ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : ราชินีลายจุด (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ย้อนอ่านราชินีลายจุด ตอนที่1 คลิก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 คูซามะโอบรับการมาถึงของกระแสวัฒนธรรมฮิปปี้ เธอเริ่มทำงานศิลปะสถานการณ์ (Happening Art) ที่อวลกลิ่นอายของบุปผาชน ในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านอย่าง สวนสาธารณะเซ็นทรัลปาร์ก และสะพานบรู๊กลิน ด้วยการที่เธอและเพื่อนๆ เปลือยกายและป้ายเนื้อตัวด้วยสี และถือป้ายประท้วงสงครามเวียดนาม

ว่ากันว่าครั้งหนึ่งเธอถึงกับเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน โดยเสนอว่าเธอจะมีเซ็กซ์แบบสุดเหวี่ยงกับเขา ถ้าเขายุติสงครามเวียดนาม (ซึ่งนิกสันก็ไม่ได้ตอบสนองข้อเสนอของเธอแต่อย่างใด อ่านะ!)

ในช่วงปี 1967 และ 1969 เธอมุ่งทำงานศิลปะแสดงสดเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการที่เธอวาดภาพลวดลายจุดกลมสีสันสดใสลงบนร่างเปลือยของผู้ร่วมแสดง

อย่างเช่นในผลงาน Grand Orgy to Awaken the Dead at the MoMA (1969) ซึ่งแสดงอยู่ในสวนสาธารณะของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของนิวยอร์ก (MoMA) โดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้า

นักแสดงแปดคนภายใต้การกำกับของคูซามะต่างเปลื้องเสื้อผ้าของตัวเองออก และเดินเปลือยเข้าไปในน้ำพุในสวน แสดงท่าทางเลียนแบบประติมากรรมของศิลปินชื่อก้องอย่าง ปิกัสโซ่, จิอาโคเม็ตติ (Alberto Giacometti) และ เมลลอล (Aristide Maillol) ที่อยู่ใกล้ๆ

ในปี 1968 เธอจัดงานแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันก่อนที่การแต่งงานของรักร่วมเพศจะเป็นเรื่องถูกกฎหมาย (ในปี 2011) เสียอีก (ซึ่งจริงๆ มันก็คืองานศิลปะแฮปเพนนิ่งของเธอนั่นแหละนะ)

เธอเปิดสตูดิโอวาดภาพและคลับของชาวเกย์ที่มีชื่อว่า Kusama “Omophile Kompany ขึ้น (เปรี้ยวซะไม่มี!)

ในปี 1966 คูซามะเข้าร่วมในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ (ครั้งที่ 33) เป็นครั้งแรก

ผลงานของเธอมีชื่อว่า Narcissus Garden ซึ่งประกอบด้วยลูกบอลทรงกลมผิวมันวาวเหมือนกระจกเงานับร้อยลูกวางอยู่กลางแจ้ง

เธอเรียกพวกมันว่า “พรมเคลื่อนไหว” (Kinetic Carpet) เมื่องานศิลปะชุดนี้ติดตั้งเสร็จบนสนามหญ้าหน้าอิตาเลียนพาวิลเลียน คูซามะที่อยู่ในชุดกิโมโนสีทอง เริ่มต้นขายลูกบอลทีละใบในราคา 1,200 ลีร์ หรือ 2 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ จoกระทั่งทีมผู้จัดงานมายุติการขายของเธอ

ผลงานชิ้นนี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ตนเองของศิลปินผ่านสื่อและการวิพากษ์วิจารณ์กลไกการแลกเปลี่ยนในตลาดศิลปะ

ในช่วงเวลาที่อยู่ในนิวยอร์ก เธอมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับศิลปินเซอร์เiuยลลิสม์ โจเซฟ คอร์แนล (Joseph Cornell) ทั้งๆ ที่เขามีอายุมากกว่าเธอ 26 ปี ถึงแม้พวกเขาจะผูกสมัครรักใคร่หลงใหลในกัน พวกเขาโทร.หากันทุกวัน วาดภาพกันและกัน เขามักจะส่งภาพคอลลาจของตัวเองให้เธอ

แต่ว่ากันว่าทั้งคู่ก็ไม่ได้มีเซ็กซ์กันเลยด้วยซ้ำ

แนวทางศิลปะของคอร์แนลส่งอิทธิพลให้คูซามะหันมาทำงานคอลลาจรูปแมลง นก สิ่งมีชีวิตในทะเล สัตว์ ประกอบกับการวาดลายเส้นด้วยหมึก สีพาสเทล สีน้ำ และสีน้ำมันบนกระดาษ

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยืนยาวจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเขาในปี 1972

ในช่วงนั้นผลงานของเธอเต็มไปด้วยความมืดหม่นและสื่อถึงเรื่องราวของความตาย

อันแสดงถึงสภาวะทางจิตใจอันย่ำแย่ของเธอ จากการสูญเสียคู่รัก รวมถึงการจากไปของพ่อของเธออีกด้วย

