ไม่สร้างกำลังแนวร่วม ไม่มียุทธศาสตร์…ไม่มีทางชนะ (จบ)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ไม่สร้างกำลังแนวร่วม

ไม่มียุทธศาสตร์…ไม่มีทางชนะ (จบ)

 

ฉบับที่แล้วได้พูดถึงการคุมยุทธศาสตร์ทั่วด้านของกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร ทั้งรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ กองทัพ ระบบราชการ อีกทั้งยังมีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาสนับสนุน เพราะได้หาผลประโยชน์จากงบประมาณมหาศาล

แต่พวกนิยมประชาธิปไตยของแท้ ใช้แนวทางการเลือกตั้งเข้าต่อสู้อย่างเดียว ผลคือแพ้ บางคนบอกว่าถ้าลุยสู้ทุกรูปแบบตั้งแต่ต้น ป่านนี้จบไปนานแล้ว เพราะโครงสร้างอำนาจจริงของประเทศไทยไม่ได้วางอยู่แค่บนหีบบัตรเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์ทั่วไปมองจากอดีตว่า เพราะทักษิณ ชินวัตร เป็นนักปฏิรูป ไม่ใช่นักปฏิวัติ

และพรรคไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่เดินแนวทางรัฐสภา จึงไม่ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ไม่ได้คิดต่อสู้ด้วยวิธีอื่นๆ นักการเมืองแทบทั้งหมดยอมสงบนิ่ง ยอมถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยอมให้ยุบพรรค ยอมใช้รัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร คิดว่าชนะเลือกตั้งแล้วจบ

ผลของการศึก คือคนที่ยึดอำนาจคุมได้เกือบหมด ยกเว้นประชาชน เพราะประชาชนดื้อตาใส นิ่งแต่ดื้อเพียงรอจังหวะ พอมีเลือกตั้งใหม่ก็สนับสนุนพรรคเดิม แต่ผู้อยู่เบื้องหลังและกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่ยอมแพ้ ทั้งดื้อและด้าน จึงใช้ทุกอำนาจเท่าที่มีอยู่ออกมาชิงอำนาจกลับ จนเกิดการฆ่าประชาชนครั้งใหญ่ในปี 2553 และรัฐประหารปี 2557

ถือเป็นการสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมไทย ทั้งกว้างทั่วแผ่นดิน และลึกถึงหัวใจ

 

สถานการณ์ผ่านมา 10 ปี

แม้มีอนาคตใหม่ แต่ยังคล้ายเดิม

แรงกดดันต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมทำให้เกิดพรรคอนาคตใหม่ โดยการนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดูเหมือนเป้าหมายมุ่งไปที่การเปลี่ยนโครงสร้าง

แต่การต่อสู้ที่ทำได้ก็ยังอยู่ในกรอบของการเลือกตั้งและผลก็ออกมา เช่นเดียวกับพรรคของทักษิณที่เคยได้ ส.ส.ถึง 200 กว่า บางครั้งก็เกินครึ่งสภาผู้แทนฯ แต่อนาคตใหม่เพิ่งเริ่มต้นมี ส.ส.ประมาณ 80 คนจะไปเหลืออะไร ทั้งถูกยุบพรรค โดนคดี และถูกซื้อ ส.ส. กรรมการตัวเก่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

แม้มีเป้าหมายเปลี่ยนโครงสร้าง แต่มองยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองใหม่ๆ ยังคงอยู่ในกรอบการเลือกตั้งเท่านั้น

จากนั้นก็เกิดการต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาที่ขึ้นมาประท้วงรัฐบาลและขยายตัวมาเรื่อยๆ มีทั้งกลุ่มเยาวชนและกลุ่มราษฎรซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ถ้านับช่วงเวลาหลังเลือกตั้ง 2562 การประท้วงที่มีขึ้นจนถึงวันนี้นับจำนวนครั้งไม่ถ้วนแล้ว และพบว่ายังมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่อยู่นอกเวทีประชาธิปไตย ซึ่งประเมินไม่ได้ว่าจะปะทุขึ้นมาเมื่อใด

มาถึงยุคที่มีวิกฤตโควิด การเมืองก็ปั่นป่วน มีแรงกดดันจากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ การแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ทางการเมือง มีแนวโน้มจะเร็วและแรง ทำให้พรรคต่างๆ แตกออก ทั้งไปตั้งพรรคใหม่ หรือไปอยู่พรรคอื่น

 

