อย่าโลกสวยกับการปฏิรูปตำรวจ : มนัส สัตยารักษ์

หลังจากประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 36 คน มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. เป็นประธาน ดูเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีข่าวดีเป็นมงคลเกิดขึ้นหลายข่าว เริ่มแต่ประวัติความรู้ความสามารถและความดีของท่านประธานมาเลยทีเดียว

พล.อ.บุญสร้าง เรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก สอบได้ที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่น 6) ได้ทุนไปเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐอเมริกา ปริญญาตรีวิทยาศาตร์ ปริญญาโทวิศวกรรมเครื่องกล และปริญญาเอกวิศวกรรมโครงสร้าง

นอกจากจะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญของกองทัพจนถึงตำแหน่ง ผบ.สส. ซึ่งเหมาะสมกับบุคลิกลักษณะอันสูงสง่าของท่านแล้ว ยังถือว่าท่านโชคดีที่จบโรงเรียนนายร้อยสหรัฐ ไม่ได้จบจาก จปร. อันเป็นเหตุให้ท่านไม่ต้องเป็น ผบ.ทบ. ข้ามไปเป็น ผบ.สส. เลย

กรรมการปฏิรูปท่านอื่นๆ ก็เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของข้าราชการตำรวจ ส่วนที่เป็นตำรวจตัวจริงก็เป็นตำรวจที่โตมาด้วยอาชีพ ไม่ใช่ตำรวจที่โตมาด้วยการเมือง ส่วนใหญ่ผ่านงานโรงพัก งานสอบสวน และงานบริหารหลายระดับมาแล้ว

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมพอใจตรงที่ในจำนวน 36 ท่านนี้ ไม่มีคนที่ดูหมิ่นตำรวจจนถึงขนาดว่าจะให้ยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

นอกจากจะมั่นใจว่าเราจะได้ปฏิรูปตำรวจไปในหนทางที่ถูกที่ควรแล้ว ตำรวจยังมีข่าวดีราวกับเป็นการ “เสริมดวง” หลายเรื่อง

เรื่องใหญ่สุดและดังสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ระดมนำทีมตำรวจจับกุมคนร้ายฆ่ายกครัว 8 ศพได้ใน 5 วันหลังจากเกิดเหตุ ผู้ต้องหารับสารภาพทันทีจึงไม่มีคำว่า “แพะ” มาทำให้ตำรวจเสียจังหวะและชาวบ้านเสียอารมณ์

กรณีดาบตำรวจท่าข้ามเกือบตายเพราะถูกรถเบนซ์ป้ายแดงลากร่างครูดไปกับถนนได้รับบาดเจ็บแล้วหลบหนีไป ต่อมาเจ้าของรถและผู้ขับขี่ได้เข้ามอบตัวและขอขมานายดาบตำรวจ อ้างว่าตกใจเพราะกลัวถูกไฟแนนซ์ยึดรถ

กรณี “อัยการหิวลาบ” ข่มขู่ตำรวจสายตรวจ สภ.แสนสุข ก็คลี่คลายไปในทางที่ดี ข่าวที่ว่าผู้บังคับบัญชาบังคับให้ตำรวจไปขอขมาอัยการนั้นได้รับการปฏิเสธ

ข่าวดีที่เกิดขึ้นนับเป็นการสร้างกำลังใจให้ตำรวจอย่างมาก เป็นประหนึ่ง “ลางดี” ของการปฏิรูปครั้งนี้

ในกระบวนข่าวดีทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยย่อมมีจุดด่างดำแต่งแต้ม มันเป็นปกติวิสัยของหลายคนที่มองจากหลายมุม

มีข้อสงสัยว่าปฏิรูปตำรวจ แต่เอาทหารมาเป็นประธานคณะกรรมการ (ไม่สนใจเกียรติประวัติและความรู้ความสามารถแต่อย่างใด) ขณะเดียวกันก็ไม่พอใจที่คณะกรรมการ 36 คน เป็นตำรวจมากเกินไปถึง 15 คน ครึ่งต่อครึ่ง

เป็นทัศนคติที่เห็นทหารและตำรวจเป็น “ผู้ร้าย” หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นมิตร และเป็นความคิดแบบ “เหมารวม”

กรณีฆาตกรรมโหด 8 ศพนั้น ท่ามกลางเสียงชื่นชมถึงปฏิบัติการของตำรวจในสารพัดสื่อ แต่ก็ยังมีเสียงตำหนิในสื่อโซเชียลรายหนึ่งตำหนิ ผบ.ตร. เหมือนไร้วุฒิผู้นำและการศึกษา ที่พูดให้สัมภาษณ์ในช่วงแถลงข่าว “ไม่อยากจับเป็น แต่ผู้ต้องหาไม่สู้”

ความจริง ผบ.ตร. อาจจะพูดประโยคดังกล่าวด้วยแรงอัดอั้นหรือด้วยความอ่อนอกอ่อนใจในความโหดเหี้ยมของคนร้าย ท่านอาจจะพูดเพื่อปรามคนร้ายรายอื่นๆ ที่กำลังจะประพฤติตามก็ได้

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา
ผบ.ตร.