ในปี 1973 คูซามะหวนกลับไปที่ญี่ปุ่นด้วยปัญหาทางสุขภาพ ที่นั่น เธอเริ่มต้นการเป็นนายหน้าค้างานศิลปะ แต่ธุรกิจของเธอก็ปิดไปเพียงไม่กี่ปีให้หลัง

ในปี 1977 เธอก็ส่งตัวเองเข้าไปเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่โตกียว ด้วยอาการป่วยทางจิตที่กำเริบ และเลือกพำนักอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นการถาวรนับตั้งแต่นั้นมา

แต่เธอก็ยังคงทำงานศิลปะต่อไป โดยเธอเปิดสตูดิโอในละแวกใกล้ๆ กัน เธอมักกล่าวว่า “ถ้าไม่ใช่เพราะศิลปะ เธออาจจะฆ่าตัวตายไปนานแล้ว”

ในช่วงนั้นเธอเริ่มต้นผลิตงานศิลปะในหลากสื่อ หลายรูปแบบ ภาพวาดของเธอเริ่มยกระดับจากการใช้สีสันเพียงไม่กี่สี ไปสู่การใช้สีสันจัดจ้าน และเปลี่ยนมาใช้สีอะครuลิdวาดภาพบนผืนผ้าใบในขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก

ถึงแม้ในช่วงที่เธอลาจากนิวยอร์กมา ชื่อเสียงของเธอจะสร่างซาและถูกลืมเลือนไปจากวงการศิลปะไประยะหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงปลายปี 1980 และต้นปี 1990 เมื่อมีการจัดงานนิทรรศการย้อนหลังผลงานของเธอบ่อยครั้ง ชื่อเสียงของเธอจึงเริ่มกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากภาพวาดลวดลวยจุดกลมแล้ว ผลงานที่โดดเด่นเป็นสง่าของเธออีกอย่างก็คือภาพวาดและประติมากรรมฟักทองสีเหลืองอร่ามที่มีลวดลายจุดสีดำประดับจนลายพร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่แสดงในเจแปนพาวิลเลี่ยนในเทศกาลศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ในปี 1993 ที่เป็นห้องกระจกเงาเต็มไปด้วยประติมากรรมรูปฟักทองสีเหลืองจุดดำขนาดเล็กทั่วทั้งห้องที่สะท้อนเงาในกระจกจนดูเหมือนมีมากมายไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งเจ้าฟักทองนี้เองที่กลายเป็นตัวตนที่สองหรือสัญลักษณ์แทนตัวตนของเธอ ซึ่งน่าจะได้แรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพืชพันธุ์ ในงานเปิดนิทรรศการ เธอแต่งตัวในชุดสีเหลืองลายจุดและแจกประติมากรรมฟักทองเล็กๆ ให้กับผู้เข้าชมงาน

เคยมีคนถามว่าทำไมเธอถึงใช้รูปฟักทองในงานศิลปะของเธอ เธอตอบว่า “ฟักทองมันดูน่าตลกขบขันดี” ซึ่งเป็นคำตอบที่เธอเลียนแบบ แอนดี้ วอร์ฮอล ที่กล่าวถึงวอลล์เปเปอร์รูปวัวเพื่อเป็นการแดกดันเขานั่นเอง (แสบไหมล่ะ?)

ในช่วงปี 1990s เธอร่วมทำกิจกรรมทางศิลปะกลางแจ้งและศิลปะสาธารณะ อาทิ Pumpkin (1994) ประติมากรรมรูปฟักทองขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและสถาปัตยกรรม Benesse Art Site Naoshima หรืองานศิลปะสาธารณะที่พิพิธภัณฑ์ National Art Center ในโตเกียว ที่เธอห่อหุ้มผ้าลายจุดวงกลมสีขาวบนพื้นแดงรอบต้นไม้ที่อยู่รอบๆ พิพิธภัณฑ์

คูซามะทำงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดเจ็ดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผลงานของเธอเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อันแปลกใหม่และแนวทางอันหลากหลาย ในปี 2017 นิทรรศการแสดงงานศิลปะย้อนหลังในรอบ 50 ปีของเธอถูกจัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะฮิโรชิม่า และพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่วอชิงตัน ดี.ซี. และเดินทางไปแสดงในอีกห้าพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐและแคนาดา

ผลงานประติมากรรมฟักทองในห้องกระจกอันไม่มีที่สิ้นสุดของเธอที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะฮิโรชิม่าต้องปิดลงชั่วคราวเพราะเสียหายจากการเข้าชมอย่างล้นหลามของผู้ชม

นอกจากการทำงานทัศนศิลป์แล้ว เธอยังทำงานในสาขาอื่นอย่างงานแฟชั่น เช่นในปี 1968 เธอเปิดบริษัทแฟชั่น Kusama Fashion Company Ltd. และจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นแหวกแนวของเธอในร้าน Kusama Corner ที่ห้างบลูมมิ่งเดล