ยุทธศาสตร์ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ถ้าจะปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้าและพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ จำเป็นที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของการสร้างระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยการเปลี่ยนโครงสร้าง

1. ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เลือกโดยประชาชน และกำหนดหลักการใหญ่ๆ ที่จะสามารถสร้างฝ่ายนิติบัญญัติให้มาจากฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง มีการเลือกฝ่ายบริหารจากประชาชนโดยตรง มีการเลือกสภายุติธรรมจากประชาชนเพื่อจะใช้สร้างระบบตรวจสอบดูแล การบริหาร และเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ถ้ายังวนเวียนอยู่ตามโครงสร้างเก่า ประเทศก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าทันประเทศอื่นได้ ระบบบริหารแบบไร้ประสิทธิภาพ ระบบอุปถัมภ์และมีการคอรัปชั่นก็จะดำรงอยู่อย่างนี้ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนโครงสร้างนี้ให้เป็นกระแสให้คนได้ศึกษาและยอมรับการจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

2. ยุทธศาสตร์ของการตั้งพรรคไม่ว่าพรรคเล็กพรรคใหญ่ควรจะต้องมีฐานมวลชนที่สนับสนุนตัวเองอย่างเข้มแข็งจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่หาแต่คะแนนเสียงตอนเลือกตั้ง ถ้ามีแต่ฐานคะแนนเลือกตั้ง เวลาเกิดปัญหาอื่นๆ ทางการเมืองก็จะไม่มีแรงสนับสนุนที่เป็นจริง การมีเสียงในการเลือกตั้ง 10 ล้านเสียง อาจใช้ได้เฉพาะเวลาลงคะแนนเท่านั้น

สภาพทางการเมืองในวันนี้มีแรงกดดัน ที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการจะต่อสู้ฝ่าฟันไปได้นั้นจะต้องใช้กำลังทางการเมืองขนาดใหญ่ออกมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการต่างๆ

3. ต้องสร้างแนวร่วมของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และร่วมเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้อง ในสถานการณ์ที่ยังตกเป็นรองทางอำนาจการเมือง พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กจำเป็นจะต้องสร้างแนวร่วมขึ้นมาเป็นกำแพงที่แข็งแกร่งไม่ให้ถูกโจมตีจนแตกพ่ายอีก

ทั้งยังจะต้องนำไปร่วมกับกำลังของฝ่ายประชาชนหรือองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ที่อยู่นอกสภา ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมจึงจะมีโอกาสต่อสู้ได้มิ ฉะนั้นจะถูกทำลายไปทีละส่วน

แม้พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องแข่งขันกันในระบบการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีด้านที่ร่วมมือกันก็จะพ่ายแพ้ทั้งหมากกระดานใหญ่และกระดานเล็ก เพราะการเมืองบ้านเราไม่ใช่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่แข่งขันเสร็จมีคนได้เหรียญแล้วต่างคนก็แยกย้ายกันไป 4 ปีหน้ามาแข่งกันใหม่

แต่นี่เป็นชีวิตและความตายของประชาชนจำนวนหลายล้าน มีการต่อสู้กันมาแล้ว 15 ปี และถูกโกงมาตลอด

 

การเกิดพรรคใหม่

นักวิเคราะห์ประเมินว่าการบริหารของรัฐบาลและการสืบทอดอำนาจยาวนานถึง 7 ปีทำให้คนมองเห็นว่าไร้ฝีมือ ดังนั้น ฐานเสียงที่สนับสนุนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการย้ายไปเลือกพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งก็จะเป็นไปตามกระแสและทัศนคติทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือไหลไปตามนโยบายที่เสนอมาในช่วงเลือกตั้ง

แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมีระดับที่ต่างกัน เช่น เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐ อาจไม่เปลี่ยนขั้วโดดไปเลือกเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล แต่อาจไปเลือกพรรคกล้า พรรคสร้างไทย หรือพรรคเส้นทางใหม่

วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด ความเดือดร้อนจากการบริหารของรัฐบาลจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

แม้แต่ในฝ่ายประชาธิปไตยเอง ถึงวันนี้ก็ยังไม่อาจจะประเมินได้ว่าการแปรของคะแนนเสียงจะเหวี่ยงแรงแค่ไหน การเลือกตั้งครั้งนี้คงไม่ชี้ขาดกันที่เงินทุนและหน้าตา ส.ส.เก่าเท่านั้น

