จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (20) เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (20)

เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)

คําถามจึงมีว่า เหตุใดอากู๋ต่าจึงยอมซ่งตามสนธิสัญญาดังกล่าว ในเมื่อกำลังของจินในตอนนั้นก็กล้าแข็ง

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ อากู๋ต่าต้องการให้จีนจ่ายค่าตอบแทนให้จินเป็นรายปีด้วยเงิน 200,000 ตำลึง และผ้าไหม 300,000 พับ รายจ่ายนี้ไม่ทำให้ซ่งที่มีความมั่งคั่งเหลือคณานับถึงกับย่อยยับ อีกทั้งยังดีต่อจินที่เป็นรัฐเกิดใหม่ที่จะมีรายได้เป็นรายปีมาเลี้ยงตนได้อย่างมั่นคง

ยิ่งไปกว่านั้น สนธิสัญญานี้ยังยอมรับฐานะจักรพรรดิของอากู๋ต่าอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการทูตของจีนในยุคนี้มาแต่แรกแล้ว นั่นคือ ซ่งยอมรับอากู๋ต่าเป็น “จักรพรรดิผู้สง่างามแห่งมหาราชวงศ์จิน” (August Emperor of the Great Jin)

ซึ่งบ่งบอกว่า จินมีฐานะที่เสมอด้วยซ่งหลังตั้งราชวงศ์อย่างเป็นทางการมาได้เพียงสิบปี โดยหลังสนธิสัญญานี้ผ่านไปไม่กี่เดือน อากู๋ต่าก็สิ้นพระชนม์

ทิ้งไว้ซึ่งความแข็งแกร่งให้แก่ราชวงศ์จินในอันที่จะเป็นภัยคุกคามของจีนต่อไป

 

ผู้เป็นจักรพรรดิสืบต่อจากอากู๋ต่าคือ อู๋ฉีไหม่ (ค.ศ.1075-1135) ผู้เป็นอนุชา โดยมีพระนามว่า จินไท่จง (ครองราชย์ ค.ศ.1123-1134)

ราชวงศ์จินภายใต้อู๋ฉีไหม่ยังคงเข้มแข็งไม่ต่างกับสมัยอากู๋ต่า และด้วยความเข้มแข็งนี้จินจึงไม่ปล่อยให้เวลาที่จะคุกคามจีนต้องผ่านไป เพราะหลังจากสนธิสัญญาดังกล่าวผ่านไปเพียงสองปี จินก็ตัดสินใจกรีธาทัพเข้าตีซ่งใน ค.ศ.1123

ซึ่งทัพซ่งก็ต้านรับทัพจินด้วยความเข้มแข็ง

แต่ในทางตรงกันข้ามซ่งฮุยจงกลับทรงคิดหนีด้วยวิธีที่ชวนให้สงสัยในความกล้าหาญ นั่นคือ ทรงให้รัชทายาทอยู่รักษาเมืองหลวง แล้วพระองค์ทรงหนีลงทางใต้ ในขณะที่เหล่าเสนามาตย์ก็แตกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรต่อสู้กับทัพจิน อีกฝ่ายเห็นว่าควรประนีประนอมด้วยการเจรจาสงบศึก

ผลคือ รัชทายาททรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดิซ่งชินจง (ครองราชย์ ค.ศ.1125-1126) จากนั้นซ่งฮุยจงก็ทรงหนีจากเมืองหลวงพร้อมกับบุคคลที่ใกล้ชิดไม่กี่คน ครั้นถึงเมืองจิงโข่วซึ่งปัจจุบันคือเมืองเจินเจียง มณฑลเจียงซู ซ่งฮุยจงจึงทรงหยุดหนีเมื่อมั่นใจในความปลอดภัย

ข้างฝ่ายเสนามาตย์ที่แตกเป็นสองฝ่ายดังกล่าวข้างต้นนั้น เมื่อซ่งฮุยจงทรงหนีไปแล้วซ่งชินจงก็ทรงถูกกดดันให้เปิดอภิปรายในหมู่เสนามาตย์ การอภิปรายครั้งนี้ส่งผลให้ขุนนาง “หกโจร” ถูกประหารชีวิต

แต่นั่นมิได้หมายความว่าขุนนางในฝ่ายที่ต้องการเจรจาสงบศึกกับทัพจินจะสูญหายไปด้วย ความจริงแล้วขุนนางในฝ่ายนี้ยังคงมีอยู่พร้อมอิทธิพลในราชสำนัก

