ทำไมซ้อมทรมานชายแดนใต้ ไม่ดังเหมือนกับอดีต ผกก.โจ้ ปัญหาและข้อเสนอแนะ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ทำไมซ้อมทรมานชายแดนใต้

ไม่ดังเหมือนกับอดีต ผกก.โจ้

ปัญหาและข้อเสนอแนะ

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

24 สิงหาคม 2564 ประเด็นอดีตสารวัตรโจ้ หรือผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงดำ 6 ชั้น คลุมหัว (ซ้อมทรมาน) ผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องร้อนที่หลายคนทั่วประเทศหรือแม้แต่ต่างประเทศให้ความสนใจมาก

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมแบบนี้ (การซ้อมทรมาน) ซึ่งตลอดไฟใต้ 17 ปีมีรายงานหน่วยงานองค์กรเอกชนสิทธิมนุษยชนทั้งนานาชาติและประเทศไทยสะท้อนว่า การซ้อมทรมานมีมาตลอด

แต่มันไม่ดังเหมือนกับอดีต ผกก.โจ้ (แม้คนในพื้นที่จะพยายามอย่างมากที่จะส่งเสียง)

อับดุลเลาะ เงาะ จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ให้ข้อมูลว่า “จากที่ผมติดตามประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา (อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.จะนะ) พบว่าช่วงปี 2559 มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด แต่ช่วงเวลานั้นทางผมและเครือข่ายฯ ยังไม่ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่มาเริ่มทำฐานข้อมูลจากการร้องเรียนอย่างจริงจังก็เมื่อปี 2561-2564 ซึ่งพบว่า ปี 2561 มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษจำนวน 100 กว่าเคส ปี 2562 จำนวน 177 เคส ปี 2563 จำนวน 87 เคส และปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคมมีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 54 เคส

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วเคสที่ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดี ทาง JASAD ได้ตามไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด หรือแม้แต่ครอบครัวผู้เสียหายที่ได้ไปเยี่ยมระหว่างถูกควบคุมตัว JASAD ก็ได้ติดตามด้วยเช่นกัน

ข้อมูลที่ JASAD ได้รับการร้องเรียน มีฐานข้อมูลอ้างอิง โดยไม่ได้จงใจที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ดังนี้

 

จากการร้องเรียนตลอด 4 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-2564 พบว่า การซ้อมทรมานจะถูกกระทำช่วง 37 วันแรกหลังจากถูกควบคุมตัว โดยอาศัยกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ (1) กฎอัยการศึก (Martial Law) 7 วัน และ (2) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (Emergency Decree) 30 วัน

ซึ่งพบรูปแบบการซ้อมทรมานอยู่ 2 รูปแบบ (1) การซ้อมทรมานในส่วนของร่างกาย (2) การทรมานทางด้านจิตใจ

รูปแบบการซ้อมทรมานในส่วนของร่างกายแบ่งได้อีก 2 ประเภท (1.1) การซ้อมทรมานที่มีการทิ้งร่องรอยบาดแผล (1.2) การซ้อมทรมานแบบไม่เห็นร่องรอยและบาดแผล (White Torture)

วิธีการแรกที่เขาใช้ในการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย คือ “การทุบตี” โดยการนำกระบอง หรือไม้หน้าสามที่มีขนาดความยาวประมาณ 1 ศอก พันด้วยผ้าขนหนูหนาๆ แล้วตีเข้าไปที่ส่วนหลังของร่างกายและหน้าท้องของผู้เสียหาย

วิธีที่สอง คือ นำผ้าขนหนูเช่นเดียวกัน แต่วิธีนี้เขาจะพันไว้ที่มือ เพื่อชกต่อยเข้าไปที่ใบหน้าของผู้เสียหาย ซึ่งตอนโดนกระทำเขาไม่ได้ทำคนเดียว แต่จะร่วมมือกันกระทำ บางคนก็จะจับเท้า บางคนก็จะจับมือไพล่หลัง

วิธีที่สาม คือ นำผ้านวม หรือผ้าผืนใหญ่ๆ มาห่อที่ลำตัว เหมือนกับห่อศพ แล้วใช้ไม้หน้าสามทุบตีเข้าที่ลำตัวของผู้เสียหาย

