เอกชนเชียร์แบงก์ชาติ… รัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน การเมืองเย้ย ‘บิ๊กตู่’ ศก.พัง ขุนคลัง ‘เคาะ’ นิ่ม เม็ดเงินพอสู้โควิด/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เอกชนเชียร์แบงก์ชาติ…

รัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน

การเมืองเย้ย ‘บิ๊กตู่’ ศก.พัง

ขุนคลัง ‘เคาะ’ นิ่ม เม็ดเงินพอสู้โควิด

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ได้แพร่ระบาดกระจายเป็นจำนวนมาก ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม มีอาการป่วยที่รุนแรงมากกว่า จึงสร้างความวิตกไปทั่วโลก

เพราะไม่ว่าประเทศที่มีประชากรได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว แต่ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงเหมือนเดิม

ในอีกทางหนึ่งกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากประชากรจะยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มากพอ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหยั้ง

ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของอาเซียนมีการปรับลดลงมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่หลายสำนักประเมินกันไว้ว่า จีดีพีปีนี้อาจจะเข้าสู่ติดลบเป็นปีที่ 2 หรือขยายตัวไม่ถึง 1%

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลว่า ควรจะต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท

เหตุผลมาจาก “หลุมรายได้” ที่หายไปจากทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

เมื่อรวมกับวงเงินกู้ก่อนหน้า 1.5 ล้านล้านบาท ก็จะรวมเป็นเงินกู้ 2.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการกู้เงินเพื่อชดเชยการทำงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ปี 2563 เฉลี่ยเกือบปีละ 7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพิ่มเติมจะช่วยให้จีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม

โดยคาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพี ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574)

จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นค้านกับแนวคิดของผู้ว่าการแบงก์ชาติรอบนี้

โดยผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ระบุว่า เดิมมองอยู่แล้วว่ารัฐบาลอาจต้องใช้เงินราว 2 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้กู้มาแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าที่ควร และใช้ไปกับการเยียวยาเยอะ ขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีนก็ยังทำได้ไม่ดีนัก ทำให้เราเริ่มมองว่าการกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ตัวเลขอาจต้องเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “สนั่น อังอุบลกุล” ระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ได้รับความเสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์ค่อนข้างมาก ซึ่งหากการล็อกดาวน์ดำเนินไปถึงเดือนกันยายน ความเสียหายอาจจะมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำให้การขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 65-70% อาจเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อความเสียหายมากยาต้องแรง คิดว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทคงจะไม่พอแล้ว และรอไปใช้ในไตรมาส 4 อาจช้าไป ต้องนำมาใช้ในไตรมาสนี้เลย จากนั้นควรมีการกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพราะขณะนี้ผลกระทบของโควิดที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงมาก ถ้ากระตุ้นช้าและไม่ดีพอจีดีพีจะติดลบยิ่งขึ้น

โดยหอการค้ามองว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องอัดฉีดเงินอีกประมาณ 5 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 4 และอัดฉีดเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกปี 2565

 

ฟากการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ออกมากล่าวว่า อย่ากังวลเรื่องเพดานหนี้มากนัก เพราะเพดานหนี้สาธารณะยังสามารถขยายเพิ่มเติมได้อีกในภาวะวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่จำเป็นต้องกำหนดที่ 60% ของจีดีพีเสมอไป ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกก็มีเพดานหนี้ที่สูงกว่า 100%

ดังนั้น ควรปรับเพดานหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะดีกว่า ประกอบกับตอนนี้ภาพรวมในด้านความเสี่ยงทางการคลังยังคงสมเหตุสมผล ภาคเศรษฐกิจไทยยังรองรับได้ และดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวในช่วงนี้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหมาะสมที่จะกู้เพิ่มเติมเพื่อมาใช้ในยามจำเป็นที่สุดแล้ว หากตัดสินใจช้าหรือรอไปกู้ในอนาคต อาจต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้น เพราะในปีหน้านั้นมีสัญญาณว่าดอกเบี้ยฝั่งอเมริกาจะปรับตัวสูงขึ้น

ที่น่าแปลกใจคือฟากของฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ออกมาเห็นด้วยกับการกู้เงินเพิ่มแต่ก็มีข้อทวงติง โดยกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรค ระบุว่า ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะใช้เงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อพิจารณาย้อนหลังจากการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย ไม่นำไปซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพเข้ามาฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง จนเกิดการระบาดรอบใหม่ ทำให้คนเจ็บคนตาย และเศรษฐกิจพังพินาศ แนะนำต้องเริ่มต้นจากการลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นทั้งหมด งบฯ ทหาร การเกณฑ์ทหาร และงบฯ ซื้ออาวุธ บ้างต้องลดและบ้างต้องยกเลิกไปเลย กล้าหรือไม่ ก่อนที่จะคิดกู้เพิ่ม

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยคือโทนี่ หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามตรงนี้ว่า การกู้เพิ่มจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงมาก

“ผมว่ามันเหนื่อย เพราะศักยภาพในการสร้างรายได้ของประเทศยังไม่พอ ที่จะต้องกู้ขนาดนั้น และสอง การขึ้นภาษีแวตในเวลานี้ก็ยิ่งไม่ใช่เวลา ไม่ใช่ว่าอยากได้เงินเพิ่มขึ้นเท่าไรก็เพิ่มภาษีเท่านั้น ทฤษฎีมันไม่ได้ Simple เพราะทางปฏิบัติกับทฤษฎีไม่เหมือนกัน ท่านผู้ว่าแนะนำก็ดี แต่ว่าผมไม่เห็นด้วย”

 

ที่เซอร์ไพรส์มากที่สุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” คนของรัฐบาลเอง ออกมาบอกปัดว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการกู้เงินเพิ่มดังกล่าวตามที่แบงก์ชาติเสนอมา

เนื่องจากขณะนี้ยังมีเม็ดเงินที่ยังสามารถใช้บริหารจัดการในช่วงสถานการณ์โควิดได้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ซึ่งยังเพียงพอต่อการเยียวยาสถานการณ์ในขณะนี้

เมื่อขุนคลังพูดสรุปปิดทางขนาดนี้…ก็เอวังสิครับท่าน