8 วิทูทัศนา : ความเป็นชาติ ‘มอญ-เขมร’ (2)/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

8 วิทูทัศนา

: ความเป็นชาติ ‘มอญ-เขมร’ (2)

 

5.ทัศนะเมียะ ฮม

เมียะ ฮม อดีตข้าราชการประจำที่เขียนบทความประวัติศาสตร์ “พงศาวดารขอม” อ้างรัฐแห่งหนึ่งในอินเดีย (ชมพูทวีป) ที่เรียกตนเองว่า “ขอมปุตตะ” (ก็อมปุตตะ) หรือ “ขอมโพช” (ก็อมโพช)

เมียะ ฮม อ้างว่า โดยเหตุที่ชาวพื้นเมืองขอมโพช หรือกัมโพชของชมพูทวีปได้อพยพตั้งรกรากยังดินแดนแห่งหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “โคกทโลก” แลมีจำนวนมากทั้งยังมีอารยธรรมเฉิดฉายกว่าชาวถิ่นโคกทโลกชนพื้นเดิมนั้น

กาลต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อ “นครโคกทโลก” เป็น “กัมปูเจีย” ส่วนพลเมืองนั้น ก็เรียกขานขึ้นต้นด้วยคำว่า “ก็อม…”ฯ

ข้อสรุปเมียะ ฮม ผูกโยงยุคโคกทโลกกับชนชาติเดิมของชมพูทวีป

ปารีส : นักศึกษาทุนหลวงเอียง ซารี-เก่ง วันสัก เครดิตภาพ : (PhnomPenhPost และ Philip Short)

6.ทัศนะฮึม ขัน

นายฮึม ขัน เป็นอดีตข้าราชการในกองทัพแห่งชาติกัมพูชา ได้เขียนบทความ “ขอม-วาถก” ว่าด้วยชนพื้นเมือง 3 กลุ่มที่ประกอบด้วยชาวอัยย์/อายย์ หรือพวกครุฑที่รุกรานชนชาติดั้งเดิมคือนาคแห่งชมพูทวีปซึ่งพลัดที่นาคาที่อยู่ กระทั่งร่อนเร่มาอาศัยในดินแดนซึ่งมีชื่อว่าสุวรรณภูมิ

ทว่า ก่อนที่นาคเหล่านี้จะเดินทางมาถึงนั้น สุวรรณภูมิเวลานั้นเป็นถิ่นของชน 2 กลุ่มคือ “ชาวแข” (?) และ “ชาวมอญ”

เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีวิทูจำนวนหนึ่งพากันเห็นพ้องและว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งถูกชนกลุ่มหนึ่งของปัจจิมทิศครอบครองมาแต่ 100 ปีก่อนพุทธกาล” โดยอ้างว่า “สำหรับมอญ-รามัญ คือกลุ่มนิยมบูชาพระอาทิตย์ ส่วนชนชาติแขหรือเขมรนั้น คือกลุ่มนิยมบูชาพระจันทร์”

และย้อนความว่า เมื่อพวกนาคหนี พวกครุฑมาถึงสุวรรณภูมินั้น ได้เป็นสงครามระหว่าง “นาค” กับ “แข-รามัญ” ขึ้นที่นี่ อันหมายความว่า “เขมรและมอญ” ได้ร่วมมือต่อสู้กัน และแม้ชัยชนะจะตกเป็นของฝ่ายนาคครานั้น แต่สำหรับแผ่นดินส่วนใหญ่สุวรรณภูมิกลับตกเป็นขอพวกแข (เขมร) และบางส่วนของรามัญ (มอญ)

แต่นั้นมา คำว่า “นาค” จึงค่อยๆ ถูกบดบังและสาบสูญไปในที่สุด

ส่วนชนชาติ “แข” ที่ยังอาศัยร่วมกับชนชาติ “มอญ” โดยบ้างก็เรียก “ขอม”, บ้างก็เรียก “กรม”, บ้างเรียก “ดลม”, บ้าง “ยุมคำ”, บ้าง “จาม”, บ้าง “เสียม” หรือ “ลว”, “ลเว”

ต่อมา ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ายุคใดที่ “เขมรและมอญ” เรียกตนว่าเป็น “ขอม”

และว่า เหตุใดเผ่าอื่นที่อ้างมา จึงไม่ถูกหลอมรวมเป็น “ขอม” เช่นกัน? (ความเห็นผู้เขียน-อัญเจียแขฺมร์)

นอกจากนี้ มีการอ้างอิงหนังสือจินดามนี (ฉบับเขมร?) ที่กล่าวว่า “ขอม-เขมร คือชนชาติเดียวกัน” ในทำนองเดียวกับ “กัมปูเจีย-กัมพูชา”

ทั้งยังกล่าวว่า “ชาวขอม” ส่วนใหญ่มีผิวกายดำคล้ำ

หาเสียงในนามพรรคประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1955 แต่สอบตก (เครดิตภาพ : PhnomPenhPost และ Philip Short)

7.ทัศนะฉัตรา เปรมฤดี

ท่านฉัตรา เปรมฤดี ที่ตรึง เงีย อ้างว่า วิทูผู้นี้อาศัยอยู่ในต่างประเทศ (หรือว่ามีเชื้อสายไทย?)

