รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ถอยก้าวที่ 3 ยาวนาน 15 ปี/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

รัฐประหาร 19 กันยา 2549

ถอยก้าวที่ 3 ยาวนาน 15 ปี

 

19 กันยายน 2564 ครบรอบ 15 ปีของการรัฐประหารรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ถ้าเป็นคนรุ่นก่อนจะจำได้ว่า 19 กันยายน 2519 ครบรอบ 45 ปี ที่จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำเผด็จการ ที่ถูกขับไล่ออกไปเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการบวชเป็นเณร และเป็นตัวจุดขนวนให้มีการต่อต้านและก็มีการปราบปราม เข่นฆ่านักศึกษาที่ต่อต้าน พร้อมทำการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายด้วยวงจรอุบาทว์ซึ่งมีการรัฐประหารเป็นตัวชี้ขาดหลายครั้ง บางตระกูลร่วมทำรัฐประหารเมื่อครั้ง 2519 และก็ให้หลานมาร่วมทำอีกในปี 2549

มีคนบอกว่ากลุ่มอำนาจเก่า ถือฤกษ์ 19 เดือน 9 ไม่ว่าจะเป็นปี 2519 หรือปี 2549

การปกครองในอดีตของกลุ่มรัฐประหารทุกชุด ทำให้รู้ว่าพวกเขาทำเพราะ…อำนาจและผลประโยชน์ที่ได้มาจากการรัฐประหารเป็นสิ่งหอมหวาน ไม่มีการตรวจสอบ สามารถใช้งบประมาณโกงกินได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องแสดงทรัพย์สินหรือใบเสร็จให้ใครดู พวกเขาอยากมีอำนาจแบบนี้

 

การถอย 2 ก้าว 30 ปี อดีตของการรัฐประหาร

ลองย้อนไปดูการถอยหลังของระบอบประชาธิปไตย เริ่มจาก 15 ปีแรกที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารปี 2500 จากนั้นก็ทำเป็นให้มีการเลือกตั้งแล้วก็กลับมารัฐประหารอีกครั้งในปี 2501 ใช้อำนาจเผด็จการปกครอง จนตนเองเสียชีวิตในปี 2506

จอมพลถนอมซึ่งเป็นลูกน้องก็มาสืบทอดอำนาจต่อ ลากยาวมาถึงปี 2516 จึงถูกนักศึกษา ประชาชนขับไล่ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การถอยหลังของระบอบประชาธิปไตย ระยะ 15 ปีนี้ถือว่าอำนาจการปกครองเป็นของทหารเกือบทั้งหมด

การถอย 15 ปีที่สอง ตามมาไม่นานนัก หลังจากมีรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยได้แค่ 3 ปี 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการรัฐประหาร นักศึกษาที่ถูกไล่ฆ่าหนีเข้าป่าจับปืนมาสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ การต่อสู้แบบแลกชีวิตครั้งนั้นทำให้กลุ่มอำนาจเก่าปรับแผน โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 เพื่อเลือกตั้ง ให้กลายเป็นเผด็จการครึ่งใบ หรือบางทีก็เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ใครที่จะเป็นรัฐบาลก็ต้องพึ่ง ส.ว.

เริ่มโดยนายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกฯ อยู่ได้ไม่นานก็ถูกโค่นโดย พล.อ.ปรม ติณสูลานนท์ และก็สืบทอดอำนาจต่อมาอีก 8 ปี เมื่อนายกฯ เปรมยอมลงจากอำนาจ นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เข้ารับตำแหน่งต่อในปี 2531 การเมืองทำท่าจะดี เศรษฐกิจฟื้น ก็ถูกรัฐประหารในปี 2534 แต่คณะ รสช.ที่ทำการรัฐประหารก็ไม่สามารถสืบทอดอำนาจได้ เพราะเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านในเดือนพฤษภาคม 2535

15+15 ปี ได้ประชาธิปไตยครึ่งใบ ยังเหมือนอยู่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม

สรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ซึ่งเป็นเผด็จการครึ่งใบมีการแบ่งอำนาจของผู้นำทหารและพรรคการเมือง บวกด้วย ส.ว.แต่งตั้ง สามารถอยู่และยาวนานถึง 15 ปีเช่นกัน ถ้าไม่มีพฤษภาทมิฬ 2535 ระบบนี้อาจจะลากยาวต่อไปได้ เพราะมันเป็นการฮั้วของอำนาจส่วนบน ทั้งนักการเมือง นายทุนขุนศึก ศักดินา

(รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็เลียนแบบฉบับ 2521 และวางแผนอยู่ยาวเหมือนนายกฯ เปรม)

 

เดินหน้า 15 ปี หลังพฤษภาทมิฬ 2535

และถอยหลัง 15 ปี หลังรัฐประหาร 2549

หลัง 2535 ถือเป็นยุคประชาธิปไตย มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย กว่าจะร่างเสร็จก็ปี 2540 นำมาใช้จริงปี 2544

ตลอด 15 ปีนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย มีทั้งการเลือกตั้งใหม่ ลาออก และหานายกฯ ใหม่ในสภา คนธรรมดาอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ได้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ออกมาตั้งพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็เป็นนายกฯ ได้

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2540 ได้นายกฯ คนแรก คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเลือกตั้งปี 2544 และชนะเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2548 แต่มาถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

การเติบโตของระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่หลังพฤษภาคม 2535 นับว่าได้ใช้เวลาพัฒนาเติบโตที่ยาวนานที่สุดคือ 15 ปี

ถ้าไม่เกิดรัฐประหารในครั้งนั้นประเทศไทยน่าจะผ่านจุดสำคัญของวงจรอุบาทว์และก้าวพ้นไปแบบเกาหลีใต้

แต่ด้วยซากเดนความคิดเก่า ที่ชอบระบบอุปถัมภ์ จึงทำประเทศถอยหลังมาเป็นเวลายาวนาน

แม้ประชาชนพยายามจะไม่เลือกกลุ่มเผด็จการแต่ก็ถูกคนเหล่านั้นใช้วิธีการทางการเมืองการรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ การใช้อำนาจทางกฎหมาย ทำลายพรรคการเมืองและฝ่ายตรงข้ามการเมือง ทำให้การเมืองเสื่อมถอย เศรษฐกิจทรุดลง

แต่สุดท้ายคนไม่เอาด้วย ต้องมีตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระมาช่วยเปลี่ยนแปลงอำนาจ และยังต้องมีการรัฐประหาร 2557 ซ้ำอีกครั้ง จากนั้นก็พยายามสืบทอดอำนาจด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หวังอยากจะเป็นรัฐบาลแบบเผด็จการครึ่งใบนี่เป็น 15 ปีสุดท้าย จนถึงปัจจุบัน

การอ้างว่าถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้การเมืองไทยก้าวไปสู่ธรรมาภิบาล มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ และคุณธรรม …เป็นเรื่องโกหก

 

15 ปีหลัง (2549-2564)…

อะไรถอยหลัง อะไรพัง อะไรเพิ่ม

1.รัฐธรรมนูญและกฎหมาย การร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายควรถูกทำให้ก้าวหน้าขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นั่นหมายถึง การที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกำหนดทิศทางเดินของประเทศได้ อำนาจของประชาชนจะถูกใช้โดยตัวแทนที่ประชาชนเลือก เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน

แต่ 15 ปีที่ผ่านมายิ่งทำยิ่งถอยหลัง เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ก้าวหน้าที่สุด ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ถูกฉีก รัฐธรรมนูญ 2560 มาแทน ซึ่งเป็นฉบับที่ถอยหลังลงคลองไปเลย ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนดันมาเลือกนายกฯ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมาก็ไม่สามารถกำหนดนายกฯ ได้

2. ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าดูรัฐสภาวันนี้ ส.ส.ซึ่งประชาชนเลือกมาก็มีอำนาจน้อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมี ส.ว.แต่งตั้งมาแย่งบทบาทไป พรรคการเมืองไม่มีโอกาสพัฒนา สภาพของนักการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นตัวแทนของประชาชนอีกแล้ว ส่วน ส.ว.เป็นตัวแทนของคนแต่งตั้ง

ส.ส.ถอยไปจนถึงจุดที่มีการซื้อ-ขาย ส.ส.ที่ชอบย้ายพรรคตามหากล้วย เพราะกฎหมายพรรคการเมืองเปิดช่องไว้

3. ฝ่ายตุลาการ แม้ว่ากฎหมายจะเขียนไว้ว่าการรัฐประหารผิดกฎหมายโทษร้ายแรง แต่ฝ่ายตุลาการของไทยยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารทุกชุดที่ทำการล้มอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ (สภา) และฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) เพราะทุกครั้งจะไม่มีการล้มฝ่ายตุลาการ

วันนี้ อำนาจฝ่ายตุลาการก็ยังสามารถชี้ถูก-ผิด ปลดทุกตำแหน่ง ทุกฝ่ายได้ แต่มาตรฐานความยุติธรรมก็เอียงข้างผู้มีอำนาจรัฐ

ในขณะที่อำนาจฝ่ายตุลาการไม่มีที่มาที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนเลย กลับมีอำนาจเหนือทุกฝ่าย

4. ฝ่ายบริหาร วันนี้คงต้องเปรียบเทียบผลงานนายกฯ ทักษิณ (2544-2549) กับนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557-2564) แต่มีคนบอกว่าเทียบไม่ได้ บอลอยู่คนละดิวิชั่น จึงอยากให้ดูที่ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ถ้าบริหารได้ถึงระดับต่ำสุด คือมีคนฆ่าตัวตาย

5. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นก็หยุดชะงัก 8 ปี อำนาจยังรวมศูนย์ ผู้มีอำนาจไม่อยากกระจายอำนาจ ระบอบประชาธิปไตยของเราจึงล้าหลัง การเลือกตั้ง อบต.ที่จะมีขึ้น ก็แฝงไว้ด้วยความต้องการหัวคะแนนในท้องถิ่นของการเลือกตั้งใหญ่ที่จะตามมา

6. การถอยหลังของเศรษฐกิจ

สรุปได้ว่า รวยกระจุก จนกระจาย ที่ต้องตายคือคนชั้นล่าง คนชั้นกลางจะจนลง

ตลอด 15 ปี ธุรกิจยักษ์ใหญ่ยิ่งเติบโต รวยขึ้น ขยายมากขึ้น ธุรกิจคนชั้นกลางและล่างทรุดลง จำนวนมากก็ล้มหายตายจากไป เกษตรกรยังจนเหมือนเดิม ตอนนี้ที่สะเทือนคือคนค้าขายเล็กๆ เพราะกำลังซื้อทั้งจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมหดหายไป การแก้ไขของรัฐบาลทำอะไรไม่เป็น นอกจากให้บัตรคนจน บัตรวณิพก รายได้หลักคือ กู้เงิน

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เพิ่ม คือหนี้สินทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือน

6. การทุจริตคอร์รัปชั่น นี่ก็มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้การทุจริตมีไปทุกวงการแล้ว ทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ ครู พระ สหกรณ์ ศาล ตอนนี้คนสงสัยว่าใครจะตรวจ ป.ป.ช.

หลังรัฐประหาร 2549 ไม่มีองค์กรหรือสถาบันไหนที่ไม่ถูกทำให้เสื่อมให้พัง และถอยหลัง เพราะไม่มีการปฏิรูปจริง เพื่อให้สอดคล้องกับโลก และเทคโนโลยี ที่พัฒนาไปไกล แต่อย่าคิดว่าเราคงอยู่อย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ… เพราะนี่คือความขัดแย้งที่รอวันปะทุเป็นไฟ