แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก (จบ)/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก (จบ)

 

แซ็งเต็กซูเปรีได้เข้าร่วมในกองทัพอากาศฝรั่งเศสอีกครั้งในเดือนเมษายน ค.ศ.1943

เนื่องจากเขาอายุมากสำหรับการบินและร่างกายยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์เพราะเคยประสบอุบัติเหตุหลายครั้ง เขาจึงวิ่งเต้นใช้เส้นสายจนได้รับอนุญาตให้บินลาดตระเวนกับกลุ่ม II/33 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับฝูง

แต่เกิดเหตุต่างๆ หลายเหตุ จึงต้องหยุดบินตั้งแต่เดือนสิงหาคม เขาไปพำนักอยู่บ้านเพื่อนที่เมืองแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย เขาพยายามวิ่งเต้นขอกลับไปบินใหม่พร้อมๆ กับเขียนรวมบทความชื่อ ป้อมปราการ (Citadelle) ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.1944 เขาได้รับอนุญาตให้กลับไปยังกลุ่ม II/33 ได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นตั้งฐานอยู่ที่เมืองอัลเกโร บนเกาะซาร์ดิเนีย ทางใต้ของเกาะคอร์สิกา

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม กลุ่ม II/33 ย้ายฐานไปตั้งที่เมืองบอร์โก ไม่ไกลจากเมืองบาสเตีย บนเกาะคอร์สิกา

แซ็งเต็กซูเปรีมีสิทธิ์บินถึงวันที่ 1 สิงหาคมเท่านั้น วันที่ 31 กรกฎาคม เขาขับเรือบิน P38 ออกจากฐานทัพเมื่อเวลา 08.45 น. มีกำหนดกลับตอนเที่ยง เขาได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพโดยละเอียดเพื่อการทำแผนที่แถบหุบเขาแม่น้ำโรน-เมืองอานซี-ภูมิภาคโปรว็องซ์เพื่อให้ได้เส้นทางชัดเจนสำหรับการขึ้นบกที่โปรว็องซ์ ซึ่งคาดการณ์ไว้ในวันที่ 15 สิงหาคม

เมื่อเรือบินขึ้นสู่ท้องฟ้า เขาไม่ได้เปิดเครื่องรับวิทยุสื่อสารกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการบินบนพื้นดินหรือนักบินอื่นที่บินลาดตระเวน

 

แซ็งเต็กซูเปรีไม่ได้กลับมา

8กันยายน ค.ศ.1944 รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศอย่างเป็นทางการว่าเขาสูญหายระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนทางอากาศ

20 กันยายน ค.ศ.1945 รัฐบาลฝรั่งเศสเชิดชูเกียรติยศว่า “ถึงแก่ความตายเพื่อประเทศฝรั่งเศส” (Mort pour la France)

17 กันยายน ค.ศ.1965 รัฐบาลฝรั่งเศส โดย Jean Sainteny รัฐมนตรีกิจการทหารผ่านศึกและผู้รับเคราะห์จากสงคราม ประกอบพิธีจารึกชื่อบนเสาต้นหนึ่งในวิหารป็องเต-อง อันเป็นอนุสรณ์สถานแสดงความรู้คุณต่อผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อปิตุภูมิ ความว่า

A LA MEMOIRE DE

ANTOINE DE SAINT-EXUPERY

POETE ROMANCIER AVIATEUR

DISPARU AU COURS D’UNE MISSION

DE RECONNAISSANCE AERIENNE

LE 31 JUILLET 1944

เพื่อรำลึกถึง

อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี

กวี นักประพันธ์ นักบิน

ผู้สูญหายในภารกิจ

ลาดตระเวนทางอากาศ

วันที่ 31 กรกฎาคม 1944

13 ธันวาคม ค.ศ.2016 กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสจัดพิธีรำลึกถึงแซ็งเต็กซูเปรีในวิหารป็องเต-อง เนื่องในวาระ เจ้าชายน้อย ครบ 70 ปี ทั้งนี้ นับจากปีที่สำนักพิมพ์กัลลิมาร์ด์ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส คือ ค.ศ.1946

 

เมื่อแซ็งเต็กซูเปรีสูญหายไปก็มีผู้ให้ข้อมูลต่างๆ นานา

ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1948 Gaston Gallimard ได้รับจดหมายจากศาสนาจารย์ชาวเยอรมันชื่อ Korth ซึ่งเคยทำหน้าที่ด้านข่าวกรองระหว่างสงครามว่า ในคืนวันที่ 31 กรกฎาคม ต่อ 1 สิงหาคม ค.ศ.1944 เขาได้รับข่าวว่ามีเรือบินลาดตระเวนของฝ่ายพันธมิตรถูกยิงตกทะเลใกล้กับเกาะคอร์สิกา

แต่นาวาอากาศเอก Ren? Gavoille ผู้บังคับบัญชากลุ่ม II/33 เชื่อว่า Korth จดบันทึกผิดวัน เพราะมีนักบินลาดตระเวนอีกคนชื่อ Gene Meredith ซึ่งเรือบินของเขาถูกยิงตกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม

ในปี ค.ศ.1970 มีผู้พบเอกสารในหอจดหมายเหตุเยอรมัน บันทึกไว้ว่า ในวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1944 เรือบิน P38 พุ่งเข้าใส่เรือบินขับไล่เยอรมันสองลำโดยมิได้ยิง เรือบินขับไล่หลบออกและบินตามหลังได้ จึงยิงถูกเครื่อง P38 เกิดไฟไหม้ ตกลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและจมลง

