คดีค้ามนุษย์ ต้องไม่หยุดแค่นี้

การค้ามนุษย์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การกระทำผิดกฎหมายถ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการกระทำที่ท้าทายต่อมโนธรรม และจิตสำนึกของการเป็นมนุษย์ของผู้กำหนดและรักษากฎหมายด้วยอีกต่างหาก

ในสายตาของสื่อมวลชนและองค์กรเอกชนที่รณรงค์เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ คำพิพากษาในคดีค้ามนุษย์ของไทยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องใหญ่และมีนัยสำคัญต่อเนื่องอย่างมาก

ผลของคดีดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกในฐานะ “การไต่สวนดำเนินคดีการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย”

ประเทศที่ตกเป็นเป้าโจมตีว่าเป็นทั้ง “แหล่งที่มา” เป็น “จุดหมายปลายทาง” และเป็น “ทางผ่าน” สำคัญในการลักลอบขนย้าย ทารุณกรรมและสังหารผู้คนยากจนจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อ “การค้า” มาช้านาน

 

ในรายงานของรอยเตอร์ โดย เอมี สาวิตตา เลอแฟฟร์ ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ ระบุว่า คดีนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2015 หลังจากมีการค้นพบหลุมฝังศพหมู่กว่า 30 ศพในพื้นที่ป่าใกล้ชายแดนมาเลเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุในเวลาต่อมาว่าเป็น “ค่ายกักกันกลางป่า” ที่กลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมายทั้งของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศใช้เพื่อกักตัวเหยื่อไว้เป็นประกัน เพื่อ “เรียกค่าไถ่” หรือไม่ก็ “ส่งขาย” เป็นสินค้ามีชีวิต

การค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหามากกว่า 100 คน ตัวเลขจริงๆ ของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาถูกส่งขึ้นศาลในคดีนี้คือ 103 คนด้วยกัน

คนตายที่เป็นเหยื่อส่วนใหญ่ “เชื่อกันว่าเป็นโรฮิงญา” ชนกลุ่มน้อย “ต้องสาป” ด้วยการลงทัณฑ์สารพัดรูปแบบในพม่า

แอเรีย เบนดิกซ์ แห่ง “ดิ แอตแลนติก” สื่อดังในสหรัฐอเมริกา สรุปผลของคดีนี้ไว้ชัดเจนว่า จำเลยทั้งหมด “ต่อสู้คดี” ในข้อกล่าวหาค้ามนุษย์, ฆาตกรรม, กักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อเรียกค่าไถ่, ใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนโดยไม่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

ลงเอยด้วยการที่ศาลพิพากษาว่าจำเลย 62 คนในจำนวน 103 คนกระทำผิดตามฟ้อง ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีเรื่อยไปจนถึงสูงสุด 94 ปี แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย กำหนดโทษจำไว้สูงสุดไม่เกิน 50 ปีก็ตาม

ที่สำคัญก็คือ ผู้ต้องหารายสำคัญๆ ตั้งแต่นายทหารระดับสูงอย่าง พล.ท.มนัส คงแป้น ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 27 ปี เรื่อยไปจนถึง “อดีตนักการเมืองท้องถิ่น” อย่าง นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ “โกโต้ง” และ นายบรรจง ปองพล ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 75 และ 78 ปีตามลำดับ

รอยเตอร์ระบุว่า คนที่ต้องคำพิพากษาจำคุกสูงสุดคือ โซ นาย หรือที่รู้จักกันดีว่าในชื่อ “อันวาร์” ชายชาวโรฮิงญา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเป็น “ตัวการสำคัญ” ผู้ทำหน้าที่ควบคุม “ค่ายกักกัน” กลางป่าที่ทำให้เหยื่อหลายสิบคนเสียชีวิต

 

สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์ วอทช์ บอกกับรอยเตอร์ว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงมากต้องคำพิพากษาในครั้งนี้จะช่วย “ป้องปราม” อาชญากรในเครือข่ายค้ามนุษย์ได้ในอนาคต

กลุ่มเอ็นจีโอที่รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งให้ความเห็นตรงกันกับรอยเตอร์ว่า ผลลัพธ์ของคดีค้ามนุษย์ครั้งนี้ “อาจส่งผลช่วยยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากเทียร์ 2 ในปีหน้า” ในการจัดอันดับประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือที่เรียกกันว่า “ทิป รีพอร์ต” ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่แม้จะแสดงความยินดีกับผลลัพธ์ของคดีในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งซึ่งทั้งสื่อมวลชนและเอ็นจีโอทั้งหลายระบุตรงกันก็คือ ไทยต้องไม่ยุติความพยายามเรื่องนี้อยู่เพียงแค่นี้

แต่ยังจำเป็นต้องดำเนินการอีกมาก ทั้งเพื่อปกป้องสิทธิของชาวโรฮิงญาในประเทศที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 5,000 คน

เรื่อยไปจนถึงการสืบสวนสอบสวน “ทุกเบาะแส” ที่ได้รับเกี่ยวกับเรื่อง “ค่ายกักกัน” และพฤติกรรมของขบวนการค้ามนุษย์ ที่เชื่อกันว่ายังมีอีกไม่น้อย กระจายกันเป็นระยะ ตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

แอมมี สมิธ ผู้อำนวยการ “ฟอร์ติฟาย ไรท์ส” ย้ำว่า ทุกอย่างต้องไม่กลายเป็น “ขยะ” ถูกกวาดไปหมกไว้ใต้พรม ซึ่งอยู่ในรูปของความสำเร็จในการดำเนินคดีครั้งนี้

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของแอมมีก็คือ “เพราะเราเชื่อว่าการกวาดล้างครั้งนี้ส่งผลเพียงแค่ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์เสียขบวนไปเท่านั้น แต่เครือข่ายทั้งหมดยังคงดำรงอยู่เป็นปกติ” และยังสามารถปฏิบัติการได้ในระดับที่เคยเป็นมา

สมิธย้ำว่า ดังนั้น สำหรับประเทศไทย คดีค้ามนุษย์นี้ไม่ใช่เป็นการ “ปิดฉาก” การดำเนินการในด้านนี้แต่อย่างใด

แต่ไทยยังต้องก้าวไปข้างหน้าอีกไกลมาก เพื่อสร้างมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติต่อไป