ก่อสร้างที่ดิน : การเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจ / นาย ต.

ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

 

 

การเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจ

 

เมื่อระดับความรุนแรงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง เรื่องที่จะเป็นประเด็นอันดับหนึ่งของประเทศที่ต้องพิจารณาและผลักดัน คือเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงการลงทุนจากต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และการผลิตสินค้าบริการ การจ้างงานภายในประเทศ

แต่ปัญหาอุปสรรคข้อแรกของการลงทุนจากต่างประเทศไทยในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องการเงินการคลัง ไม่ใช่เรื่องค่าเงิน ไม่ใช่เพดานหนี้เงินกู้สาธารณะที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หรือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก

แต่ปัญหาแรกที่บรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งต่างประเทศซึ่งนักลงทุนใช้อ้างอิงในการตัดสินลงทุน มองประเทศไทย คือปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง

การเมืองที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร

การเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและสถาบันหลักสำคัญๆ ของประเทศ

แต่นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่ามีปัญหาเสถียรภาพ

 

ปัญหาอันดับสอง ที่พวกเขามอง คือการฟื้นตัวช้าทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เรื่องนี้คงต่อเนื่องจากปัญหาการรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจระหว่างนี้ด้วย

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการมาแล้ว 2 รอบ

รอบแรกปีที่แล้ว เป็นมาตรการการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะสั้น

รอบที่สองเมื่อ 19 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง คราวนี้เปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยเห็นว่าปัญหาผลกระทบจากโควิดไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น แต่เป็นปัญหาระยะยาว มาตรการใหม่จึงมุ่งไปที่การให้ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยและ SME

อย่างที่ทราบกันว่า การฟื้นเศรษฐกิจคราวนี้มาตรการการเงินสร้างผลได้ไม่มาก เพราะอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานต่ำมากอยู่แล้วที่ 0.5% ลดลงไปอีกก็ไม่สร้างแรงจูงใจอะไรอีกนัก ส่วนทางด้านปริมาณเงินก็มีอยู่มากมายในระบบการเงิน ค่อนไปทางล้นเสียด้วยซ้ำ

มาตรการที่ต้องเป็นพระเอกเป็นตัวหลักในการฟื้นเศรษฐกิจจึงต้องเป็นมาตรการการคลัง ซึ่งถ้าตามมาตรฐานสากล เขาใช้กันอยู่ 4 ลำดับ คือ (1) เยียวยาผลกระทบ (2) ช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือน (3) กระตุ้นเศรษฐกิจ (4) ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ในประเทศไทยที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ จะรู้กันแต่นโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยการแจกเงินเท่านั้น การช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนยังไม่รู้ จะผ่อนปรนภาษีอะไรอย่างไรหรือไม่ หรือจะอุดหนุนเงินอะไร ยังไม่ชัดเจน

ยิ่งในระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว ไม่เคยได้ยินผู้นำรัฐบาลออกมาแถลง

และยังไม่เห็นมีมาตรการหรือโครงการใดๆ จะกระตุ้นตรงไหนด้วยเงินเท่าไหร่ ด้วยวิธีอะไร และคาดผลลัพธ์อย่างไร ยังไม่มี

โครงสร้างเศรษฐกิจมีปัญหาตรงไหนยังไง ต้องปรับอย่างไร เมื่อไหร่ ก็ยังไม่เคยมีเช่นกัน

 

จนมีคำถามว่า จะรู้กันไหมว่ามีปัญหาและปัญหาอยู่ตรงไหน

ทางออกจะทำอย่างไร หาคำตอบยากกว่าการฟื้นเศรษฐกิจอีก ไม่ใช่แค่เพราะนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีม ครม.เศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการควบคุมโควิด หรือ ศบค. คือคนคนเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

แต่กลไกทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 2560 องค์กรอิสระต่างๆ และ 250 ส.ว.ให้ไว้ทางเดียวคือคนคนนี้ คณะนี้เท่านั้น ไม่อาจมีทางเลือกอื่น

การเมืองปัจจุบันจึงเป็นอุปสรรคแรกอุปสรรคใหญ่ของเศรษฐกิจ