ตามบทความ “เขมรมาจากที่ใด?” ซึ่งเผยแพร่สถานีวิทยุแห่งชาติ (กุมภาพันธ์ 2516) ฉัตรา เปรมฤดี ให้ทัศนะว่า “เขมรตอนบนในอดีตคือชาวเขมรสูง ส่วนเขมรตอนล่างคือชาว “พูช” ที่แปลว่า “ล่าง”

ซึ่งคำนี้ ต่อมากลายเป็น “กมปูจ” (ก็อมปูจ) ซึ่งคือคำว่า “กัมปูเจีย” หรือ “ขอม” นั่นเอง

และ 8.เก่ง วรรณสัก

ในวิทูทัศนาแบบ ดร.เก่ง วันสัก (เก่ง วรรณสัก) นักภาษาศาสตร์หัวก้าวหน้าคนสำคัญกัมพูชาในยุครอยต่ออันเปราะบางระหว่างยุคสังคมราชานิยม (อนุรักษ์) กับเสรีประชาธิปไตย (ฝ่ายก้าวหน้า) ทศวรรษ ’60-70 และเป็นผู้จุดประเด็นทางวิชาการที่ส่งผลสะเทือนต่อประวัติศาสตร์เขมรร่วมสมัยในยุคลอนนอล (1970)

สมัยเป็นที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรในระบอบสังคมราชานิยมนั้น เก่ง วันสัก แถลงต่อองค์ประชุมในสภาถึงแนวคิดก่อตั้ง “สถาบันเขมร-มอญศึกษา” 1 เดือนก่อนรัฐประหาร (16 กุมภาพันธ์ 2513) และให้คำจำกัดความดังนี้

1. คำว่า “เขมร” มาจากการผสมกันระหว่าง “ก+เม” ปมเหตุจากสังคมเขมรที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ ดังนั้น ความหมายคำว่าเขมรจึงจัดอยู่ในกลุ่ม “แม่นิยม” (matriarcaliste) และคำบุรพบทซึ่งมีอักษร “ก” เป็นอักษรนำนั้นได้สร้างความหมายที่มีลักษณะอัน “มากขึ้น” หรือ “แรงขึ้น” อาทิ “ก+เม” หมายถึง “ผู้ที่มีความเคารพมารดาเหนือกว่าใครอื่น”

กับซอน เซน เพื่อนนักเรียนทุน และต่อมาคือผู้นำเขมรแดงคนสำคัญ (เครดิตภาพ : PhnomPenhPost และ Philip Short)

ตัวอย่าง :

ก+เม = กเม, กเม (ตัวเจิง) = กเมร (ตัวเจิง) หรือแขฺมร์ (ตัวเจิง) = แขฺมร์

และอ้างว่า ชาวเขมรสะกดสระเอ (เ-) แต่ออกเสียงเป็นสระแอ (แ-) อยู่แล้ว

2. คำว่า “กัมปูเจีย” (ก+ปูจ+เจีย)

ใช้เรียกชาวเขมรกลุ่มหนึ่ง มาจากคำว่า “ปูจเจีย” เมื่อวางบุรพบท “ก” นำหน้าเป็น “ก+ปูจเจีย = กปูจเจีย” นั้น จึงเพิ่มความหมายให้ “หนักแน่นและมากขึ้น” และว่า เมื่อนักสันสกฤต-บาลีเขมรนำไปไฉนประดิษฐ์คำจึงกลายเป็น “กัมพุเจีย” แทน

สรุปตามทัศนะเก่ง วันสัก นี้ ตรึง เงีย กลับเห็นว่า “ขอม-กัมปูเจีย” หรือกัมพูชานั้น ไม่อาจตีความไปในทางเดียวกันทั้งหมด อาศัยการแก้ไขในส่วนของบางคำ เพื่อเชื่อมโยงปริบทคำเหล่านี้ว่าเกี่ยวกับอินเดียหรือชมพูทวีป แต่เก่ง วันสัก ดูจะเป็นวิทูเขมรคนเดียวที่ไม่อาศัยข้อมูล “มอญ-เขมร” ว่าเกี่ยวกับอินเดีย แต่อ้างและตีความจากจารึกเขมรยุคกลางก่อนเมืองพระนครจากคำว่า “เกฺมร”

และอ้างว่า ชาวเขมรในอดีตนิยมเรียกตนเองและประเทศว่า “แขฺมร์”

 

