เศรษฐกิจ/ไอเคโอจ่อประทับตรายูแซพฉลุย! บวท. ไร้ตำหนิ…มาตรฐานเยี่ยม ลุ้น ต.ค. ปลดธงแดงสำเร็จ

เศรษฐกิจ

ไอเคโอจ่อประทับตรายูแซพฉลุย! บวท.

ไร้ตำหนิ…มาตรฐานเยี่ยม ลุ้น ต.ค. ปลดธงแดงสำเร็จ

เมื่อวันที่ 11-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เดินทางเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยสนามบินของไทย ภายใต้โครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยการบินพลเรือน (ยูแซพ : USAP) ตามคำเชิญของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ส่งหนังสือไปยังสำนักงานใหญ่ไอเคโอ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา

การเดินทางเข้ามาของไอเคโอครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 4 คน จาก 4 ประเทศ คือ ประเทศเปอร์โตริโก้ บังกลาเทศ เกาหลีใต้ และศรีลังกา เข้ามาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม

จากนั้นในวันที่ 11 กรกฎาคม ได้ทำพิธีเปิดการตรวจสอบ และประชุมร่วมสรุปข้อมูลทั้งหมดร่วมกับผู้บริหารสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่สำนักงานใหญ่ กพท.

ไอเคโอได้เริ่มต้นตรวจสอบ กพท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ก่อน จากนั้นจึงไปตรวจสอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง

โดยการตรวจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของ บวท. ดังนั้น บวท. จึงได้เตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่ โดยให้ความสำคัญตามหัวข้อหลักที่ไอเคโอแจ้ง คือ

1. ความปลอดภัยทางการบินเชิงกายภาพ (physical security)

2. ระบบรักษาความปลอดภัย (system security) โดยเฉพาะระบบทางไซเบอร์

3. แผนรับมือฉุกเฉิน

และ 4.ระดับพนักงานดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมพนักงานทุกภาคส่วนตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปจนถึงระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ และวิศวกรจะถูกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษ หลังทราบว่าการตรวจสอบจะเน้นสอบถามรายบุคคลกับระดับพนักงานที่ปฏิบัติงานจริง

โดยเป็นเรื่องความสม่ำเสมอของความปลอดภัยและการซ้อมแผนฉุกเฉินขององค์กร เช่น แผนกรณีเกิดการจี้เครื่องบิน และภัยก่อการร้ายความเสี่ยงสูงบนเครื่องบิน เป็นต้น

การตรวจสอบครั้งนี้ ไอเคโอใช้เวลากับ กพท. และ บวท. รวม 4 วัน จากนั้นได้เข้าไปตรวจสอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3 วัน และอีก 3 วันตรวจสอบท่าอากาศยานดอนเมือง

ในวันสุดท้ายไอเคโอได้สรุปผลอย่างไม่เป็นทางการให้กับ กพท. รับทราบ จึงรู้ว่าไม่มีปัญหาอะไรที่เป็นนัยยะสำคัญที่ส่งผลให้ไม่ผ่านการตรวจสอบ มีปัญหาแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบจึงมั่นใจว่าจะสอบผ่านแน่นอน

สอดคล้องกับคำพูดของ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. ที่ระบุว่า ไอเคโอได้กำหนดประเด็นที่เข้ามาตรวจสอบไว้ 463 ข้อ ภายหลังตรวจสอบเสร็จแล้ว มีประเด็นที่ไอเคโอให้ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไข 49 ประเด็น โดยทั้งหมดไม่มีประเด็นที่เป็นนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัย หากเปรียบเทียบกับประเด็นที่ไอเคโอเคยให้ธงแดงประเทศไทยในโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยสากล (ยูโซพ : USOAP) ก่อนหน้านั้น ดังนั้น จึงถือว่าไม่เจอประเด็นที่เป็นปัญหาที่สำคัญแต่อย่างใด

นายจุฬา ระบุอีกว่า หลังจากไอเคโอกลับไปแล้ว จะนำผลการตรวจสอบไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการของไอเคโอที่สำนักงานใหญ่

จากนั้นจะส่งหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกลับมาให้ไทยทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะระบุรายละเอียดไว้ชัดเจนเลยว่า แต่ละข้อไปเจออะไรมา มีอะไรบ้าง รายละเอียดเป็นอย่างไร พร้อมมีคำแนะนำมาด้วยว่าต้องการให้แก้ไขเรื่องอะไร

