จำเป็นต้องใช้ Knowledge Management หากต้องการลด ‘งบฯ บุคลากร’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จำเป็นต้องใช้ Knowledge Management

หากต้องการลด ‘งบฯ บุคลากร’

 

ผมคงไม่ไปถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. (Artificial Intelligence) เพราะดูจากบริบทแล้ว น่าจะใหม่สำหรับสังคมไทยอยู่มาก และคงต้องทุ่มงบประมาณลงไปไม่น้อยหากจะ Implement ให้ได้ 100%

แต่อย่างน้อย ข้อเสนอในขณะนี้ก็คือ การนำ “ระบบการจัดการความรู้” หรือ Knowledge Management System ซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลาย และมีบุคลากรไทยจำนวนมากที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี

อย่างน้อย ก็เพื่อเป็นการเสนอแนวคิด การนำ Knowledge Management หรือ KM มาช่วยในการจัดระเบียบ และถ่ายทอด “ความรู้” เป็นการใช้ “ระบบ” ช่วยในการจัดเก็บ และเผยแพร่องค์ความรู้แทนบุคลากร

ดังที่กล่าวไป KM แปลว่า “การจัดการความรู้” หมายถึง การยกระดับสถานะของ Data (ข้อมูล) และ Information (สารสนเทศ) ขึ้นเป็น Knowledge (ความรู้) ผ่านการกลั่นกรอง จัดระเบียบ กักเก็บ และปรับปรุง

KM จึงนอกจากจะเป็นการยกระดับสถานะของ Data และ Information ขึ้นเป็น Knowledge แล้ว ในท้ายที่สุด องค์ความรู้จะถูกขยายความ และยกระดับขึ้นสู่ สถานะของ “ภูมิปัญญา” หรือ Wisdom เป็นจุดหมายปลายทาง

โดยทั่วไป ในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” ได้แบ่งประเภทของ Knowledge ออกเป็น 2 แบบด้วยกัน ประกอบด้วย Tacit Knowledge (ความรู้ภายใน) และ Explicit Knowledge (ความรู้ภายนอก)

โดยมีการนำ Iceberg Theory หรือ “ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง” มาใช้อธิบาย Knowledge Management ว่า Explicit Knowledge (ความรู้ภายนอก) หรือ “ความรู้ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป” เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทร

ซึ่งจะโผล่พ้นผิวน้ำเพียงส่วนบนของภูเขาน้ำแข็งทั้งลูก เพราะใต้ผิวน้ำจะเป็นส่วนฐานของภูเขาน้ำแข็งที่จมน้ำอยู่ ซึ่งเรามักมองไม่เห็น นี่คือความหมายของ Tacit Knowledge (ความรู้ภายใน) หรือ “ความรู้ในสมองของมนุษย์”

ดังนั้น KM จึงเป็นกระบวนการ ที่นำเอา “ภูเขาน้ำแข็งทั้งลูก” หรือ “ความรู้ทั้งหมด” ที่ประกอบด้วย Tacit Knowledge และ Explicit Knowledge มาประกอบกัน ผ่านขั้นตอน “การจัดการความรู้” 4 กระบวนการ กล่าวคือ

1. นำความรู้ที่มีอยู่ภายในสมองของมนุษย์ (Tacit Knowledge) จาก “แต่ละบุคคล” (Individual) มาจัดระเบียบ (จับกลุ่ม) เกิดเป็น “กลุ่ม” (Group) เรียกขั้นตอนนี้ว่า Socialization หรือการสร้าง “สังคมความรู้”

2. จาก “สังคมความรู้” Knowledge Management ทำการรวบรวม Data และ Information โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Explicit Knowledge หรือ “ความรู้ภายนอก” เข้าไปใส่ใน “สังคมความรู้” เรียกขั้นตอนนี้ว่า Externalization

3. ทำการหลอมรวม (Combination) “กลุ่มความรู้” ที่ได้จาก Externalization มาสร้างเป็น “ชุดข้อมูลองค์กร” หรือ Organization เกิดเป็น “ขุมความรู้ใหม่” ขึ้น เรียกขั้นตอนนี้ว่า “การผนึกความรู้”

4. ทบทวนชั้นความรู้ ไล่จาก Organization มา Group สู่ Individual แล้วนำ “ขุมความรู้ใหม่” กลับไปถ่ายทอดให้กับบุคลากรแต่ละคน ผนึกเข้ากลับเข้าไปเป็น Tacit Knowledge เรียกขั้นตอนนี้ว่า Internalization

 

โดยทั่วไป ในแวดวง “การจัดการความรู้” มีการแบ่ง “ยุคทองของ KM” ออกเป็น 4 สมัยด้วยกัน คือทศวรรษที่ 1990, 2000, 2010 และ 2020

1. ยุคทศวรรษ 1990 ถือเป็น “KM ยุคแรก” ที่ได้แนวคิดจากหนังสือ The Fifth Discipline ของ Peter Senge ที่เปิดประเด็น LO หรือ Learning Organization ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็น Knowledge Management หรือ KM ในที่สุด

KM ยุคแรก เน้นการจัดการเนื้อหา (Content) และความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit knowledge) หรือ “ความรู้ในกระดาษ” โดยอาจมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT) เข้ามาช่วย เช่น ระบบการจัดการเนื้อหา (Content Management System หรือ CMS) และระบบการจัดการเอกสาร (Document Management System หรือ DMS) นั่นเองครับ

