ปริศนาแห่งการปฏิวัติ 2475 (ตอนต้น) : ว่าด้วยความเลี่ยงไม่ได้ [เกษียร เตชะพีระ]

เกษียร เตชะพีระ

เนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีแห่งการปฏิวัติบอลเชวิกของรัสเซีย Sheila Fitzpatrick ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย ผู้คร่ำหวอดการศึกษาค้นคว้าเรื่องรัสเซียและสหภาพโซเวียตมาหลายสิบปี ได้เขียนบทความปริทัศน์หนังสือ 5 เล่มเกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาระยะใกล้ๆ นี้ (“What”s Left”, London Review of Books, 39:7, 30 March 2017, 13-15) และตั้งข้อสังเกตว่าปริศนาคาค้างจากการปฏิวัติรัสเซียเมื่อร้อยปีก่อนซึ่งยังเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันในหมู่ผู้สนใจศึกษาเรื่องนี้มีหลักๆ อยู่ด้วยกันสองประการ ได้แก่ :-

1) ปริศนาเรื่อง inevitability กล่าวคือ การปฏิวัติรัสเซียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่? และ

2) ปริศนาเรื่อง continuity กล่าวคือ มีความต่อเนื่องโดยแก่นสารสาระหรือไม่ระหว่างการปฏิวัติบอลเชวิกที่นำโดยเลนินในปี ค.ศ.1917 กับ ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของสตาลินที่ปรากฏรูปรอยชัดเจนราวปี ค.ศ.1928?

ข้อที่น่าสนใจคือคำถามทั้งสองประการก็ดูจะยังเป็นปริศนาคาใจในโอกาสครบรอบ 85 ปีแห่งการปฏิวัติสยาม 2475 ปีนี้ด้วยเหมือนกัน

ดังเห็นได้จากการปรากฏข้อวิจารณ์แบบ counterfactual หรือ what if history ในทำนองติ๊งต่างว่าถ้าหากการปฏิวัติ 2475 ไม่เคยเกิดขึ้น ป่านฉะนี้บ้านเมือง, การเมืองการปกครอง, หรือระบอบประชาธิปไตยไทยก็คงจะ…ไปแล้ว ฯลฯ

ในฐานะครูสอนวิชาการเมืองการปกครองไทยที่ธรรมศาสตร์มาเกือบยี่สิบปี คำถามทำนองนี้ก็เคยผ่านเข้ามาในครรลองคิดด้วยเหมือนกัน ซึ่งหลังจากอ่านค้นทบทวนประวัติศาสตร์ยุคนั้นหลายรอบ ผมก็ได้ข้อสรุปส่วนตัวว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้น

ขอจำแนกประเด็นให้ชัดก่อนนะครับว่า การปฏิวัติ 2475 ที่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงเป็นประเด็นหนึ่ง

ส่วนการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง สองประเด็นย่อมเกี่ยวพันกันอยู่ แต่กล่าวเฉพาะในแง่มุมของ “ความเลี่ยงไม่ได้” (inevitability) ผมคิดว่าควรพิจารณาแยกจากกัน

พูดอีกอย่างก็คือการปฏิวัติ 2475 นั้นสุกงอมแล้วในทางการเมือง

กล่าวคือ มีเงื่อนไขปัจจัยทางการเมืองมาประชุมกันพร้อมมูลที่ทำให้มันย่อมต้องบังเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เหมือนมะม่วงที่สุกงอมคาต้นแล้วรอวันหล่นลงพื้นเท่านั้นเอง (หากยืมสำนวนอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ที่กล่าวแก่ กปปส.)

ทว่า ระบอบประชาธิปไตยสำหรับสยามยุคนั้นยังไม่สุกงอมในทางสังคม

กล่าวคือ ยังไม่มีเงื่อนไขปัจจัยทางสังคมในความหมายกลุ่มพลังอิสระในสังคมนอกระบบราชการซึ่งพร้อมจะเป็นพื้นฐานปึกแผ่นแน่นหนาให้แก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทางประชาธิปไตย และรองรับสัมพันธภาพทางอำนาจใหม่ที่จะเบ้เอียงจากรัฐราชการไปสู่พลังอิสระในสังคมนอกรัฐได้

กว่าพลังนอกระบบราชการที่ว่านั้นจะบังเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยก็เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผ่านไปสิบกว่าปี จนบรรดาชั้นชนกระฎุมพีนอกระบบราชการทั้งหลายเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นมหาศาลและกลายเป็นฐานมวลชนให้แก่ขบวนการนักศึกษาประชาชนที่ลุกฮือโค่นเผด็จการทหารลง

และเปิดทางให้ประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

ที่ว่าการปฏิวัติ 2475 เลี่ยงไม่ได้ในทางการเมืองนั้น มีเหตุปัจจัยสำคัญอยู่ 2-3 ประการด้วยกัน ได้แก่ :

1) รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สมัยใหม่ซึ่งเพิ่งถูกสร้างขึ้นแทนที่รัฐราชสมบัติในระบบจตุสดมภ์เวียง-วัง-คลัง-นาแต่เดิม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จประพาสประเทศข้างเคียงซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกได้แก่ ชวา, มลายา, พม่า, อินเดีย เพื่อทรงศึกษาปรับแปลงเทคโนโลยีการสร้างรัฐราชการรวมศูนย์ของเจ้าอาณานิคมตะวันตกมาใช้ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย ส่งผลต่อการปฏิรูปสยามประเทศมากกว่าการเสด็จยุโรป!!!”, https://www.silpa-mag.com/featured/article_2923)

ปรากฏว่าในรัชกาลต่อมา รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามก็ประสบความขัดแย้งขั้นมูลฐานในเนื้อในของรัฐดังกล่าว ระหว่าง พระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ กับ พลังกลไกแห่งระบบราชการใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้น

ในประเด็นที่ว่า ตกลงความเป็นเจ้าของและสิทธิอำนาจเหนือรัฐดังกล่าว พึงเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน หรือของ “ชาติ” ในสำนึกแห่งพลังข้าราชการหัวใหม่ซึ่งมีพวกเขาเองเป็นตัวแทน (Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, 2004, p. 66, 92)

ดังที่คณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 และคณะราษฎร พ.ศ.2475 ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการทหารและพลเรือนระดับกลางลงมาปักใจมั่นว่าเป็นคำตอบหลัง (ณัฐพล ใจจริง, “100 ปีของความพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตย : “คณะ ร.ศ.130” และความเป็นมาของความคิด “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทย”, จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปีประชาธิปไตย, 2556, http://www.kas.de/wf/doc/kas_38397-1522-1-30.pdf?140801044122)

2) รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามประสบปัญหาจุดอ่อนใหญ่ 2 ประการ คือ การนำของรัฐมีลักษณะสอดรับปรับตามพระราชนิยมส่วนพระองค์ในแต่ละรัชกาลมากกว่าจะเป็นสถาบัน (institutionalization)

และ ฐานแคบ กล่าวคือ มีกลุ่มพลังอำนาจที่มีผลประโยชน์ได้เสียและรองรับความมั่นคงของรัฐนี้จำกัดวง เฉพาะเจ้านายใกล้ชิด ขุนนางภักดีและเชื้อสายเท่านั้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย”, ศิลปวัฒนธรรม, 15:3, มกราคม 2537)

สำหรับความเป็นสถาบัน (institutionalization) ที่ขาดพร่องไปนั้น ขออ้างอิงความเข้าใจตามนิยามของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะขุนนางเจ้านายในยุโรปที่กราบบังคมทูลถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามที่ทรงปรึกษาไป ความว่า :

“คอนสติติวชั่นว่าเป็นเหมือนดั่งเครื่องจักรที่เมื่อเวลาติดไฟเข้าแล้ว ก็อาจสามารถที่จะเดินไปได้เอง ไม่ต้องไปช่วยหมุนจักรโน้นจักรนี้ที่จะให้เดินสะดวกขึ้นอีก”

(“จัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณี ฤๅคอนสติติวชั่นใหม่ตามทางชาวยุโรป”, พ.ศ.2428)

3) ส่วนความแคบจำกัดของฐานแห่งรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ อาจเห็นได้จากตัวเลขจำนวนประชากรและข้าราชการเปรียบเทียบหลังการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังต่อไปนี้ :

ก็แลชนชั้นนำเจ้านายขุนนางแห่งรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สมัยนั้นที่มีจำนวนเพียงราว 500 กว่าคน จะบริหารปกครองอยู่เหนือสยามประเทศที่มีข้าราชการชั้นผู้น้อยลงไป 7 หมื่น – 8 หมื่นคน และมีประชากรทั้งสิ้นถึงราว 12-13 ล้านคน อย่างเข้มแข็งมั่นคงได้อย่างไร?

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นและเข้าพระราชหฤทัยจุดอ่อนสองประการดังกล่าว และทรงพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของพระองค์ด้วยการสร้างและรื้อฟื้นสถาบันทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมากำกับกระบวนการใช้พระราชอำนาจให้มีขั้นตอนเป็นระบบระเบียบ และขยายฐานอำนาจของระบบออกไปครอบคลุมตัวแทนของกลุ่มคนใหม่ๆ ทว่า ออกจะสายเกินการณ์ไปและผิดจังหวะ ทำให้มาตรการเหล่านี้กลับส่งผลสกัดขัดขวางถ่วงรั้งการปฏิรูปของพระองค์เองในทางปฏิบัติ

ความเลี่ยงไม่ได้ (inevitability) ทางการเมืองของการปฏิวัติ 2475 ในประวัติศาสตร์ก็มีด้วยประการฉะนี้

(ต่อประเด็น continuity ของการปฏิวัติ 2475 ตอนหน้า)