คุยกับทูต พาฟโล โอเรล ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต พาฟโล โอเรล

ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอนจบ)

 

ในการประชุมเกี่ยวกับอนาคตของแหลมไครเมีย ณ กรุงเคียฟ (Kyiv) เมืองหลวงของยูเครน ผู้แทนเกือบ 50 ประเทศประณามรัสเซียอีกครั้งต่อการผนวกดินแดนไครเมีย

โดยประธานาธิบดียูเครนเรียกร้องให้มีการสนับสนุนอย่างชัดเจนสำหรับ “การเลิกยึดครอง” คาบสมุทร

แต่โฆษกเครมลินวิพากษ์วิจารณ์การประชุมสุดยอดว่าเป็น “เหตุการณ์ต่อต้านรัสเซีย”

ยูเครนได้กลับมาอยู่ในวาระของ 46 รัฐที่สำคัญที่สุดของโลก จากแพลตฟอร์มไครเมีย (Crimea Platform) เป็นชัยชนะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของตำแหน่งประธานาธิบดีสองปีของนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky)

ซึ่งไม่ใช่แค่การแสดงความสามารถด้านการประชาสัมพันธ์เท่านั้น

แต่ยังเป็นพื้นฐานสำหรับโครงการกลับบ้านของไครเมียด้วย

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เล่าว่า

“เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันก่อนวันครบรอบปีที่ 30 ของการประกาศอิสรภาพของยูเครน มีการเปิดประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมียครั้งแรก (The Inaugural summit of the Crimea Platform) โดยมีผู้แทนของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดครั้งแรกนี้ทั้งหมด 46 คน”

“การประชุมสุดยอดครั้งนี้มาจากการริเริ่มของประธานาธิบดียูเครนคนที่ 6 คือ นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) เป็นเวทีการเจรจาซึ่งมีเป้าหมายในการประสานการดำเนินการร่วมกันของประเทศยูเครนและพันธมิตรระหว่างประเทศที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของชาวไครเมียและการเลิกยึดครองคาบสมุทรนี้”

ประธานาธิบดีแห่งยูเครน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เปิดการประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมียครั้งแรก ภาพจาก president.gov.ua

“ประธานาธิบดีแห่งยูเครนได้กล่าวเปิดการประชุมว่า นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการยึดครองไครเมียสาธารณรัฐปกครองตนเองในยูเครน ที่ประเด็นนี้ได้รับการยกขึ้นสู่ระดับสากลสูงสุด เพราะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ณ ใจกลางยุโรป สหพันธรัฐรัสเซียได้เข้ายึดครองไครเมีย ดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 27,000 ตารางกิโลเมตรมากกว่าบางประเทศ”

“การยึดครองไครเมียทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลของระบบรักษาความปลอดภัยระหว่างประเทศทั้งหมด หลักบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย หากไม่คืนความเชื่อมั่น ก็จะไม่มีรัฐใดที่มั่นใจได้ว่า จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกยึดครองเป็นรายต่อไป”

“ทั้งนี้ ประธานาธิบดีแห่งยูเครน ได้สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมว่า จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ได้ไครเมียกลับคืนมาโดยใช้วิธีการทางการเมือง กฎหมาย และการทูตที่เป็นไปได้ทั้งหมด”

 

การประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมียครั้งแรกในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ภาพจาก -uacrisis.org

 

ความสำคัญของแพลตฟอร์มไครเมีย

“การประชุมสุดยอดเป็นการเปิดตัวแพลตฟอร์มไครเมียอย่างเป็นทางการ แพลตฟอร์มนี้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการเลิกยึดครองไครเมีย รวมทั้งปกป้องหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศทั่วโลกในเวลาเดียวกัน”

“เป็นการให้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์อย่างแจ่มชัดในกระบวนการปลดปล่อยไครเมีย การรวบรวมทรัพยากรและความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในแนวทางไครเมีย ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือในเวลาเดียวกันระหว่างรัฐบาล รัฐสภา และผู้เชี่ยวชาญ โดยครอบคลุมในแง่มุมอื่นๆ ที่กว้างกว่าการบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอีกด้วย”

“เครือข่ายของแพลตฟอร์มไครเมียประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั้งชาวยูเครนและต่างชาติกว่า 180 คน โดยจะให้การสนับสนุนทางด้านการวิเคราะห์และข้อมูลอย่างเป็นทางการ รวมถึงการจัดทำรายงานและคำแนะนำอย่างละเอียด”

“กิจกรรมและกลไกการประสานงานที่กำหนดไว้ในกรอบของแพลตฟอร์มจะมีการหารือในคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยคณะผู้แทนทางการทูตของรัฐที่เข้าร่วม ผลของการพิจารณาดังกล่าวจะถูกนำเสนอในระหว่างการประชุมตามวาระและการประชุมสุดยอดระดับสูง”

“ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การประชุมสุดยอดประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล จะได้รับการรวบรวม เพื่อติดตามความสำเร็จและกำหนดเป้าหมายทางยุทธวิธีใหม่ โดยมีความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับรัฐสภาของรัฐที่เข้าร่วม ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะส่งเสริมการดำเนินการตามเป้าหมาย สร้างกลุ่มสนับสนุนแพลตฟอร์มไครเมียทั้งในระดับชาติและนานาชาติ”

 

การประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมียครั้งแรกในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ภาพจาก -euronews.com

 

อุปทูตยูเครนกล่าวถึง 5 แนวทางสำคัญ “กิจกรรมของแพลตฟอร์มไครเมีย” ว่า ก็เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือ การสิ้นสุดการยึดครองไครเมียของรัสเซีย ได้แก่

– การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

– การรวมตัวกันในนโยบายแห่งการไม่รับรู้

– การคว่ำบาตรอย่างมีประสิทธิผลต่อรัฐผู้รุกรานและขยายเขตแดน

– ความปลอดภัย รวมถึงเสรีภาพในการนำทิศทาง

– การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ในภูมิภาคจากการยึดครองไครเมีย

“ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมีย ครั้งแรกได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และประณามการยึดครองไครเมียโดยรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย”

“หลังการประชุมสุดยอดนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงมติรับรองปฏิญญาร่วมกัน ปฏิญญานี้ได้สร้างพื้นฐานทางการเมืองที่มั่นคงสำหรับการดำเนินงานต่อไป โดยเป็นที่ยอมรับว่าการใช้อำนาจเข้าครอบครองแหลมไครเมีย โดยสหพันธรัฐรัสเซีย ได้รับการประณามว่าเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวและผิดกฎหมาย”

“มีการยืนยันความพร้อมของผู้เข้าร่วมแพลตฟอร์มไครเมีย ที่จะปฏิบัติตามนโยบายการไม่รับรู้การผนวกคาบสมุทรไครเมีย และเมืองเซวาสโทพอล (Sevastopol) เช่นเดียวกับการไม่รับรู้ถึงความพยายามใดๆ ของรัสเซียในการทำให้การยึดครองชั่วคราวดังกล่าวนั้นถูกกฎหมาย”

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

 

อุปทูตพาฟโล โอเรล เสริมว่า

“การสนับสนุนแพลตฟอร์มโดยประชาคมระหว่างประเทศ แสดงถึงข้อความอันทรงพลังในการปกป้องกฎหมายระหว่างประเทศ อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และค่านิยมร่วมกันของเรา นั่นคือ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”

ว่าด้วยข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 68/262

ซึ่งได้รับความเห็นชอบในสมัยประชุมที่ 68 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.2014 หลังจากรัสเซียผนวกไครเมีย ข้อมติซึ่งไม่มีผลผูกพันนี้มีชื่อว่า “บูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน” (Territorial Integrity of Ukraine) ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 100 รัฐ มีผลเป็นการยืนยันพันธกิจของสมัชชาใหญ่ในบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนตามเขตแดนที่นานาชาติรับรอง และเน้นย้ำความเป็นโมฆะของการลงประชามติเกี่ยวกับไครเมียเมื่อ ค.ศ.2014 แต่ชาติ 11 ชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบกับข้อมตินี้, 58 ชาติงดออกเสียง และ 24 ชาติที่เหลือไม่อยู่ในที่ประชุมเมื่อมีการออกเสียง

ผู้เสนอข้อมตินี้ คือ แคนาดา, คอสตาริกา, โปแลนด์, ยูเครน, เยอรมนี และลิทัวเนีย ก่อนหน้าที่จะมีการเห็นชอบกับข้อมติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพยายามเรียกประชุมถึง 7 ครั้งเพื่อถกปัญหาวิกฤตการณ์ไครเมีย แต่ไม่สำเร็จ เพราะรัสเซียคัดค้าน

สำหรับวิกฤตยูเครน ไทยสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนเคารพหลักการแห่งอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

 

นายพาฟโล โอเรล อุปทูตยูเครนกล่าวตอนท้ายว่า

“ประเทศยูเครนขอขอบคุณราชอาณาจักรไทยที่เป็น 1 ใน 100 ประเทศ ซึ่งออกเสียงในข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนตามเขตแดนที่นานาชาติรับรอง และอธิปไตยของยูเครน”

“เราจึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยพิจารณาเข้าร่วมปฏิญญาไครเมีย (Crimea Platform declaration) เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในกระบวนการเลิกยึดครองไครเมีย”