แก้รัฐธรรมนูญ ‘ผ่าน’ แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ลุ้นต่อปั้น ‘กม.ลูก’ ผวาซ้ำ ลือ ‘ยุบสภา’ ทำสะดุด/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

แก้รัฐธรรมนูญ ‘ผ่าน’

แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ

ลุ้นต่อปั้น ‘กม.ลูก’

ผวาซ้ำ ลือ ‘ยุบสภา’ ทำสะดุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับความไว้วางใจจากการประชุมร่วมของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เมื่อวันที่ 10 กันยายน ถือว่าสิ้นสุดการพิจารณาทั้ง 3 วาระ

ถือว่าผ่านด่านอรหันต์ทั้ง 3 ด่าน คือ เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาที่มีอยู่ เสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็นต์ และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง มาแบบไม่หมิ่นแหม่ ทั้งสาย ‘บิ๊กตู่’ ‘บิ๊กป้อม’ ก็ให้ผ่าน

จากนี้ก็เว้นไว้อีก 15 วัน ก่อนส่งให้นายกฯ และจากนั้นนายกฯ ก็ทิ้งไว้อีก 5 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้าฯ ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

แต่มันยังไม่จบแค่นั้น หนทางยังไกลอีกหลายหมื่นลี้ เต็มไปด้วยหลุม บ่อ เส้นทางขรุขระ เดินไม่ดีอาจหัวคะมำล้มคว่ำได้ง่ายๆ

 

“ช่วงเดดแอร์” ประมาณ 20 วันนี้ มีโอกาสที่จะมีกลุ่มการเมืองที่ไม่พอใจกับร่างรัฐธรรมนูญ อันมีหัวใจสำคัญเดียวคือ ระบบการเลือกตั้ง ที่หันไปใช้บัตร 2 ใบ และ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นที่ชัดเจนว่า การหวนกลับไปใช้บัตร 2 ใบ เป็นความตั้งใจให้มีพรรคการเมืองที่ผ่านด่านการเลือกตั้งไม่กี่พรรค เพื่อสร้างสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง หรืออาจจะถึงขั้นเป็นการร่วมรัฐบาลแค่ 2 พรรคใหญ่

พรรคขนาดกลาง พรรคจิ๋ว พรรคจ้อย ก็หลุดออกจากวงโครจรไปเลย ทำให้พรรคเล็กกว่า 10 พรรคที่ประกาศอยู่ฝ่ายรัฐบาล เริ่มดิ้นพล่านกลัวไม่มีที่ยืนทางการเมือง ออกอาการจะล้มกติกาใหม่ที่ส่งผลเสียต่อตัวเอง โดยใช้บริการ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เข้ามาชี้ขาดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

แต่ล่าสุดก็เหมือนว่ายังรวมเสียงได้ไม่ครบ

กระนั้นก็ไม่ใช่ว่า ในนาทีสุดท้ายจะไม่มีใครเอาด้วย เพราะเกมการเมืองตอนนี้เต็มไปด้วยการต่อรองผลประโยชน์ที่ยากจะคาดเดา

 

อีกหนึ่งความกังวลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังทำให้พรรคการเมืองหายใจได้ไม่ทั่วท้องคือ การทำกฎหมายลูกออกมารองรับและกำหนดรายละเอียดการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนน การนับคะแนน การประกาศผล การกำหนดมาตรการต่างๆ

ที่สำคัญที่สุดคือ ‘การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ’ จะต้องคิดจากฐานเท่าไหร่ ใช้บัตรใบที่ 2 มาคำนวณ หรือใช้บัตรทั้ง 2 ใบกันแน่ เป็นหัวใจสำคัญ กำหนดทิศทางในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้แบบเห็นเค้าโครงที่ชัดเจนอยู่แล้ว

เป็นเรื่องยิบย่อยที่ยังถกเถียงว่าจะคำนวณด้วยสูตรอะไร เพราะแต่ละพรรคก็มี ‘ธง’ ในใจว่า ชงแบบไหนจะเป็นประโยชน์ทำให้ได้เสียง ส.ส.ในนามของพรรคได้มากที่สุด

เบื้องต้นคงแบ่ง ‘ความพิศวาส’ ในจำนวนบัตรเลือกตั้ง ได้หยาบๆ ดังนี้ คือ ที่ชอบบัตรคู่ หรือบัตร 2 ใบ คือพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ และจะเป็นเจ้าภาพในการจัดทำกฎหมายลูก โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ได้มอบหมายให้วิปของพรรคหารือกับวิป 3 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าว

ถือเป็นช่วงของการเจรจาต่อรอง เพื่อตกผลึกชงสูตรคำนวณในขั้นสุดท้าย เข้าทางใครก็ตอนนั้นแหละ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

กลุ่มชอบบัตรใบเดียว คือ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กต่างๆ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ต้องการให้เสียงของประชาชนตกน้ำ ต่อให้ไม่ป๊อปปูลาร์ในพื้นที่จังหวัด ยังมีโอกาสได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อได้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และประธานวิปพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า จะเจรจาต่อรองสูตรการคำนวณอย่างถึงที่สุด คาดว่าชงไปชงมา คงจะได้รูปแบบการคำนวณแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกก็ได้

ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลางทั้ง 2 พรรค กำลังหารือจับมือกันชงสูตรเสนอกฎหมายลูกเข้าไปเพื่อให้คณะทำงานจัดการแก้ไขพิจารณา โดยแย้มว่า อยากให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นไปอย่างเป็นกลาง อาจจะใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) + รัฐธรรมนูญ 2540+2550 ทำทุกทางเพื่อให้พรรคกลางและพรรคเล็กยังอยู่ในสนามการเมืองได้

ส่วน ส.ว.ก็อยู่เหนือลม มองสภาล่าง หาช่องมีชีวิตรอด ส่วนตัวเองก็รอการสั่งงานจากคนคนเดียวว่าจะเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา เพราะเหตุหนี้บุญคุณค้ำคออยู่

 

อุปสรรคขวากหนามยังมีขวางกั้นอีก เมื่อคำว่า ‘ยุบสภา’ ถูกลือหนาหู ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้ถึงทางตัน บริหารประเทศแก้วิกฤตโรคระบาดเหลว แถมยังถังแตก เศรษฐกิจดิ่งเหว ไปพร้อมกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ก็เดากันว่า ‘นายกฯ ตู่’ จะล้มกระดาน รีเซ็ตเกมใหม่ ขอใช้สนามเลือกตั้ง ‘ชุบตัว’ อีกครั้งหนึ่ง จะได้หยุดคำครหา ไล่เช้า ไล่เย็น ว่า ประชาชนไม่ต้องการเสียที

แต่พอ ‘บิ๊กตู่’ ผ่านศึกซักฟอก และเซ็นสั่งปลดกบฏ 2 รมช. ‘ธรรมนัส-นฤมล’ นายกฯ กลับดูเหมือนยังติดลมการเมือง พยายามปรับตัวเองเข้าหา ส.ส. ยิ้มแย้มเข้าทักทายรัฐมนตรีในช่วงการประชุม ครม. เดินไหว้รอบห้อง ถึงขั้นเปิดห้องรับรองเพื่อเลี้ยงกาแฟพวกที่เคยกระด้างกระเดื่อง ต้องก้มหัวเดินเข้าไปทักทาย เพราะรู้แล้วว่า ‘บารมี’ ยังคุ้มครองคนชื่อ ‘ประยุทธ์’ ทำให้ ส.ส.เริ่มแปรพักตร์อยากตีซี้ด้วย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่เจ็บช้ำเพราะคนใกล้ตัว ถึงขั้นอวยใหญ่ว่า “ที่ทุกคนมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐนี้ เพราะพรรคเสนอชื่อคนเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี” จากท่าทีนี้ก็เดาว่า พล.อ.ประยุทธ์คงตื่นรู้ว่า การทำตัวห่างเหิน ส.ส. ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองในอนาคตแน่นอน จึงต้องมีพรรคพวกเป็นมือไม้เอาไว้คุม ส.ส.บ้าง

“ที่สื่อมวลชนกังวลกันนี้ เพราะตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าจะมีการยุบสภา แต่ถ้าไม่ได้คิดว่าจะมีการยุบสภา ทุกอย่างก็จะเดินไปตามปกติ ทุกอย่างก็จะเสร็จก่อนยุบสภา ไม่ต้องกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวอีกแล้ว” นี่คือคำกล่าวของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กุนซือมือกฎหมายเคียงคู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ก่อการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

ในยามการเมืองมีเสถียรภาพ ดุลอำนาจเคลียร์กันลงตัว คงไม่มีใครคิดถึงคำว่า ‘ยุบสภา’ แต่ ‘สภาพ’ ก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ระบบการเมืองป่วยเรื้อรัง เจ็บออดๆ แอดๆ มาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซ้ำร้ายยังมาเจอภัยโรคระบาด ฝ่ายผู้มีอำนาจแบ่งกลุ่ม แบ่งก๊ก แก่งแย่งผลประโยชน์อย่างไร้ยางอาย บริหารประเทศเหมือนเด็กเอาแต่ใจ อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ

การที่จะคิดไกลถึงขั้นยุบสภา จึงไม่ได้เกินเลยไปนัก ก่อนหน้านี้ นายวิษณุยังยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านการพิจารณาไป ‘ไม่สมบูรณ์’ อย่างที่ใครๆ ก็รู้กัน และยอมรับว่าหากเกิดซีนยุบภา ต้องใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญใหม่ และถ้ากฎหมายลูกยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะเป็นปัญหา แต่มีทางแก้ไว้แล้ว และอาจจะขัดใจกับบางฝ่ายบ้าง

ฟังดูแล้วก็ยุ่งอีรุงตุงนัง ไร้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากนี้ประชาชนที่อยู่นอกสังเวียน ก็แค่รอๆ ไปพร้อมกับการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด

เฝ้าดูให้ชัดว่า สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นแค่มวยล้มต้มคนดู หรือไม่

“ไปเดาใจคนกันเอาเอง”