โดยภายหลังไทยได้รับหนังสือแล้วจะมีเวลาอีก 60 วัน เพื่อจัดทำรายละเอียดว่าจะแก้ไขอย่างไรใน 49 ประเด็นที่ไอเคโอแจ้งมา ก่อนส่งกลับไปให้ไอเคโอรับทราบอีกครั้ง

“ตอนนี้ต้องรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากทางไอเคโอ ซึ่งจะตอบกลับมาประมาณเดือนกันยายนนี้ จากนั้นอีก 60 วัน แบ่งเป็น 30 วันแรก ทางไอเคโอจะเปิดโอกาสให้ไทยแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับผลการตรวจสอบของไอเคโอหรือไม่ หากเห็นด้วยจะมีเวลา 30 วัน ส่งข้อมูลที่จะต้องแก้ไขให้ไอเคโอพิจารณา” นายจุฬา กล่าว

ทั้งนี้ การตรวจสอบของไอเคโอในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานของไทยใช้ได้

นั่นคงเพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมไว้รับการตรวจอย่างดี

ซึ่งการตรวจครั้งนี้ได้เริ่มที่หน่วยงานภาครัฐก่อน คือ กพท. และ บวท.

จากนั้นจึงเป็นสนามบินหลัก คือ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง เป็นการตรวจคนที่เป็นตัวแทนเกี่ยวกับสินค้าในสนามบิน หรือตัวแทนควบคุมดูแลสินค้าในสนามบิน ซึ่งก็มีข้อแนะนำให้ปรับปรุงบ้าง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องครัวการบิน โดยไอเคโอต้องการให้ กพท. เข้าไปดูแลเรื่องครัวการบินให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะอาจจะมีผลต่อเรื่องการรักษาความปลอดภัยได้เช่นเดียวกัน โดย บวท. เป็นหน่วยงานเดียวที่ไอเคโอไม่มีข้อแนะนำอะไรเลย หลังตรวจการทำงานที่สำนักงานใหญ่ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง เพราะถือว่ามีมาตรฐานดีอยู่แล้ว

สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ไอเคโอต้องการให้ไทยดำเนินการเพิ่มเติมใน 49 ข้อ เช่น การพัฒนากำลังคนเรื่องมาตรฐานรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น ซึ่งรวมทั้งผู้ตรวจสอบของ กพท. รวมทั้งคนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยในสนามบินต่างๆ เนื่องจากไทยมีสนามบิน 38 แห่ง ทั้งหมดไทยกำหนดไว้ว่าใช้มาตรฐานเดียวกันหมด

ดังนั้น หากกำหนดไว้แบบนี้ จะต้องดำเนินการให้ทุกสนามบินเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงต้องปรับปรุงแผนรักษาความปลอดภัยของประเทศให้ครอบคลุม และละเอียดขึ้น ทั้งในส่วนของสินค้าและไปรษณีย์ในสนามบิน ขณะเดียวกันไอเคโอยังต้องการให้ กพท. กำหนดให้ทุกสนามบินมีแผนรักษาความปลอดภัยเพื่อให้ กพท. รับรอง

ซึ่ง กพท. ก็จะเตรียมดำเนินการให้ทุกสนามบินเสนอแผนให้ กพท. รับรองต่อไป

นายจุฬา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหายูโซพ หลังจากได้ยื่นหนังสือไปยังไอเคโอให้เข้ามาตรวจสอบซ้ำเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษเข้ามาซ้อมตรวจสอบ ก่อนที่ไอเคโอจะเข้ามาตรวจสอบจริง เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด

คาดว่าไอเคโอจะเข้ามาประมาณวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยจะพิจารณาข้อพกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (เอสเอสซี) 33 ข้อ ที่ตรวจพบครั้งก่อนว่ามีการแก้ไขอะไรไปแล้วบ้าง โดยจะตรวจสอบประมาณ 5 วัน

จากนั้นจะส่งผลตรวจให้ไทยรับทราบภายใน 30 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม ว่าผ่านการตรวจสอบหรือไม่

หากผ่านก็จะเป็นการปลดธงแดงออกจากหน้าชื่อประเทศไทยออกไปได้

โดยยืนยันว่า กพท. พร้อมแล้วกับการตรวจสอบจากไอเคโอ และมั่นใจว่าจะสอบผ่าน

อย่างไรก็ตาม หากการตรวจสอบครั้งนี้ ไทยยังไม่รอดพ้นปัญหาจนสามารถปลดธงแดงได้สำเร็จ นอกจากธุรกิจการบินจะย่ำแย่ลงแล้ว ผู้อำนวยการ กพท. ก็คงรอดยากเหมือนกัน!!