วิธีที่สี่ คือ นำตัวผู้เสียหายเข้าไปแช่ในลังน้ำแข็ง โดยในลังนั้นเขาจะใส่น้ำแข็งครึ่งถังและเทน้ำเข้าไปอีกครึ่งถัง แล้วบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปอยู่ในนั้นโดยให้ถอดเสื้อผ้าเปลือยกายทั้งหมด บางครั้งก็จะมีการกดศีรษะให้จมน้ำ พอเริ่มขาดอากาศหายใจเขาก็จะปล่อยมือ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าผู้เสียหายจะยอมทำตามเขา ซึ่งผู้เสียหายบอกว่าวิธีนี้เขาจะทำกันนอกห้อง หรือนอกอาคาร เขาจะเรียกสถานที่นี้ว่า “หน้า บ.ก.” ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามันย่อมาจากคำว่าอะไร

วิธีที่ห้า คือ จะใช้เครื่องมือไฟฟ้าเพื่อทำการช็อต ผู้เสียหายให้ข้อมูลว่า เครื่องมือนี้จะมีรูปเป็นสี่เหลี่ยม มีขนาดเท่าฝ่ามือ วิธีการของเขา คือ ให้ผู้เสียหายเปลือยท่อนล่างแล้วหันหลังชันเข่าไปด้านหน้าในสภาพโก้งโค้ง แล้วใช้ผ้าชิ้นเล็กที่ชุบน้ำยัดเข้าไปในทวารหนัก หลังจากนั้นจะใช้เครื่องมือไฟฟ้าดังกล่าวมาแนบไว้กับผ้าเปียกที่เสียบไว้ในทวารหนัก บางเคสก็จะถูกช็อตเข้าไปที่อวัยวะเพศ

วิธีที่หก คือ ใช้ถุงดำครอบศีรษะ คล้ายกับที่เราได้เห็นการกระทำของผู้กำกับโจ้ สภ.เมืองนครสวรรค์ ได้ทำกับผู้ต้องหาคดียาเสพติด แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้เสียหายจะบอกว่าเป็นพลาสติกที่เปียกน้ำมาครอบไว้บนศีรษะ เวลาหายใจมันก็จะแนบติดกับใบหน้าโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็จะรัดตรงที่คอเพื่อไม่ให้หายใจ พอเริ่มเห็นท่าไม่ดีเขาก็จะคลายถุงออก ซึ่งเขาจะทำอย่างนี้จนกว่าผู้เสียหายจะยอมพูด

และวิธีที่เจ็ด คือ ทำให้สำลักน้ำ (Waterboarding) ซึ่งเป็นวิธีที่ไฮไลต์มากที่สุด เขาจะให้ผู้เสียหายนอนหงายในสภาพเปลือยกาย มัดมือ มัดเท้า แล้วนำผ้าขนหนูมาวางไว้บนใบหน้า และนำสายยางรดน้ำมาฉีดใส่บนผ้าขนหนูบริเวณจมูกและปาก เพื่อให้ผู้เสียหายสำลักน้ำ วิธีนี้บางเคสจะสลบไปประมาณ 30 วินาที ถึง 2 นาทีโดยประมาณ

 

ต่อมาช่วงปี 2561-2562 มีการส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนได้รับการตรวจสอบ หลังจากนั้นวิธีการซ้อมทรมานก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

อับดุลเลาะระบุว่า เขาจะใช้วิธีที่ไม่ให้เห็นบาดแผลร่องรอยด้วยการบังคับไม่ให้หลับนอนเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนติดต่อกัน โดยจะให้ผู้เสียหายยืนตรงนอกอาคาร หรือบางทีก็ให้ยืนเปลือยกายในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นจัด หากมีการแอบนั่ง หรือนอนหลับ ก็จะโดนเตะต่อยเพื่อให้ตื่นมายืนเหมือนเดิม พวกเขาจะผลัดเวรกันเฝ้า เป็นกะ กะละ 2 คน จะคอยเฝ้าดูผู้เสียหาย

วิธีการนี้ผลลัพธ์ออกมาคือ ผู้เสียหายจะเบลอ พูดจาไม่รู้เรื่อง หลายเคสจะได้รับการร้องเรียนจากครอบครัวที่ได้เข้าไปเยี่ยมผู้เสียหายว่าจะมีพฤติกรรมลักษณะนี้ นักสิทธิชายแดนใต้กล่าวไว้

อับดุลเลาะเปิดเผยถึงการทรมานในรูปแบบต่อไปว่า เขาจะมีการทรมานทางด้านจิตใจด้วย อย่างเช่น ข่มขู่ผู้เสียหายด้วยการนำญาติ พี่น้อง ภรรยา หรือลูกชาย มาสอบสวนอยู่ห้องข้างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายได้ยินเสียงของบุคคลเหล่านั้น ข่มขู่ว่าจะทำมิดีมิร้ายด้วยการจับถ่วงน้ำ แล้วเปิดก๊อกน้ำให้ผู้เสียหายได้ยิน จนทำให้หลายๆ เคสสยบยอมทำตามเขา เพราะกลัวคนรอบตัวจะได้รับอันตราย ทั้งที่ความจริงแล้วทุกฅนปลอดภัยดี แต่เขาจะใช้กลวิธีจิตวิทยามาหลอกหลอน สร้างละคร สร้างเรื่องขึ้นมา

