พะบัวเข็ม : ล้านนาคำเมือง

พะบัวเข็ม

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “พะบัวเข็ม”

พระบัวเข็ม พระเจ้าบัวเข็ม หรือพระพุทธรูปบัวเข็ม มีที่มาจากพม่า โดยถือกำเนิดมาจากวัฒนธรรมมอญ ที่ส่งอิทธิพลต่อพุกามในพม่า เผยแพร่มาถึงไทยใหญ่ ดินแดนล้านนา และเข้ามายังสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงทรงผนวช

คำว่า “บัว” คือบัวคว่ำ บัวหงายที่ฐานพระพุทธรูป ส่วนคำว่า “เข็ม” หมายถึงหมุดเข็ม 9 จุดตามองค์พระ คือ ที่หน้าผาก 1 หัวไหล่ 2 ข้อศอก 2 หัวเข่า 2 และข้อเท้าหรือฝ่าเท้าอีก 2 จุดเหล่านี้เป็นจุดที่ฝังตะกรุด ของขลัง หรือเวทมนตร์เอาไว้

ดังนั้น ที่เรียกว่า “พระบัวเข็ม” คือพระที่มีฐานเป็นรูปดอกบัว และมีเข็มฝังตามส่วนต่างๆ ของร่างกายดังกล่าว

ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์จริงมีอยู่ 5 องค์ ประดิษฐานอยู่ตามทิศต่างๆ ในรัฐฉาน มีหน้าตักกว้าง 20 ซ.ม. สูง 70 ซ.ม. องค์พระมีทั้งสีทองและสีดำ

พระพุทธรูปบัวเข็ม มีทั้งสร้างมาจากไม้จันทน์ สร้างจากมวลสารดอกไม้หอมที่ผู้คนเอามาถวายพระ และสำหรับองค์เล็กที่นิยมพกติดตัวอาจจะทำมาจากไม้โพธิ์

ตามประวัติของพระพุทธรูปบัวเข็ม ที่ไทยใหญ่เล่าสืบต่อกันมาคือ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีนามว่า “มนิสิสุ” โปรดปรานการเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ

ครั้งหนึ่งพระอินทร์นำไม้จันทน์มาถวาย พระองค์จึงนำเอาไปแกะเป็นพระพุทธรูปประจำเรือ มีความหมายถึงพระบัวเข็มซึ่งสถิตอยู่ในทะเลสาบ โดยหวังความเป็นสิริมงคล โชคลาภ และความปลอดภัยในการเดินทาง

คนไทยใหญ่ยังนิยมนำไม้จันทน์ที่ได้มาจากการตามประทีป เพื่อหวังอานิสงส์ของความสว่างไสวแห่งปัญญา ความสุข โชคลาภ รวมถึงการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย มาแกะเป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็เรียกว่าพระบัวเข็มเช่นเดียวกัน

ที่ทะเลสาบใหญ่อินเล ในประเทศพม่า ที่วัดกลางน้ำ ผ่องต่ออู ก็มีการสร้างพระบัวเข็มจากดอกไม้ที่สาธุชนนำเอาไปบูชาพระเจ้า 5 พระองค์ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าจะต้องไปกราบไหว้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยถือว่ามวลสารนี้มาจากน้ำใจอันบริสุทธิ์ของผู้คนจึงทรงคุณค่ายิ่งในการนำมาทำองค์พระ

โดยมีวิธีทำคือนำดอกไม้ไปตากแห้ง บดละเอียดแล้วปั้นเป็นองค์พระขนาดเล็ก หุ้มด้วยยางเหนียวสีดำของรัก เสร็จแล้วจึงปิดทอง

พระบัวเข็มมีใบบัวปิดอยู่บนพระเศียร

บางองค์นอกจากฐานจะเป็นดอกบัวแล้ว ยังมีลายหอย ลายปลา บ่งบอกถึงที่มาขององค์พระว่ามาจากวัดกลางทะเลสาบ

เนื่องจากพระบัวเข็มสำหรับบูชาทำจากดอกไม้แห้ง จึงมีขนาดเบา สมัยโบราณคนล้านนาถือว่าเป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังมีคุณค่าทางใจ เนื่องจากมาไกล และหายาก

คนล้านนานิยมเอาพระบัวเข็มใส่พาน หล่อน้ำไว้ เพื่อรำลึกถึงแหล่งที่มาของพระบัวเข็มที่มาจากทะเลสาบ

โดยเชื่อกันว่าจะเกิดความความชุ่มเย็นขึ้นในบ้าน