ยี่สิบแปดปีต่อมา นิตยสารรายสัปดาห์ Le Point ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1998 ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการสูญหายของแซ็งเต็กซูเปรีว่า Jean-Claude Bianco ชาวประมงเมืองมาร์เซย ออกไปทอดแหเมื่อวันที่ 7 กันยายน ได้ชิ้นส่วนซากเรือบินและสร้อยข้อมือ (gourmette/lace) ของแซ็งเต็กซูเปรี

เขานำความไปบอก Henri Germain Delauze ประธานบริษัท Comex ซึ่งดำเนินกิจการใต้ทะเล

บุคคลผู้นี้ส่งเรือติดอุปกรณ์ไฟฟ้าออกค้นหาเพิ่มเติมเป็นความลับ

แต่เมื่อถึงวันที่ 28 ตุลาคม ความลับรั่วไหล หนังสือพิมพ์ลงข่าวนี้

ญาติพี่น้องของแซ็งเต็กซูเปรีโกรธที่บริษัทไม่แจ้งให้ทราบ ต้องมาทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์ จึงให้ทนายความจัดการเรียกสร้อยข้อมือคืน

พร้อมทั้งขอทราบรายได้ของบริษัทจากการขายภาพถ่ายและที่กำลังจะขาย อีกทั้งให้ยุติการค้นหา ด้วยว่าร่างของนักบินที่สูญหายจะต้องเก็บไว้ใต้ท้องทะเลเช่นนั้น เช่นเดียวกับร่างของ Jean Mermoz (ค.ศ.1901-1936) และของ Henri Guillaumet (ค.ศ.1902-1940) สองนักบินรุ่นบุกเบิกของบริษัทอาเอโรโปสตาล และด้วยว่า

“…เจ้าชายน้อยได้กลับไปยังดวงดาวของเขาแล้ว เพราะในเช้าวันรุ่งขึ้น ฉันไม่พบร่างของเขาอีก” (บทที่ 27)

เนื่องจากซากเรือบินถือเป็นสมบัติของกองทัพอากาศและบริษัทไม่ได้ขออนุญาตค้นหาทั้งจากกองทัพอากาศและกองตำรวจน้ำ ชาวประมงเองก็ถูกตำรวจสอบสวน นอกจากนี้ การไม่แจ้งว่าพบถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

กองทัพอากาศได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.2003 ว่าได้พบซากเรือบิน P38 ใต้น่านน้ำใกล้เมืองมาร์เซย

 

ผู้เขียนใคร่ขอจบบทความ ‘แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก’ ด้วยบทแปลข้อเขียนของมารี เดอ แซ็งเต็กซูเปรี (ค.ศ.1875-1972) ผู้เป็นมารดา ซึ่งเขียนไว้ในบทกล่าวนำในหนังสือชื่อ จดหมายถึงแม่ (Lettres ? sa m?re) ซึ่งเธอเป็นผู้รวบรวม ลงวันที่ และอนุญาตให้สำนักพิมพ์กัลลิมาร์ด์ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1955

บทแปลต่อไปนี้แปลจากบทกล่าวนำช่วงสุดท้าย

เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก อ็องตวนมีแต่ความตื่นตาตื่นใจและมีความสุข

ความยากลำบากที่ประสบในชีวิตทำให้เขาเป็นบุรุษที่มีสติรู้รับผิดชอบ เส้นทางการบินสร้างให้เขาเป็นวีรบุรุษและเป็นนักประดิษฐ์

การลี้ภัยอาจทำให้เขาเป็นนักบุญ

แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าความเป็นวีรบุรุษ ความเป็นนักประพันธ์ ความเป็นผู้ร่ายมนต์ ความเป็นนักบุญ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับเขา นั่นก็คือความรู้สึกอ่อนโยนอันไม่มีที่สิ้นสุดของเขา

“บนเส้นทาง ดวงดาวย่อมไม่อ่อนแสง เราจึงควรเป็นผู้ให้ ให้ และให้”

เมื่อครั้งเป็นเด็กน้อย เขาเดินอ้อมเพื่อไม่ต้องเหยียบหนอนผีเสื้อ

เขาปีนขึ้นไปบนยอดสนเพื่อทำให้พวกนกเขาเชื่อง

ในทะเลทราย เขาทำให้ฝูงกวางคุ้นเคย

เขาสร้างความผูกพันกับพวกแขกมัวร์

แล้วตอนนี้ หลังจากเงียบงันไปหลายปี เขากลับมาสร้างความผูกพันกับเพื่อนมนุษย์ต่อ

“ทำให้เชื่องหมายความว่าอะไรครับ” เจ้าชายน้อยถาม และหมาจิ้งจอกตอบว่า “มันหมายถึง ‘การสร้างความผูกพัน’…”

ในจดหมายฉบับสุดท้ายที่เราได้รับจากอ็องตวน มีประโยคนี้

“ถ้าผมได้กลับมา สิ่งที่ผมจะใส่ใจคำนึงถึงคือ เราจะพูดกับเพื่อนมนุษย์ว่าอย่างไร”

ประโยคนี้ทำให้ดิฉันตกลงใจแบ่งปันสารของเขามายังพวกคุณ

มารี เดอ แซ็งเต็กซูเปรี