ส่วนวิธีสุดท้าย คือ เขาจะนำผู้หญิงจากที่ไหนไม่รู้เข้ามาอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้เสียหายด้วยการเปลือยกายบางส่วนและขอร่วมหลับนอนด้วย ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทำร้ายจิตใจผู้เสียหายมากที่สุด เป็นต้น

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูปแบบ ประเภท และวิธีการซ้อมทรมานทั้งหมดนี้มันจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง หากมีแรงกดดันจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีการร้องเรียน เขาก็จะถามถึงร่องรอย หรือบาดแผล หรือหลักฐานที่โดนขีดข่วน ซึ่งหลังๆ มานี้มันกลับไม่มีร่องรอยทิ้งไว้ แต่ยืนยันว่าการซ้อมทรมานยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

ซ้อมทรมาน แม้คนพื้นที่ ประชาสังคม นักวิชาการและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะยืนยันว่ามีจริงที่ชายแดนใต้ แต่หน่วยความมั่นคงในพื้นที่และฝ่ายรัฐปฏิเสธมาตลอดและให้เอาหลักฐานมายืนยัน ดังนั้น มันก็เหมือนผี รู้ว่ามี แต่ไม่เคยเห็น และเหตุการณ์อดีต ผกก.โจ้ถ้าไม่คลิปหลุดก็ไม่สามารถเอาผิดได้ คนชายแดนภาคใต้สะท้อนว่า ทั้งๆ ที่ชายแดนภาคใต้มีการซ้อมทรมานมากกว่า 15 ปีแต่ไม่ดังเท่า คดี อดีตสารวัตรโจ้เพราะมันไม่มีกล้องวงจรปิดยืนยัน…หลายคนอาจจะไม่ได้รู้ว่าก่อนหน้านี้

การรายงานเรื่อง ถุงดำและการทรมาน อันตรายและถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้ ดั่งที่คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวไว้

ดังนั้น ขอบคุณกล้องวงจรปิดที่นครสวรรค์ที่ทำให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่เห็นและเป็นจริงได้

ข้อเสนอแนะ

1. ต้องผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และปรับปรุงเชิงโครงสร้าง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า “การลงโทษทางวินัยด้วยการย้ายตำแหน่ง ตำรวจหรือทหารที่ถูกข้อครหาร้องเรียนการซ้อมทรมานในอดีต ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัวได้

แต่ต้องมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมทั้งสังคมกดดันสภาฯ ให้พิจารณาให้ทันประชุมสมัยนี้ (ตีเหล็กให้ดังตอนที่มันยังร้อนและอารมณ์ร่วมของสังคม)

2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ทำไมต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะปัจจัยความความรุนแรงชายแดนภาคใต้มาจากประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังที่สุวรา แก้วนุ้ย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในกิจกรรมเสวนาออนไลน์ Online Media Accelerator Workshop ตอน “ชวนสื่อคุยกับคนสามจังหวัดชายแดนใต้” ในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ว่า หากเป็นไปได้ ปรับปรุงกระบวนการสอบสวน ซักถาม ผู้ถูกกล่าวหา และผู้ต้องหา ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น ห้องสอบสวน/ซักถามสีขาวยุคดิจิตอล โดยนำ IT Digital มามีส่วนร่วม โดยให้หลายภาคส่วนสามารถได้เข้าดูได้ แบบ Real Time ซึ่งบทเรียนวงจรปิดจนเป็นคลิปหลุดน่าจะเป็นคำตอบ

นอกจากนี้ เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรมีบทบาทมากว่านี้ในคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีที่ประชาชนสนใจมิใช่ปล่อยให้บทบาทนี้เป็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่อยู่ภายใต้องค์กร “หน่วยความมั่นคง” แม้จะมีคณะกรรมการดังกล่าวมาจากภาคประชาชนหลายภาคส่วน บทบาทของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ควรทำงานเชิงรุกในประเด็นนี้ไม่ว่าการตรวจสอบอำนาจรัฐและหนุนเสริมความรู้และการขับเคลื่อนภาคประชาชนให้มากขึ้น