ตอนนั้นผู้ที่มีบทบาทสูงคนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายที่เห็นว่าควรต่อสู้กับทัพจินคือ หลี่กัง (ค.ศ.1083-1140) ขุนศึกผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์

 

โดยช่วงหนึ่งของการถกเถียงว่าจะทำศึกกับจินหรือไม่นั้น ฝ่ายที่เห็นควรเจรจากับจินเสนอให้ซ่งชินจงทรงหนีดังซ่งฮุยจง แต่ถูกหลี่กังคัดค้านอย่างหนัก โดยหลี่กังเห็นว่าที่ถูกแล้วควรให้ซ่งชินจงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง

ซ่งชินจงซึ่งทรงเห็นว่าพระองค์ควรหนีจำต้องยอมอยู่เมืองหลวงอย่างเสียมิได้ แล้วปล่อยให้หลี่กังอยู่ทำศึกกับทัพจิน

ผลคือ หลี่กังสามารถระดมไพร่พลพร้อมสรรพาวุธได้พรักพร้อม เมื่อทัพจินบุกเข้าล้อมเมืองหลวง ทัพซ่งจึงตั้งรับเอาไว้ได้ เมื่อทัพจินเห็นว่ายากที่จะโค่นล้มราชวงศ์ซ่งจึงยอมเป็นฝ่ายเจรจาสงบศึก

โดยจินขอให้ซ่งยกเมืองไท่หยวน จงซัน (ปัจจุบันคืออำเภอติ้งในมณฑลเหอเป่ย) และเหอเจียนให้กับตน ส่งเจ้าชายซ่งไปเป็นตัวประกันยังค่ายของจิน และจ่ายค่าสินไหมรายปีเป็นเงิน 300,000 ตำลึง ผ้าไหม 300,000 พับ และเหรียญกษาปณ์ 1 ล้านพวงเงิน (strings of coins)1

ซ่งชินจงทรงยอมตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ในขณะที่หลี่กังคัดค้านอย่างหนักและพร้อมที่จะทำศึกกับจิน ซ่งชินจงจึงทรงให้ปลดหลี่กังออกจากตำแหน่ง การกระทำของพระองค์สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าทหาร บัณฑิต และราษฎร

คนเหล่านี้จำนวนหลายหมื่นคนได้รวมตัวกันที่หน้าวังหลวงทุบทำลายกลองร้องทุกข์ และทุบตีขันทีจนตายไปหลายสิบคน การจลาจลจึงเกิดขึ้นในพระนคร

และได้กดดันซ่งชินจงจนต้องยอมคืนตำแหน่งให้แก่หลี่กัง

 

หลี่กังกลับมาใหม่พร้อมกับกำลังพลราว 200,000 นาย เมื่อทัพจินเห็นเช่นนั้นจึงถอยทัพกลับไป

อย่างไรก็ตาม จินได้กรีธาทัพมาบุกจีนอีกครั้งหนึ่งในปลายปี ค.ศ.1126 คราวนี้ทัพจินได้ล้อมเมืองหลวงเอาไว้ โดยที่ราชสำนักซ่งไม่อยู่ในความพร้อมแม้แต่จะตั้งรับ

เพราะหลังจากที่ทัพจินถอนกลับไปเมื่อปีกลายแล้ว ซ่งชินจงซึ่งทรงเห็นว่าเหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว พระองค์จึงให้รื้อทิ้งค่ายคูประตูหอรบที่หลี่กังสร้างขึ้น ส่วนหลี่กังที่ยังคงคัดค้านดังเดิมก็ได้สร้างความรู้สึกรำคาญพระทัยแก่ซ่งชินจง

จนพระองค์ทรงให้ปลดเขาออกจากตำแหน่งในข้อหาทำให้กำลังพลเสียหายและสิ้นเปลือง

จากเหตุนี้ เมื่อทัพจินยกมาอีกครั้ง ซ่งชินจงก็มิอาจพึ่งพาหลี่กังได้อีก ส่วนกองกำลังที่เหลืออยู่ก็สูญสิ้นขวัญและกำลังใจ เมื่อสิ้นหนทางเช่นนี้ พระองค์จึงทรงหันไปพึ่งพาพวกอันธพาล พ่อมด และคนทราม2 ที่อยู่นอกเมืองหลวงจำนวน 7,777 คนมาเป็นกำลัง

แต่พลันที่กองกำลังเหล่านี้ออกนอกกำแพงไปทำศึกกับทัพจิน ก็ถูกทัพจินตีแตกไม่เป็นขบวน จากนั้นทัพจินจึงบุกเข้าตีเมืองหลวงเปี้ยนจิงพร้อมปล้นสะดมอย่างไม่ยั้งมือ

