Educational Engineering อาชีพใหม่ เข้าใจได้ใน 5 นาที/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Educational Engineering

อาชีพใหม่ เข้าใจได้ใน 5 นาที

 

ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เรียกกันว่า “ศตวรรษที่ 21” มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในหลากหลายวงการ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในเรื่องของการสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคมที่ดีขึ้นของประชากรโลก

ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือวิทยาศาสตร์และวิทยาการแขนงต่างๆ ก็ล้วนมีการผลิต “นวัตกรรม” ขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดย “นวัตกรรม” ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาจากวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกนำไปต่อยอดขยายผลและใช้งานในแทบจะทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แวดวงการศึกษา”

ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน “การบริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21” ที่มีการเผยแพร่ทฤษฎี และองค์ความรู้เกี่ยวกับ “การบริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21” มาแล้วมากมายอย่างต่อเนื่อง

ความแตกต่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดระหว่าง “การบริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21” กับ “การบริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 20” ก็คือการเน้นเกี่ยวกับ “ทักษะ”

และ “ทักษะ” ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” โดยทักษะหนึ่งซึ่งมีความสำคัญก็คือ “ทักษะการเรียนรู้” หรือ Learning Skill

ดังที่วิจารณ์ พานิช (2556) ได้กล่าวว่า “ทักษะการเรียนรู้” จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็น

ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ที่แม้สาระวิชาจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21

เพราะในปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (Content หรือ Subject Matter) ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของผู้เรียน

โดยผู้สอนมีหน้าที่ให้คำแนะนำ และออกแบบกิจกรรมซึ่งจะช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้

 

เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงการศึกษาว่า หนึ่งใน “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ก็คือ “ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม” ที่จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของผู้เรียนในการเข้าสู่โลกแห่งการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในยุค “ศตวรรษที่ 21”

ซึ่งประกอบด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม, การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา, การสื่อสารและความร่วมมือ นอกจากนี้ ยังมี “ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี” ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน

เหตุผลหลักก็คือ ในยุค “ศตวรรษที่ 21” ได้มีการเกิดขึ้นของช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายนั่นเอง

ดังนั้น ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้หลายด้าน อันประกอบไปด้วยความรู้ด้านสารสนเทศ, ความรู้เกี่ยวกับสื่อ และความรู้ด้านเทคโนโลยี

กล่าวสำหรับนักบริหารการศึกษา ในยุคของ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” ที่ต้องอาศัย “ทักษะ” หลากหลายด้านในการบริหารจัดการ

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “นักบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จะต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” ใหม่ๆ สำหรับนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21

โดยมี Educational Engineering หรือ “วิศวกรรมการศึกษา” เป็นสายงานใหม่ที่จะมาเติมเต็ม “ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม” ของ “ผู้บริหารสถานศึกษา”

เพื่อช่วยให้ “ผู้บริหารสถานศึกษา” สามารถกำหนดทิศทางของการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วย “นวัตกรรม” อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อสอดรับกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ดังที่ W. W. Charters (1945) ได้กล่าวว่า Educational Engineering คือองค์ประกอบของ 2 รายวิชา ได้แก่ รายวิชา Education กับรายวิชา Engineering ที่เคยอยู่กันคนละคณะ เมื่อได้นำมารวมกัน

เกิดเป็นสายงานใหม่ คือ “วิศวกรการศึกษา” ซึ่งมีหน้าที่ช่วยบริหารจัดการ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” ทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา

สอดคล้องกับ Smith (1987) ที่กล่าวว่า Educational Engineering หรือ “วิศวกรรมการศึกษา” เป็นการหลอมรวมรายวิชาวิศวกรรมความรู้ กับรายวิชาวิทยาศาสตร์การรับรู้

เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพการเรียน ในแง่ของการเพิ่มอัตราการเรียนรู้ และประสิทธิผลของการเรียน

เช่นเดียวกับ Jozef Colpaert (2014) ที่กล่าวว่า Educational Engineering คือการบูรณาการกันระหว่างครู (Teacher) กับนักพัฒนาระบบ (System Developer)

นักออกแบบหลักสูตรและระบบการศึกษา (Educational Designer) กับผู้บริหารสถานศึกษา (Manager) และนักวิจัย (Researcher) เพื่อสร้างห้องเรียนที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน Mary F. Heller (2015) ได้กล่าวว่า Educational Engineering คือความร่วมมือกันระหว่าง Educator และ Engineer ในการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้

ให้เหมาะสมสำหรับผู้เรียนแต่ละคน หรือตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน อันนำไปสู่ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

และ Greg Wilson (2015) ได้กล่าวว่า Educational Engineering คือ สาขาอาชีพใหม่ ที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา

ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตามความต้องการของสถานศึกษา และผู้เรียน เพื่อความเหมาะสม และลงตัวของการบริหารจัดการของสถานศึกษา อันนำไปสู่ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์สูงสุดของสถานศึกษา

 

จะเห็นได้ว่า Education Engineer หรือ “วิศวกรการศึกษา” เป็นสายงานใหม่ที่จะมาเติมเต็ม “ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม” ของ “ผู้บริหารสถานศึกษา”

เป็นการหลอมรวมกันระหว่าง Educator และ Engineer เพื่อร่วมกัน หรือ Educational Engineering เป็นสาขาอาชีพใหม่ที่มีอยู่ในคนคนเดียว

ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ ตามความต้องการของสถานศึกษา และผู้เรียน

เพื่อช่วยให้ “ผู้บริหารสถานศึกษา” สามารถกำหนดทิศทางของการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วย “นวัตกรรม” อันนำไปสู่ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์สูงสุดของสถานศึกษา

ดังที่กล่าวไป ว่า “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการศึกษา เพราะ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” คือการนำ “นวัตกรรมทางการศึกษา” เข้ามาปรับประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน

ดังนั้น “องค์กรทางการศึกษา” จึงจำเป็นต้องมี “การจัดการนวัตกรรม” เพื่อนำไปสู่การเป็น “องค์กรแห่งการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของ “การบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21”

ดังนั้น ภารกิจดั้งเดิมของนักบริหารการศึกษาทั้ง 4 ด้าน

อันประกอบด้วยภารกิจด้านการบริหารงานวิชาการ ภารกิจด้านการบริหารงบประมาณ ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคล และภารกิจด้านการบริหารงานทั่วไป

จึงไม่เพียงพอต่อ “การบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ท่ามกลางการกระจายตัวของ “นวัตกรรม” โดยเฉพาะ “นวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จึงมีความจำเป็นที่นักบริหารการศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งรวดเร็ว เข้มข้น และรุนแรง

ดังนั้น “ภารกิจใหม่” ของนักบริหารการศึกษาในยุค “นวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21” จึงต้องเพิ่ม “ภารกิจใหม่” ทางด้าน “การจัดการนวัตกรรม” หรือ “การบริหารนวัตกรรม”

รวมเรียกว่า “ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของแวดวงการศึกษา เพราะในปัจจุบัน การบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ต่างต้องอาศัย “ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม”

Educational Engineering หรือ “วิศวกรรมการศึกษา” จึงเป็นตัวขับเคลื่อนสายงานใหม่ที่จะมาเติมเต็ม “ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม” ของ “ผู้บริหารสถานศึกษา”

เพื่อช่วยให้ “ผู้บริหารสถานศึกษา” สามารถกำหนดทิศทางของการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วย “นวัตกรรม”

ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษา ตามความต้องการของสถานศึกษา และผู้เรียน

อันนำไปสู่ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์สูงสุดของสถานศึกษา

ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อสอดรับกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปนั่นเองครับ