อีกหลายปีให้หลัง คูซามะได้ออกแบบสินค้าแฟชั่นให้กับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกอย่าง Louis Vuitton ที่ประกอบด้วยเสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา และเครื่องประดับ ที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายลวงตาคล้ายรยางค์นับไม่ถ้วน และลวดลายจุดกลมอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเธอที่ถูกวางขายไปทั่วโลก โดย มาร์ก เจค็อบส์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ Louis Vuitton ได้พบกับคูซามะเป็นครั้งแรกในปี 2006 และถูกดึงดูดโดยพลังงานอันไร้ที่สิ้นสุด และความสามารถในการสร้างโลกอันไร้ขอบเขตของเธอ

ส่วนคูซามะเองก็กล่าวถึงเจค็อบส์ว่า ทัศนคติอันจริงใจที่มีต่อศิลปะของเขานั้นเป็นเช่นเดียวกับเธอไม่ผิดเพี้ยน

ในปี 2011 เธอวาดภาพประกอบบนลิปกลอสที่ผลิตในจำนวนจำกัดให้กับแบรนด์ Lanc?me อีกด้วย

ในส่วนของศิลปะภาพยนตร์ เธอกำกับฯ และนำแสดงในหนังเรื่อง Kusama”s Self-Obliteration (1968) รวมถึงร่วมแสดงในหนัง Tokyo Decadence (1991) ของ เรียว มูราคามิ

นอกจากนั้นในช่วงที่เธอกลับจากนิวยอร์กใหม่ๆ เธอยังเขียนบทกวี เรื่องสั้น และนวนิยายเซอร์เรียลลิสม์ และอัตชีวประวัติ และตีพิมพ์หนังสือของตัวเองออกมาหลากหลายเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กซ์ ความรุนแรง ยาเสพติด ภาพหลอน ความป่วยทางจิต ความตาย การฆ่าตัวตาย

เธอเขียนเรื่องราวเหล่านี้เพื่อแสดงออกถึงสิ่งที่เธอไม่สามารถแสดงออกผ่านงานศิลปะของเธอได้ และด้วยความคิดถึงภาษาญี่ปุ่นที่เธอห่างเหินจากการย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐเสียนานนั่นเอง

ถึงแม้ผลงานศิลปะของ ยาโยย คูซามะ จะเป็นส่วนผสมของแนวทางศิลปะอันหลายหลากอย่าง ศิลปะคอนเซ็ปช่วล, ศิลปะป๊อป, ศิลปะมินิมอลลิสม์, ศิลปะเฟมินิสต์ และศิลปะแอ็บสแตรก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่หลอมรวมเข้ากับกับชีวประวัติส่วนตัว ความป่วยไข้ทางจิต และประเด็นทางเพศ แต่เธอก็ไม่เคยถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระแสศิลปะแนวทางไหนทั้งสิ้น

เธอมักจะเรียกแนวทางศิลปะในแบบของเธอว่า “งานศิลปะแบบคูซามะ”

และแม้เธอจะเป็นหนึ่งในหัวหอกศิลปินหัวก้าวหน้าของนิวยอร์ก แต่เธอคอยกระตุ้นเตือนไม่ให้โลกศิลปะลืมว่ารากเหง้าที่แท้จริงเธอเป็นคนญี่ปุ่น ด้วยการสวมชุดกิโมโนญี่ปุ่นไปงานเปิดของเธอเสมอๆ

ผลงานของคูซามะถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการย้อนหลังในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำทั่วโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ MoMA, พิพิธภัณฑ์ Whitney, พิพิธภัณฑ์ Tate Modern หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ฮิโรชิม่า ในปี 2006 เธอได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จากองค์กร Women”s Caucus for Art ของนิวยอร์ก

ในปี 2008 ผลงานของเธอถูกสถาบันคริสตี้ แห่งนิวยอร์ก ประมูลขายในราคา 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดของศิลปินหญิงที่ยังมีชีวิตอยู่

เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นที่ยังคงมีชีวิตอยู่ และยังคงเป็นศิลปินคนสำคัญของกระแสศิลปะอาวองการ์ดเสมอมา

ล่าสุดมีข่าวดีให้คอศิลปะบ้านเราทั้งหลายได้ตื่นเต้นกัน ก็คือเมื่อไม่นานมานี้ มีงานแสดงนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ยาโยย คูซามะ จัดขึ้นที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่างสิงคโปร์

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Life is the Heart of the Rainbow ที่รวบรวมผลงานศิลปะกว่า 120 ชิ้นในหลากสื่อหลายประเภท ที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นตลอด 70 ปีของชีวิตการทำงานศิลปะ

นอกจากนั้น ยังมีผลงานชิ้นใหม่ที่เธอทำขึ้นสำหรับนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

นิทรรศการ Life is the Heart of the Rainbow แสดงตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ถึง 3 กันยายน 2017 ที่หอศิลป์แห่งชาติ สิงคโปร์ (Nationtal Gallery Singapore) (City Hall Wing, ชั้น 3, Singtel Special Exhibition Gallery)

ใครเป็นมิตรรักแฟนคลับของราชินีลายจุดมีโอกาสแวะเวียนไปแถวนั้นก็เชิญเข้าไปชมกันได้ตามอัธยาศัย

หรือสนใจเข้าไปจองตั๋วเข้าชมได้ที่นี่เลย https://goo.gl/f6mcEJ