วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ประสบการณ์นักข่าวใหม่

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ประสบการณ์นักข่าวใหม่

ปี2518 นับว่าเป็นปีที่หนังสือพิมพ์ดูเหมือนจะมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวมากที่สุด ด้วยเป็นช่วงหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพิ่งผ่านพ้น สถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น สถานการณ์ทางแรงงานอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนและการเรียกร้องทั้งค่าแรงและกฎหมายแรงงาน

ข่าวการปรับเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล การปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่นเดียวกับการชุมนุมเคลื่อนไหวด้านผู้ใช้แรงงาน

ความเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงาน มีผู้นำแรงงานจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเป็นหัวหอกนำ อาทิ การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งความเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนทั้งเล็กทั้งใหญ่มีไม่ขาดสาย เป็นขณะที่ส่วนหนึ่งของผู้นำนิสิตนักศึกษาเข้าไปมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและส่วนหนึ่งของรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ

การเป็นผู้สื่อข่าวขณะนั้นต้องตื่นตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการติดตามข่าวการเมือง ที่ต้องเข้าไปมีสัมพันธ์กับนักการเมืองจากหลายพรรคว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ทั้งตัวผู้นำพรรค ทั้งตัวสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผูแทนราษฎรและสมาชิกพรรคที่มีบทบาทสำคัญในพรรค

ผู้สื่อข่าวแต่ละคนจึงต้องมีคำถามทางการเมืองพ่วงไว้กับตัวตลอดเวลา ต้องติดตามข่าวจากพรรคการเมืองอย่างน้อย 2-3 พรรค ทั้งที่เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน

ไม่เว้นแม้แต่พรรคที่พร้อมจะกระโดดเข้าร่วมรัฐบาล และพรรคที่จะถูกผลักออกจากรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งไม่ค่อยมีใครพอใจเท่าใดนัก

ส่วนปัญหาแรงงาน การเรียกร้องเรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการ ค่าแรงมีตลอด การหยุดงานประท้วงเกิดขึ้นแทบว่าวันละ 3 เวลา หลังอาหาร

นักข่าวหลายคนที่ “หัวก้าวหน้าและรักความเป็นธรรม” มักจะอยู่ข้างแรงงาน บางคนกลางวันทำข่าวที่ไม่ต้องออกจากสำนักงาน เช่น ข่าวต่างประเทศ แม้แต่ข่าวบันเทิง หรือผู้ทำหน้าที่ “ซับเอดิเตอร์” ตกเย็น หรือหลังเลิกงาน มักจะไปแกร่วอยู่ในวงประท้วงร่วมกับกลุ่มแรงงาน บ้างให้คำปรึกษา บ้างไปให้กำลังใจ บางคนถึงกับนอนค้างคืน สนุกร่วมกับผู้ใช้แรงงานเหล่านั้น ไม่ต้องมีอุปกรณ์ที่นอนมาก มีเพียงกระเป๋าใส่เสื้อผ้า ผ้าไปเปลี่ยน ผ้าเช็ดหน้าเช็ดตัว และแปรงสีฟันอันหนึ่งก็พอ

รุ่งขึ้นเช้าหรือสายๆ อาจกลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า กลับเข้าทำงานตามปกติ ตกเย็นตกค่ำค่อยไปร่วมชุมนุมใหม่ บางครั้งทำให้หัวหน้าข่าวได้ข่าวทางในถึงความเคลื่อนไหวของฝ่ายแรงงานก่อนใคร

ผู้ที่ติดตามข่าวแรงงานและเป็นนักข่าวสายแรงงาน กระทรวงมหาดไทยโดยตรง คือ ขนิษฐา “น้อย” อังกาบศรี แรกเริ่มเป็นผู้สื่อข่าวประชาชาติ สมัยยังสังกัดเดอะเนชั่น จบจากคณะอักษรศาสตร์ เคยเป็นพนักงานตรวจพิสูจน์อักษรมาก่อน เมื่อมาเป็นผู้สื่อข่าวเกาะติดกับข่าวแรงงานมาโดยตลอด

ขนิษฐาพร้อมจะลุยข่าวไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืน หรือไปต่างจังหวัด มีประเด็นข่าวลึกและละเอียด ครั้งหนึ่งเดินทางไปทำข่าวต่างจังหวัดกับหน่วยราชการ ปรากฏว่ารถมีอุบัติเหตุ กว่าจะกลับมาถึงสำนักงานเมื่อครั้งยังอยู่กับเดอะเนชั่นสองสามทุ่ม กำลังปิดข่าว