นึกถึงตัวเองเมื่อครั้งที่ยังรับราชการอยู่ก็เคยรู้สึก “อยากฆ่า” ผู้ต้องหาบางคน จนศาลตัดสินจำคุกแล้วถึงได้เปลี่ยนใจ มีอยู่รายหนึ่งเป็นคนร้ายยิง “จ่าเปี๊ยก” ลูกน้องมือดีของผมตาย เป็นธรรมดาอยู่เองที่รู้สึกเคียดแค้นจนอยากฆ่ามันให้ตายตามไปด้วย แต่พอศาลตัดสินจำคุก 99 ปี ผมก็หายแค้น อยากไปเยี่ยมคุยด้วย

หรือในกรณีที่ “อ้ายดำ” ฆ่าและข่มขืนผู้หญิงใต้สะพานในท้องที่ สน.บางพลัด แม้ตำรวจจะจับกุมคนร้ายได้ก่อนที่ผมจะถูกย้ายไปอยู่บางพลัด แต่พอได้เห็นรูปถ่ายผู้ตายผมก็นึกอยากฆ่าอ้ายดำ แต่พอถึงวันที่ควบคุมตัวมันไปประหารชีวิต (ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ) และได้เห็นอ้ายดำตายคาหลักประหาร ผมกลับรู้สึกเวทนาชะตากรรมของมัน

ผมได้อาชญนิยายหรือเรื่องสั้นขนาดยาว ชื่อ “เลือดเย็น” จากความจริงนี้

อีกตอนหนึ่งในการแถงข่าว ผบ.ตร. ได้พูดย้ำว่า “ผู้กระทำผิดในคดีนี้จะต้องถูกประหารชีวิต” ซึ่งก็ถูกตำหนิเช่นกัน

ผมกลับคิดว่าท่านอาจจะพูดเพื่อเอาใจคนที่ต้องการเห็นโทษประหาร ตำรวจพูดเสียเอง ดาราหรือทนายความอาจจะไม่พูดซ้ำอีก (ก็ได้)

กรณีนายดาบ สน.ท่าข้ามถูกรถเบนซ์ลากไปตามถนนนั้น ท่ามกลางเสียงก่นด่าประณามคนขับรถ แต่ก็มีเสียงแช่งตำรวจจราจรด้วยเหมือนกัน!

ส่วนกรณีอัยการหิวลาบกับตำรวจสายตรวจ สภ.แสนสุข นั้น แม้จะเป็นข่าวอื้อฉาวมากมายก็ตาม แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าพิธีกรหรือผู้จัดรายการทีวีกับผู้ชมทางบ้านอาจจะไม่พอใจเท่าไรนักก็ได้ เพราะยังไม่แตกหัก

ยังไม่รู้ดำรู้แดง ยังไม่รู้ใครแพ้ใครชนะ แล้วมาหยุดไปเสียเฉยๆ ได้อย่างไร?

เอาความคิดที่ย้อนแย้งและขัดกันมาบรรยายเสียยาวเหยียด เพื่อจะบอกผู้อ่านและผู้เสพสื่อทั้งหลายว่า อย่า “โลกสวย” ตั้งความหวังไว้สูงถึงขนาดว่าปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จะราบรื่น ภายใน 9 เดือนตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการ และอย่าคิดว่าจะลงมือ “ทำ” ได้ทันที

เพราะคณะกรรมการปฏิรูปคงต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน โดยเฉพาะด้านของ “ผู้ปฏิบัติ” ดังนั้น การปฏิรูปครั้งนี้อาจจะไม่ถูกอกถูกใจบางท่าน ด้วยว่าอาจจะไม่มีการยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และงานสอบสวนอาจจะยังอยู่กับตำรวจต่อไป การรัฐประหารอาจจะถูกดูหมิ่นว่า “ทำเสียของ”

ผมอ่านข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานสอบสวนของผู้ใช้นามว่า Siriphon Kusonsinwut แห่ง สตช. ท่านเห็นว่า “ลงทุนถูกๆ กับตำรวจ ผลจึงเป็นแบบนี้”

และสรุปว่า “ไม่ควรแยกพนักงานสอบสวนออกจากความเป็นตำรวจ เพราะจะทำให้ตำรวจเป็นเสือที่มีแต่ลายไม่มีเขี้ยวเล็บ”

ตรงกับที่อาจารย์ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. กล่าวในรายการทีวีช่อง 21 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “งานสอบสวนกับงานสืบสวนเป็นสองหน้าของเหรียญเดียว” และ “ไม่มีประเทศไหนในโลกที่แยกงานสอบสวนออกจากงานสืบสวน”

อาจารย์ยืนยันว่า งานที่ไม่น่าจะใช่งานของตำรวจโดยตรง เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ฯลฯ ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ตำรวจโอนไปให้หน่วยงานที่น่าจะเป็นเจ้าของงานหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อ สตช. จะได้ไม่ใหญ่โตจนเทอะทะ และอำนาจของ ผบ.ตร. มากเกินไปจนล้นนั้น

ตำรวจได้เคยพยายามโอนไปแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีหน่วยงานใดยินดีรับหรือพร้อมที่จะรับ!

โลกสวยกับโลกแห่งความเป็นจริงมันอยู่กันคนละจักรวาลกันครับ