2. ทศวรรษ 2000 เป็น KM ยุคที่ 2 เริ่มมีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ความรู้ (Knowledge Center) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่หลักในการ “บริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้” ครับ

โดย KM ยุคนี้ หันไปให้ความสนใจในเรื่องของ “ความรู้ในตัวบุคคล” (Tacit knowledge) และ “การดึงความรู้ออกมาจากตัวบุคคล” ที่นำไปสู่การ “เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์” KM ด้วยการให้ความสำคัญในประเด็น “การเชื่อมโยง” (Connection) และการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) เพื่อ “แบ่งปันความรู้” (Knowledge Sharing) เพื่อสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อกำเนิดของ “ชุมชนนักปฏิบัติ” (Community of Practices หรือ CoPs) โดยได้พัฒนามาเป็น “ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” (Professional Learning Community หรือ PLC) และ Knowledge Caf? ที่ให้ผู้คนมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้แก่กัน

3. ทศวรรษ 2010 หรือ KM ยุคที่ 3 ซึ่งให้ความสำคัญกับความรู้ที่นำไปใช้แล้วประสบผลสำเร็จ (Best Practices) โดยเน้นไปที่ “ความร่วมมือ” (Collaboration) เพื่อนำ “ความรู้ไปใช้ประโยชน์” (Knowledge Utilization) เพื่อให้เกิด “ผลลัพธ์” (Outcome) ทำให้ “ความรู้” นั้นเกิด “การเคลื่อนไหวตลอดเวลา” (Dynamic)

ดังนั้น KM ในยุคนี้ จึงเป็น KM ที่เน้น “ผลลัพธ์” (KM for Results) หรือ (Outcome) เราจึงได้เห็น “เครื่องมือ KM” เกิดขึ้นอย่างมากมาย แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวง “การจัดการความรู้” อาทิ Storytelling หรือ After Action Review (AAR) เป็นต้น

4. ทศวรรษ 2020 คือ KM ในยุคปัจจุบัน ซึ่งนั่นก็คือ A.I.K.M. ย่อมาจาก Artificial Intelligence Knowledge Management หรือการนำเอา KM เชื่อมโยงกับ A.I. (Artificial Intelligence) นั่นเองครับ

 

เมื่อเราได้ทราบความหมาย และเล็งเห็นประโยชน์โภชน์ผลของ KM กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้อเสนอในขณะนี้ก็คือ เราจะนำ “ระบบการจัดการความรู้” หรือ Knowledge Management System มาปรับประยุกต์ใช้อย่างไร หากเราต้องการ “ลดงบฯ บุคลากร” ที่มีมากถึงเกือบ 65% ในการบริหารจัดการการศึกษาของชาติ

เหมือนกับที่ผมเคยเสนอแนวทาง Blended Learning ซึ่งผสมผสานระหว่าง Onsite หรือการเรียนที่โรงเรียน กับ On Air-Online-On Demand-On Hand หรือการเรียนที่บ้าน มาใช้กับการจัดการเรียนการสอนในยุค COVID-19 ที่เด็กๆ ถูก Lockdown มายาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำ ICT มาช่วยสร้างสมดุลในการจัดการเรียนการสอนแบบ Hybrid Home School หรือ Temporary Home School คือพ่อ-แม่ ผู้ปกครองช่วยคุณครูจัดการเรียนการสอนจากที่บ้านนั่นเอง

เช่นเดียวกัน การใช้งบประมาณด้านการศึกษาอย่างคุ้มค่ากับเม็ดเงินภาษีของประชาชนควรนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICT และการสร้างระบบ KM เพื่อจัดเก็บ และถ่ายทอดองค์ความรู้ แทนการเพิ่มบุคลากร ที่ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ

 

เนื่องจากไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนเด็กนักเรียนอาจเริ่มลดลงในทุกๆ ภาคการศึกษาที่เปิดใหม่

ดังนั้น การพิจารณาความจำเป็นในการสรรหาบุคลากรอันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ “งบฯ บุคลากร” ที่ไม่ได้สัดส่วนกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่ควรจะเป็นจึงมีความสำคัญมาก

การปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ นำ KM มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ ICT จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะ KM จะไม่หายไปไหน ซึ่งต่างจากความรู้ที่ติดตัวครู เมื่อครูเกษียณ หรือเสียชีวิตก่อนเกษียณ ความรู้จะหายไปทันที

แต่หากใช้ KM ในการบริการจัดการการศึกษา ครูรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาทดแทนก็สามารถรับการถ่ายทอดความรู้ผ่าน KM หรือหากใช้ ICT ร่วมด้วย อาจทำให้อัตราการจ้างครูลดลง

ข้อเสนอเบื้องต้นก็คือ อย่างน้อย ควรจัดสรรปันส่วนร้อยละของการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วนในอัตราเท่าๆ กัน อันประกอบด้วย

1. บุคลากร 30%

2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 30%

3. พัฒนาวิชาการ (สื่อการสอน + หลักสูตร) 30%

4. อื่นๆ (บูรณาการ) 10%

โดยผนึก KM เป็นส่วนหนึ่งของงบฯ โครงสร้างพื้นฐาน + งบฯ พัฒนาวิชาการ เพื่อสร้างสมดุลในการบริหารจัดการการศึกษาต่อไปครับ