จนในเดือนมกราคม ค.ศ.1127 ทัพจินก็สามารถยึดเมืองหลวงเอาไว้ได้ จักรพรรดิซ่งชินจง อดีตจักรพรรดิซ่งฮุยจง ตลอดจนเหล่าวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารตกเป็นเชลย จากนั้นก็ปลดซ่งชินจงและซ่งฮุยจงเป็นสามัญชน

 

ครั้นถึงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน อดีตจักรพรรดิทั้งสององค์พร้อมเหล่าเชลยดังกล่าวจึงถูกนำตัวมุ่งสู่ทางเหนือ เหล่าเชลยที่ติดตามอดีตจักรพรรดิทั้งสองมีอยู่ราวสามพันคน ทั้งนี้ ยังไม่นับบรรดาช่างหัตถกรรม ผู้ชำนาญการ ศิลปิน นักดนตรี และนักแสดงอีกราว 15,000 คน

ทั้งหมดนี้มุ่งหน้าไปทางเหนืออันเป็นถิ่นเดิมของจินที่ซึ่งปัจจุบันคือ แมนจูเรีย และด้วยเหตุที่เหตุการณ์นี้ตรงกับรัชสมัยจิ้งคังของซ่งชินจง

เหตุการณ์นี้จึงถูกเรียกว่า หายนะแห่งจิ้งคัง (จิ้งคังจือเปี้ยน, Calamity of JingKang)

สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดจบของซ่งดังกล่าวยังมิใช่จุดจบที่แท้จริง เพราะแม้จินมีชัยเหนือซ่งก็จริง แต่ขุมกำลังเดิมของซ่งก็ยังคงอยู่ ชั่วอยู่แต่ว่าจะตั้งมั่นอยู่ที่ภาคเหนือไม่ได้อีกต่อไป ในเมื่อมันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตั้งแต่ตั้งราชวงศ์เรื่อยมาจนถึงวันที่พ่ายแพ้ให้แก่จินนั้น ซ่งแทบจะมิได้ว่างเว้นจากการถูกคุกคามของเหล่าไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนเลยก็ว่าได้

สภาพเช่นนี้ทำให้เห็นว่า การตั้งอยู่ของซ่งมีความแตกต่างกับการตั้งอยู่ของราชวงศ์อื่นของจีน คงเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ซ่งต้องใช้นโยบายประนีประนอมมากกว่าเผชิญหน้า นโยบายนี้มีต้นทุนที่สูงยิ่งเมื่อนำเอาศักดิ์ศรีมาคิดคำนวณด้วย

แต่ก็เป็นนโยบายที่น่าศึกษามากกว่าน่าเสียดเย้ยดังที่นักวิชาการจีนกระแสหลักเป็นกัน

และภายใต้นโยบายนี้ซ่งในช่วงนี้มีจักรพรรดิปกครองเก้าองค์ ก่อนที่การฟื้นตัวของซ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในดินแดนทางภาคใต้

ด้วยเหตุนั้น ในชั้นหลังต่อมาซ่งในสมัยนี้จึงถูกเรียกว่า ราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่ยซ่ง, Northern Song Dynasty, ค.ศ.960-1127)

1การพกหรือการนับเหรียญกษาปณ์ที่มีจำนวนมากของจีนในสมัยโบราณจะอยู่ในรูปของการร้อยเป็นพวงแล้วเรียกกันว่า พวงเงิน โดยทั่วไปแล้ว 1 พวงเงินจะเท่ากับ 1,000 เหรียญ

2คำว่า “คนทราม” นี้คือคำว่า เสี่ยวเหญิน ในภาษาจีน บางที่ก็เรียกว่า คนถ่อย คนทรามหรือคนถ่อยในสังคมจีนโดยรวมจะหมายถึง คนที่ต่ำต้อยหรือต่ำทราม ไร้มารยาท ไม่รู้กาลเทศะ หากหนักกว่านั้นก็อาจหมายถึงคนกเฬวราก ควรกล่าวด้วยว่า เสี่ยวเหญินในบางกรณียังหมายถึงคนที่มีฐานะต่ำต้อย แต่ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ต่ำทราม และบ่อยครั้งยังเป็นคำที่บุคคลใช้เรียกตัวเองด้วยความถ่อมตน เช่น ข้าผู้น้อย ข้าผู้ต่ำต้อย เป็นต้น