3 ปี ทีวีดิจิตอลบักโกรก เจ๊งถ้วนหน้า แห่ดึงทุนใหม่เสริมทัพ “ช่อง 7-เวิร์คพอยท์” พ้นน้ำ

ยังไม่ทันถึงครึ่งทางของอายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอล 15 ปีด้วยซ้ำ แต่ช่องทีวีดิจิตอลหลายรายก็ออกอาการทนพิษบาดแผลจากอาการขาดทุนในการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่ไหวกันเสียแล้ว

ย้อนกลับไปเพียงแค่ยกแรก ทันทีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กดปุ่มสตาร์ตให้ทีวีดิจิตอลออนแอร์ได้เพียง 1 ปี บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของ “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ก็ตัดสินใจขอเลิกใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 2 ช่องลง เนื่องจากขาดทุนสะสม ทำให้เหลือผู้เล่นสมรภูมินี้ 22 ช่อง จาก 24 ช่อง

แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้อยู่ในตลาดอีก 22 ช่องกับระยะเวลาการออกอากาศในปีที่ 3 นี้ ก็แทบไม่ได้แตกต่างจากผู้ที่ตัดสินใจโยนผ้าขาว เดินลงจากเวทีไปแล้ว

เพราะยังต้องอยู่ในภาวะขาดทุนจากสภาพเศรษฐกิจ เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวี ที่แม้ว่าจะมีมากถึง 60,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้เติบโต แถมยังกระจุกตัวอยู่กับเจ้าตลาดรายเดิมๆ โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 7

ผิดไปจากที่ กสทช. เคยวาดฝันไว้เมื่อก่อนเริ่มประมูลว่า หลังฟรีทีวีเพิ่มจาก 4 ช่องเป็น 24 ช่อง จะทำให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีขยับขึ้นไปแตะ 100,000 ล้านบาท

 

หากพิจารณาผลประกอบการทีวีดิจิตอลที่ออกอากาศมาได้ 3 ปี จากรายงาน กสทช. พบว่า ช่องที่มีรายได้สูงสุด 5 อันดับปี 2559 ได้แก่ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) มีรายได้ 2,576 ล้านบาท บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์คพอยท์ทีวี) 2,121 ล้านบาท บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 33 เอชดี) 1,800 ล้านบาท บริษัท อาร์เอส เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 8) 1,151 ล้านบาท และบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด (โมโน 29) มีรายได้ 1,002 ล้านบาท

ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงรายได้รวมทีวีดิจิตอลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2559) พบว่าทีวีดิจิตอลเกือบทุกรายมีผลประกอบการที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยพีพีทีวี ขาดทุนหนักสุดในปี 2559 ถึง 1,996 ล้านบาท

ตามด้วยไทยรัฐทีวี ขาดทุน 928 ล้านบาท และอมรินทร์ทีวี ขาดทุน 846 ล้านบาท

ขณะที่ช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ทีวี กลายเป็น 2 ช่องที่สวนกระแสชาวบ้าน โดยในปี 2559 ช่อง 7 มีกำไร 1,567 ล้านบาท และเวิร์คพอยท์ 106 ล้านบาท

กลายเป็นบัวพ้นน้ำอยู่เพียง 2 ช่อง

ตลอดห้วง 3 ปีของทีวีดิจิตอล บางช่องอาจเริ่มเห็นแสงสว่างบ้างทั้งรายได้และเรตติ้ง หรือความนิยมของผู้ชมก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีอีกหลายช่องที่ยังมองไม่เห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจทีวี และยังต้องดิ้นรนเพื่อฝ่าฟันนานาอุปสรรคไปให้ได้

 

ตัวแปรสำคัญที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหามาตั้งแต่ทีวีดิจิตอลเริ่มออกอากาศคือ งบฯ โฆษณาผ่านสื่อทีวีไม่โต จากปัญหาเศรษฐกิจ

ไม่เพียงเฉพาะการหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่มีการแข่งขันสูงแล้ว อีกด้านหนึ่ง ทุกค่ายยังต้องมีภาระต้นทุนและและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเงินค่าใบอนุญาต ที่ชนะการประมูลมาและเฉลี่ยจ่ายเป็น 6 งวด มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป เงินค่าเช่าโครงข่าย รวมทั้งต้นทุนค่าคอนเทนต์

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิตอลรายใหญ่รายหนึ่ง ยอมรับว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องเผชิญ คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และทำให้สินค้าตัดลดโฆษณาลง ขณะเดียวกันก็โยกงบฯ โดยหันไปใช้เงินโฆษณากับสื่อดิจิตอลมากขึ้น ตามพฤติกรรมรับสื่อผู้บริโภคยุคนี้ ทำให้สถานการณ์รายได้ทีวีดีจิตอลฝืดเคือง

ส่งผลให้ประมาณการรายได้และระยะเวลาการคืนทุนผู้ประกอบการคลาดเคลื่อน จากเดิมที่คาดว่าจะคืนทุนภายใน 3-5 ปี ก็ต้องยืดออกไปเป็น 7 ปี

ถ้าสถานการณ์ยังเป็น “ตัวแดง” ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ไหว สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทำได้ในเวลานี้ก็คือ การปรับกลยุทธ์ สร้างโอกาส หวังพลิกรายได้ให้แก่ช่องตัวเอง