ส่วนคำว่า กัมพูเจีย นั้น น่าจะมาจากคำว่า “กัมวุเจีย” (จารึกพระโคล?) หรือ “กัมวุจเทศ” (จารึกบันเตียฉมา) ตลอดจนจารึกจาม

นับเป็นการเรียนรู้ชื่อประเทศและคำ “เขมร” ในแบบต่างๆ โดยเริ่มจากจารึกศตวรรษที่ 10 (ปักษีจำกรุง) ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์กัมพูชามีต้นกำเนิดมาจากฤๅษีกัมพุกับนางอัปสรเมรา” แลได้เห็นคำว่า “กัมพูเจีย” (กัมพูชา) นี้มีที่มาจากผู้ปกครองอาณาจักรซึ่งก็คือกษัตริย์

และตรึง เงีย ยังเอาคำว่า “กัมพูเจีย” นี้ไปพ้องกับ “เจนละ” ในภาษาจีนที่เรียกอาณาจักรเขมรยุคหนึ่ง รวมทั้งยุคฟูนันด้วย โดยอ้างว่า เป็นยุคที่คำว่า “กัมวุจเทศ” ถูกค้นพบในจารึก

โดยสำหรับการทำความรู้จักประเทศเขมรหลังยุคกลางเมืองพระนคร คือสมัยที่กษัตริย์นักปกครองมีฐานันดรว่า เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี แล้ว

อนึ่ง คำว่าเขมร/แขมร์ นี้เป็นที่รู้จักในชนต่างชาติอื่นๆ มานานแล้ว ดังจะเห็นว่า “เจนละ” หรือ “เจนลา” (?) ยังพ้องในภาษาญวน (อันนัม) คือคำว่า “จินลาบ” ตลอดจนคำพ้องเสียงในภาษาอื่นๆ เช่น “คึเมา” (จีน) “เกามาร์/Qomar” (อาหรับ) “กาวเมน/กาวเมียน” (ญวน/เวียดนาม) เป็นต้น

ทว่าที่ใช้เรียกคำว่า “ขอม” ตรงกว่าใครอื่น คือชาวลาวและชาวเสียม (สยาม)

 

อื่นใดกว่านั้น อาจารย์ตรึง เงีย ผู้แต่งประวัติศาสตร์กัมพูชาที่ยังใช้เป็นตำราในกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ยังอ้างถึงนักอักษรศาสตร์ไทยคนหนึ่งคือ พระยาอนุมานราชทน อันเป็นนิยามเกี่ยวกับคำว่า “ขอม” ดังที่ยกมา :

“Who were the Khoms. They were probably a race of people akin to the Mons and the Khmers or Cambodian of the present day. The old mon alphabet and also the old khmer alphabet were called Khom by the Thai” (Thai Literature in relationship to the diffusion of her cultures)

และเป็นอุปนัยแฝงว่า “ขอม” น่ามีรากมาจากจากแขฺมร์+มอญ หรือไม่? โดยคำว่า “ขอม” นี้ มีนัยยะถึงความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรม “สูงส่ง” ชนชาติหนึ่ง

แลขอม หรือชนชาติเขมร/มอญนัยยะนี้ คือผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลทางอารยธรรมเหนือชนชาติอื่นทั้งปวงในดินแดนตามที่อ้างไว้รวมทั้งไทยและลาว

ด้วยเหตุฉะนั้น แต่ไฉนท่านตรึง เงีย จึงกล่าวว่า อันคำว่า “ขอม” นี้ “มีก็แต่ชนชาติลาว หรือชาวเสียม (สยาม) เท่านั้น ที่นิยมเรียกขาน”

“แต่สำหรับชาว ‘เขมร’ เรานั้น ไม่นิยมเรียกตนเองว่า ‘ขอม’ เลย”(?)

เช่นนั้นแล้ว อาจจะย้อนแย้งหรือไม่ สำหรับอารยธรรม “ขอม” ที่สูงส่งและยิ่งใหญ่ในยุคดังกล่าว?

แลไฉนเล่าคำว่า “ขอม” นี้ จึงไม่เข้าอาจไม่อาจรับได้ในนิยามของชาวเขมรปัจจุบัน?

ชวนให้ระลึกถึงวิทูทัศนาของไทยอีกท่านหนึ่ง

คือ จิตร ภูมิศักดิ์

ใต้ภาพ

1-ปารีส : นักศึกษาทุนหลวงเอียง ซารี-เก่ง วันสัก เครดิตภาพ : (PhnomPenhPost และ Philip Short)

2,3-หาเสียงในนามพรรคประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1955 แต่สอบตก (เครดิตภาพ : PhnomPenhPost และ Philip Short)

4-กับซอน เซน เพื่อนนักเรียนทุน และต่อมาคือผู้นำเขมรแดงคนสำคัญ (เครดิตภาพ : PhnomPenhPost และ Philip Short)