ขนิษฐาได้รับบาดเจ็บที่คาง พูดจาไม่ถนัด มาถึง อาจารย์ป๋อง-พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ด้วยความเป็นห่วง จึงเขียนหนังสือใส่กระดาษถามว่า เจ็บไหม ไปโรงพยาบาลมาหรือยัง ขนิษฐาหยิบปากกาเขียนตอบในกระดาษแผ่นนั้นว่า อาจารย์ขา หนูเจ็บคางพูดไม่ถนัด แต่ฟังรู้เรื่องค่ะ

สร้างความครื้นเครงจนพวกเราลืมอาการเจ็บป่วยที่ขนิษฐาได้รับ

ผู้ที่ชื่นชอบออกไปทำข่าวแรงงานอีกหน้าที่หนึ่ง คือ เสริม พูนพนิช มีตำแหน่งเป็นซับเอดิเตอร์ แต่มักมีความเคลื่อนไหวด้านข่าวแรงงานมาเล่าให้ฟังเสมอ

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ขณะนั้น โดยเฉพาะประชาชาติต้องติดตามอย่างกระชั้นชิด คือความเปลื่อนไหวในแวดดวงนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะองค์การนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ปรับเปลี่ยนเลขาธิการมาแล้วสองสามคน

ผู้ทำหน้าที่นี้ เคยเป็นนักศึกษาฝึกงานของประชาชาติที่อาคารพญาไท ก่อนจบการศึกษาจากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แล้วมาเป็นนักข่าวของประชาชาติ

เนื่องจากเพิ่งสำเร็จจากจุฬาฯ จึงเข้านอกออกในสำนักงานองค์การนิสิตนักศึกษาได้ตลอด เมื่อมีข่าวความเคลื่อนไหวว่าจะทำอะไร วชิราภรณ์ “รุ้ง” สุรวัฒนพงษ์ เป็นต้องรู้และรายงานให้หัวหน้าข่าวทราบทันที

การชุมนุมและเคลื่อนไหวทางด้านแรงงาน คือแนวทางข่าวด้านการเมืองที่ต้องไปด้วยกัน ผู้สื่อข่าวแรงงานต้องคอยจับความเคลื่อนไหวของผู้นำแรงงานตลอดเวลา เป็นขณะเดียวกับที่ปัญหาชาวนามีความเคลื่อนไหวไม่น้อยไปกว่ากัน ยิ่งเมื่อเกิดกรณี “ฆ่า” ผู้นำชาวนาที่ภาคเหนือ ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น

สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่การกล่าวหาว่ามีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้ามาแทรกแซงกระบวนการแรงงานและนิสิตนักศึกษา รวมทั้งปัญหาชาวนา

การเลือกตั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และพรรคสังคมนิยมมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้มีจำนวนน้อย แต่ทำให้ความคิดด้านสังคมนิยมมีความเคลื่อนไหว

มีการเผยแพร่สมุดปกแดง หรือเหมานิพนธ์ ของ เหมา เจ๋อ ตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกมา

หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ โดยเฉพาะประชาชาติที่นำเสนอข่าวการเมือง ข่าวนิสิตนักศึกษา ข่าวแรงงาน และความเคลื่อนไหวทางการเมืองนำหน้า ได้รับความนิยมจากปัญญาชน นักการเมือง นิสิตนักศึกษา ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนนักข่าวขึ้นมาอีก จำเป็นต้องรับสมัครนักข่าวที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าว ซึ่งบางครั้งทำหน้าที่ได้ดี บางครั้งอาจมีปัญหาบ้าง

เช่น นักข่าวใหม่คนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปเฝ้ากลุ่มแรงงานชุมนุมของโรงงานหนึ่งช่วงบ่ายที่หนังสือพิมพ์กรอบบ่ายออกจำหน่ายแล้ว ปรากฏว่าผู้ชุมนุมหน้าโรงงานเคลื่อนย้ายไปที่บ้านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ซอยสวนพลู

แทนที่นักข่าวใหม่คนนั้นจะโทรศัพท์เข้าโรงพิมพ์ กลับขึ้นรถเข้าโรงพิมพ์แล้วมาแจ้งหัวหน้าข่าวตามเหตุเกิดขึ้น ถามว่าจะให้ทำอย่างไร ด้วยอาการตกใจ หัวหน้าข่าววันนั้นคือผม ต้องใจเย็นอธิบาย แล้วให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ อย่างนี้คือประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง