20 ปีหลัง 9/11 : จากนิวยอร์กสู่อัฟกานิสถาน/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

20 ปีหลัง 9/11

: จากนิวยอร์กสู่อัฟกานิสถาน

 

“ความยิ่งใหญ่ของการรบไม่ได้ถูกตัดสินจากขนาดหรือจำนวนของทหารที่เกี่ยวข้อง แต่ถูกตัดสินด้วยอิทธิพลที่จะเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ในอนาคต”

Richard Connaughton

A Brief History of Modern Warfare (2008)

 

เหตุการณ์การโจมตีอาคารเวิลด์เทรดและตึกกระทรวงกลาโหมอเมริกันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์ 9/11” เดินทางมาครบวาระ 20 ปีแล้ว และเป็น 20 ปีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างมากในเวทีโลก

จนกล่าวกันว่า เหตุการณ์ที่เวิลด์เทรดเป็นเส้นแบ่งเวลาที่สำคัญของการเริ่มต้นของการเมืองโลกในศตวรรษที่ 21

และตามมาด้วยเรื่องราวของสงครามและความขัดแย้ง อีกทั้งผลสืบเนื่องของการโจมตีครั้งนั้น

ทำให้ประเด็นเรื่อง “การก่อการร้าย” กลายเป็นวาระสำคัญของปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ และเป็นหัวข้อสำคัญในสาขา “ความมั่นคงศึกษา” ในปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 แล้ว การศึกษาในเรื่องของการก่อการร้ายขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

ดังจะเห็นได้จากหนังสือและเวทีสัมมนาในเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในผลจากเหตุการณ์การโจมตีครั้งนี้ ทำให้วงการการศึกษาในเรื่องการก่อการร้ายเกิดพัฒนาการ จนเป็นหนึ่งใน “อนุสาขา” ที่สำคัญของความมั่นคงศึกษาในปัจจุบัน

น่าคิดอย่างมากว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่เวิลด์เทรดแล้ว การศึกษาด้านการก่อการร้ายจะขยายตัวเช่นที่เห็นในปัจจุบันหรือไม่

ขณะเดียวกันก็น่าสำรวจอย่างน่าสนใจว่า จากวันที่ 11 กันยายน 2001 จนถึงปัจจุบันนั้น มีหนังสือและงานวิจัยเรื่องการก่อการร้ายออกมาเป็นจำนวนกี่เล่ม

แม้จะไม่มีคำตอบเชิงปริมาณที่ชัดเจน แต่ก็ตอบได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าหนึ่งในมรดกสำคัญของ 9/11 คือการขยายตัวของการศึกษาเรื่องก่อการร้ายในหลายประเทศ และไม่ได้จำกัดอยู่กับโลกตะวันตกเท่านั้น

 

สงครามอัฟกานิสถาน!

แต่ผลสืบเนื่องที่สำคัญที่สุดกับการเมืองโลกคือ การตัดสินใจของผู้นำสหรัฐอเมริกาที่จะตอบโต้การโจมตีที่เกิดขึ้นด้วยการเปิด “สงครามอัฟกานิสถาน” ในตอนปลายปี 2001 เพราะด้วยข้อมูลข่าวกรองทำให้สหรัฐเชื่อว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นการกระทำของกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่มีอุสะมะ บิน ลาเดน เป็นผู้นำ

ซึ่งสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธนี้เคยร่วมมือทางทหารกับสหรัฐและชาติพันธมิตรใน “สงครามต่อต้านโซเวียต” ในอัฟกานิสถาน หลังจากที่กองกำลังของโซเวียตบุกเข้าไปเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองในตอนปลายปี 1979

และสงครามนี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับกองทัพโซเวียต และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโซเวียตอย่างมากด้วย

หลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพโซเวียตแล้ว กลุ่มดังกล่าวได้ถอนตัวออกจากพื้นที่ แต่ในที่สุด พวกเขาก็หวนกลับมาใช้ประเทศอัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่นอีกครั้ง

ซึ่งในทางการเมืองเท่ากับบ่งชี้ว่า รัฐบาลทาลิบันที่ขึ้นปกครองประเทศหลังสงครามกับโซเวียตเป็นผู้ให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มอัลกออิดะห์โดยตรง

จนอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มติดอาวุธนี้อาศัยอยู่ในเขตอธิปไตยของรัฐอัฟกานิสถาน และเป็นเหตุผลที่สหรัฐใช้ในการโจมตีเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบจารีตนิยม

ทั้งยังหวังว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยในอัฟกานิสถานจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การก่อการร้ายถูกกวาดล้างออกไปด้วย

กล่าวคือ ผู้นำสหรัฐหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาธิปไตยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการร้าย

การใช้มาตรการทางทหารเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ ทำให้สงครามอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในสนามรบที่สำคัญของศตวรรษที่ 21

เรื่องราวและแง่มุมของการรบในพื้นที่ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามโดยตรงว่า แล้วสหรัฐจะสามารถเอาชนะสงครามนี้ได้จริงหรือไม่

จนเกิดมุมมองด้านกลับไม่ต่างจากปัญหาของสหรัฐในสงครามเวียดนาม และโซเวียตในสงครามอัฟกานิสถาน

กล่าวคือ แม้สหรัฐอาจ “ชนะการรบ” ในพื้นที่ต่างๆ ได้ในช่วงต้นของสงคราม ด้วยเงื่อนไขของความเหนือกว่าของกำลังรบและทรัพยากร ซึ่งเห็นได้จากการโค่นล้มรัฐบาลทาลิบัน และการกวาดล้างกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และประสบความสูญเสียน้อยมาก จนเกิดความเชื่อในด้านหนึ่งว่า สหรัฐชนะสงคราม และชนะด้วยความเหนือกว่าของเทคโนโลยี

แต่สงครามที่รออยู่หลังจากความสำเร็จในการโค่นรัฐบาลทาลิบัน กลายเป็นความท้าทายชุดใหญ่ทั้งในทางการเมืองและการทหาร เพราะการเข้าควบคุมพื้นที่ของอัฟกานิสถานไม่ใช่เรื่องง่ายในทางทหาร ซึ่งโซเวียตเองก็เคยเผชิญกับปัญหาเช่นนี้มาแล้ว ถ้าเช่นนั้นแล้ว สหรัฐจะ “ชนะสงคราม” ในอัฟกานิสถานได้อย่างไร

ฉะนั้น หลังจากชัยชนะการรบในช่วงต้นแล้ว การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบกลายเป็นสถานการณ์ที่สหรัฐต้องเผชิญอย่างน่ากังวล เพราะเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดข้อสังเกตว่า โอกาสที่สหรัฐจะ “ชนะสงคราม” ได้อย่างแท้จริง อาจจะไม่ต่างจากปัญหาเดิมของสหรัฐในสงครามเวียดนาม

จนอาจกล่าวได้ว่าโจทย์สงครามเวียดนามกลับมา “หลอกหลอน” กองทัพอเมริกันอีกครั้งในศตวรรษที่ 21

 

จุดจบของสงคราม!

ในที่สุดสงครามอัฟกานิสถานเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายในวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ด้วยการที่กลุ่มทาลีบันที่พ่ายแพ้ไปตั้งแต่เมื่อเริ่มสงคราม สามารถกลับเข้ามายึดคาบูลได้อีกครั้ง อันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงการสิ้นสุดของ “สงคราม 20 ปี” ที่จบลงด้วยการถอนตัวของสหรัฐ

และให้คำตอบในอีกมุมหนึ่งว่า กระบวนการสร้างชาติของอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนทุกอย่างจากสหรัฐนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จเลย

โดยเฉพาะผลจากปัญหาการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลและในกองทัพ ซึ่งแทบไม่ต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลเวียดนามใต้มาแล้ว

หรือว่าสหรัฐในปัจจุบันลืมบทเรียนความล้มเหลวของการเมืองเวียดนามใต้แล้ว

อย่างไรก็ตาม อาจจะมองในอีกมุมหนึ่งได้ว่า หลังจากสหรัฐเปิดสงครามอัฟกานิสถาน และตามมาด้วย “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ที่เปิดการ “ไล่ล่าและติดตาม” เครือข่ายก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ ของโลก จนดูเหมือนว่าสหรัฐจะสามารถควบคุมการก่อเหตุรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง

แม้จะเกิดกลุ่มติดอาวุธขึ้นมาใหม่หลังจากการเสียชีวิตของบิน ลาเดน คือกลุ่มรัฐอิสลาม (หรือกลุ่มไอเอส) ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการในอิรักและซีเรีย และขยายปฏิบัติการเข้าสู่พื้นที่ของยุโรปในเวลาต่อมา

แต่สุดท้ายแล้ว ก็ถูกปราบปรามลงได้ พร้อมทั้งการสูญเสียพื้นที่การควบคุมหลัก

และสุดท้ายคือ การแตกของเมืองรักกา (Raqqa) ซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งกลุ่มดังกล่าวในวันนี้แทบไม่เป็นปัญหาภัยคุกคามอีกแต่อย่างใด

ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะพอตอบได้ว่า สองทศวรรษหลังจากเหตุการณ์ 9/11 แล้ว สหรัฐสามารถรอดพ้นจากการโจมตีขนาดใหญ่ของกลุ่มก่อการร้ายได้ แม้ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจากเครือข่ายของกลุ่มบ้างก็ตาม

แต่ก็ต้องถือว่าเป็น 20 ปีที่สหรัฐยังสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธนี้

และเป็นช่วงเวลาสองทศวรรษที่ประเด็นปัญหาเรื่องการก่อการร้ายจากกลุ่มติดอาวุธของโลกอิสลาม กลายเป็น “วาระความมั่นคง” ที่ทั่วโลกต้องสนใจศึกษาในทางวิชาการ และสนใจติดตามในทางข่าวกรอง เพราะหลายๆ ประเทศล้วนต้องเผชิญโจทย์ความรุนแรงชุดนี้ไม่แตกต่างกัน

ในอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายคือ การแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง (WMD) เพราะมีความกังวลในหมู่ผู้นำของโลกตะวันตกอย่างมากว่า หากกลุ่มติดอาวุธสามารถยกระดับขีดความสามารถทางทหาร ด้วยการเป็นผู้ครอบครองอาวุธดังกล่าวแล้ว การก่อการร้ายที่เกิดกับโลกตะวันตกในอนาคตจะมีความรุนแรงอย่างมาก

ประเด็นเช่นนี้นำไปสู่การตัดสินใจเปิด “สงครามอิรัก” ในปี 2003 เพื่อจัดการกับการครอบครองอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูงของอิรัก

แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ตรวจพบอาวุธดังกล่าว แม้จะสามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้ก็ตาม และมีความพยายามอย่างมากที่ก่อให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของอิรัก

 

ความท้าทายคู่ขนาน

แต่ในอีกด้านของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐทุ่ม “กำลังพล-งบประมาณ-ทรัพยากร” เข้าต่อสู้กับภัยคุกคามเช่นนี้ โลกของการเมืองระหว่างประเทศกลับเห็นถึงการเติบใหญ่ของรัฐมหาอำนาจใหม่ที่ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็น “คู่แข่งขัน”… การเติบโตของจีนกลายเป็น “โจทย์ยุทธศาสตร์คู่ขนาน” กับปัญหาการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธของโลกอิสลาม หรือเป็นดัง “ปัญหาสองสงคราม” ของผู้นำสหรัฐ

สหรัฐต้องใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างมากในสงครามต่อต้านก่อการร้าย และขยายตัวต่อมาเป็นสงครามอัฟกานิสถานในปลายปี 2001 และตามมาด้วยสงครามอิรักในปี 2003 ซึ่งอาจจะแทบไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดกับสหรัฐในสงครามเวียดนามมาแล้ว คือ “สงครามทำให้รัฐจน” ซึ่งผลของสงครามมีผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐโดยตรง ทั้งสหรัฐในช่วงที่ผ่านมายังต้องเผชิญกับความสูญเสียภายในจากการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

ในโลกปัจจุบัน เมื่อสหรัฐต้องเผชิญกับความท้าทายกับการขยายบทบาทของจีน ที่พยายาม “เร่งเครื่อง” แซงขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหญ่ของโลกให้ได้นั้น ทำให้การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นนี้เป็น “โจทย์ยุทธศาสตร์” ที่สำคัญหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งผู้นำสหรัฐจะต้องกำหนดทิศทางการต่อสู้ในเวทีโลกให้ได้

อย่างน้อยจะเห็นได้ว่า เมื่อสหรัฐและชาติตะวันตกถอนตัวออกแล้ว จีนได้แสดงตัวอย่างเต็มที่ที่จะเข้ามามีบทบาทแทน

โดยเฉพาะจีนประกาศที่จะเป็นผู้เข้าไปช่วยเหลืออัฟกานิสถานในการพัฒนาเศรษฐกิจ

จนดูเหมือนว่าผลจากการโจมตีสหรัฐในกรณี 9/11 ที่นำไปสู่สงครามอัฟกานิสถานนั้น จบลงด้วยการรุกของจีน

อันเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการขยายอิทธิพลของจีนเข้าไปในเอเชียกลางแทนมหาอำนาจตะวันตก

อย่างไรก็ตาม การโจมตีเวิลด์เทรดเดินทางมาครบรอบ 20 ปี… เหตุการณ์ 9/11 เป็นเส้นเวลาสำคัญของโลกในยุคสมัยเรา และเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนโลกอย่างมาก พร้อมกับทิ้งมรดกทางยุทธศาสตร์ไว้ให้โลกยุคหลัง 11 กันยายน โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้าย

แต่ในอีกด้าน สงคราม 20 ปี กลับปิดฉากลงด้วยการเปิดโจทย์ใหม่ที่สำคัญคือ การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเอเชียกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบทางยุทธศาสตร์ต่อเอเชียโดยรวมในอนาคต…

โลกเปลี่ยนและนำความท้าทายใหม่มาอีกครั้งหลัง 11 กันยายน!