานวัน

แต่มีความเชื่อว่าผลงานของ “ศิลปินใหญ่ 2 ท่าน” ผู้ล่วงลับแล้วนั้น นับวันคุณค่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับราคาก็คงจะสูงมากจนคนธรรมดาๆ ยากจะได้จับต้อง