พรรคใหม่ที่ว่านี้อาจจะไม่ได้หมายถึงพรรคเล็กๆ เท่านั้น เพราะถ้ากระแสการเมืองที่ทำให้พรรครัฐบาลเก่าคะแนนหาย ก็อาจจะเกิดมีการแปลงกายไปเป็นพรรคใหม่ที่มีกำลังทุนและนักการเมืองเก่าจำนวนมาก เพราะนักการเมืองเชื่อว่าต้องเป็นรัฐบาลผสม

 

แนวทางการสู้ของพรรคขนาดเล็กที่เกิดใหม่

ถ้าคิดสู้การเมืองระยะยาวก็สู้ได้ทุกรูปแบบ

ถ้าใช้การเลือกตั้งแบบปี 2562 บัตรใบเดียว พรรคเล็กจะมีความยุ่งยากในการแข่งขัน เพราะถ้าอยากได้คะแนนมากก็ต้องส่งสมัครลง ส.ส.หลายร้อยเขตเพื่อจะเก็บคะแนนจากเขตเลือกตั้งทุกเขต แต่ถ้าเป็นระบบบัตร 2 ใบ แม้มี 400 เขตเลือกตั้ง ถ้าพรรคเล็กส่งแค่ 100 เขตเลือกตั้งสำหรับผู้จะลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังสามารถลงได้ทั้ง 400 เขตเพราะ กกต.กำหนดเบอร์ให้แต่ละพรรคไว้ 1 เบอร์เหมือนกันทั่วประเทศ แบบนี้ลงทุนน้อย ใช้คนน้อย

แต่วิธีคิดคะแนนแบบบัตรใบเดียวเก็บคะแนนเอาไปรวมทั้งประเทศเพื่อหาสัดส่วน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อนคะแนน 70,000 ก็จะได้ ส.ส. 1 คน เพราะคิดจากจำนวนเต็ม ส.ส. 500 คน พรรคที่ชนะ ส.ส.เขตเยอะอย่างเพื่อไทย ก็เลยไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย เพราะได้ ส.ส.เขตเยอะแล้ว ส่วนพรรคอนาคตใหม่คะแนนตามเขตต่างๆ แพ้ ได้ ส.ส.เขตมาไม่กี่คน แต่เอาคะแนนที่แพ้มารวมกัน มีจำนวนมากทำให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เยอะ

แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นบัตร 2 ใบและให้คิดคะแนนจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน คาดว่าคะแนนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนต้องมาจากฐานคะแนนเสียงถึง 300,000 คะแนน จะเห็นว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งมาจากคนมีชื่อเสียงมีความรู้ระดับประเทศ กว่าจะได้เป็น ส.ส.ในระบบบัตร 2 ใบจะผ่านด่านยากมาก ต้องใช้คะแนนหลายแสน ในขณะที่ ส.ส. เขตจากท้องถิ่นบางเขตมีคะแนน 30,000-50,000 ก็เป็น ส.ส.ได้แล้ว

ความแตกต่างตรงนี้ห่างกันมากจึงมีผู้เสนอว่าทำไมไม่ให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นเป็น 200 คน ส.ส.เขตจะมี 300- 400 คนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเขตเล็กก็ซื้อเสียงยากกว่าเขตใหญ่

ถ้าเจอบัตร 2 ใบ พรรคเล็กเกิดใหม่อาจถอย แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่กลัวไม่ว่าแบบไหน พวกนี้คือพรรคท้องถิ่น เช่น ชลบุรี พวกเขาหวังชนะ ส.ส.เขตทั้งหมด ไม่หวังปาร์ตี้ลิสต์

ส่วนพรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่สนใจว่าจะได้ ส.ส.กี่คน แต่เตรียมการต่อสู้ทั้งทางสภาและการเมืองภายนอกก็ไม่ต้องกังวล จะได้ 3 คน 5 คนก็สามารถต่อสู้ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือการต่อสู้ในสภาของพรรคก้าวไกล ปัจจุบันใช้ ส.ส.ไม่กี่คน

แต่ในความเป็นจริง การแก้ไขให้เลือกตั้งบัตร 2ใบ อาจเป็นภาพลวงตา (จะวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป) แต่เรื่องสำคัญอย่าง ส.ว.เป็นยุทธศาสตร์ ถ้าแก้ไขไม่ได้ การเลือกตั้งเป็นบัตร 1 หรือ 2 ใบ ก็กลายเป็นยุทธวิธีที่ไร้ค่า และสุดท้ายทุกอย่างจะเหมือนเดิม ส.ว. 250 คนยังเลือกนายกฯ ฝ่ายเขาอยู่ดี