หนึ่งในนั้นคือ การหาผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุน

ล่าสุดมีกระแสว่า หลายๆ ช่องก็อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนด้วย และหากย้อนกลับไปปลายปี 2559 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจขายหุ้น 50% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,905 ล้านบาท ของบริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ช่องวัน) ให้แก่บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ซึ่งมี นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นลูกสาว นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของช่องพีพีทีวี

ตามมาติดๆ ด้วยบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (ช่องอมรินทร์ 34) ที่ดึงกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน 850 ล้านบาท หวังเสริมทัพให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากธุรกิจทีวีต้องใช้เม็ดเงินลงทุนด้านคอนเทนต์ค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 500-600 ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมค่าใบอนุญาตที่ต้องจ่าย

 

หากย้อนกลับไปก็จะพบว่า การพัฒนาคอนเทนต์ ดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์หลักของทุกค่ายตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่ละช่องก็พยายามหาและสร้างแคแร็กเตอร์ของช่องให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง เวิร์คพอยท์ทีวี ชูจุดแข็ง รายการวาไรตี้ เกมโชว์ และตอกย้ำในพื้นที่ที่ตัวเองแข็งแรง ด้วยการผลิตรายการวาไรตี้ใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง และส่งผลให้ช่องเวิร์คพอยท์มีเรตติ้งไต่ขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของตลาดฟรีทีวีในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศได้ไม่ยาก

“ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทีวีดิจิตอล บริษัท เวิร์คพอยท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันไม่ได้ต่างจากเดิม กระจุกตัวที่ 6 ช่องใหญ่ที่มีเรตติ้ง 6 อันดับแรก แต่ละช่องต่างปล่อยคอนเทนต์แม่เหล็กออกมาต่อเนื่อง ชูจุดแข็งของตัวเอง ทั้งละคร ข่าววาไรตี้ รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุน ขณะเดียวกัน กลุ่มช่องที่มีเรตติ้งไม่สูง ก็ต้องเร่งหาจุดขาย บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถเดินหน้าต่อไป

เช่นเดียวกับช่องวัน ที่มีการอัดคอนเทนต์ละครแบบไม่ยั้ง และช่วยฉุดเรตติ้งของช่องที่เคยอยู่ในท้ายตารางขึ้นมาเป็นท็อป 10 ได้ หรือช่อง 8 ที่ดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำอยู่ช่วงหนึ่ง ก็ปรับกลยุทธ์ใหม่ เสริมทัพด้วยซีรี่ส์อินเดีย สร้างกระแสให้กลับขึ้นมาอยู่ในท็อป 5 อีกครั้ง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ช่องที่มีแคแร็กเตอร์ชัด จะสามารถดึงเรตติ้งได้จริง และเรตติ้งก็จะช่วยดึงเม็ดเงินโฆษณามาได้

 

มาดูกันที่ฝั่งมีเดียเอเยนซี่ “ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนส์ จำกัด ผู้ให้บริการวางแผนซื้อขายสื่อโฆษณา กล่าวว่า ปัจจุบันแบ่งทีวีดิจิตอลออก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นช่องที่แข็งแรง มีเรตติ้งดี มีฐานผู้ชมประจำ ได้แก่ ช่อง 7-3 และเวิร์คพอยท์ที่เพิ่งขยับขึ้นมา

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือช่องที่เริ่มมีฐานแฟนประจำ แต่เรตติ้งยังไม่ค่อยเสถียรนัก เช่น โมโน 29 ช่องวัน ช่อง 28 เอสดี

และกลุ่ม 3 คือช่องอื่นๆ ที่เหลือ ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยังน่าเป็นห่วง เพราะเม็ดเงินโฆษณากระจายไปไม่ถึง เนื่องจากเรตติ้งยังไม่ดี

ขณะเดียวกัน การเติบโตของสื่อดิจิตอลที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ และต่อเนื่อง จากพฤติกรรมการเสพสื่อของคนที่เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับสื่อดิจิตอลมากขึ้น ดึงความสนใจจากหน้าจอทีวีไป สินค้าก็หันไปใช้งบฯ กับสื่อดิจิตอลเพิ่มขึ้น และแม้สินค้าจะยังใช้งบฯ ผ่านสื่อทีวีอยู่ แต่ก็ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อทุกอย่างหมุนเร็วขึ้น แม้สื่อเก่าอย่างทีวีจะไม่ถูกลดความสำคัญลง เพราะคนไม่ได้ดูทีวีน้อยลง แต่ดูทีวีจากดีไวซ์ต่างๆ แต่การใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีก็ไม่ได้โตขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาในสื่อดิจิตอลก็กลายเป็นสิ่งที่ฟรีทีวีประมาทไม่ได้เช่นกัน

เป็นความท้าทายใหม่ว่า ช่องทีวีจะแก้โจทย์นี้อย่างไร เพื่อป้องส่วนแบ่งตลาด และสร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง ให้พ้นวิกฤตขาดทุน

ก่อนอายุใบอนุญาตจะหมดลงอีก 12 ปีข้างหน้า