ระเบียงเศรษฐกิจเพ้อฝัน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ระเบียงเศรษฐกิจเพ้อฝัน

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีความสำคัญด้านภูมิภาคแห่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจ (economic integration) ทั้งนี้ ด้วยภูมิภาคนี้มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) อยู่หลายอัน

แต่ที่สำคัญมากที่สุดน่าจะเป็น Belt and Road Initiative-BRI ซึ่งผมขอเรียกว่าย่อว่า บีอาร์ไอของจีน ทั้งนี้ มีงานวิจัยภาษาอังกฤษหลายชิ้นที่นำเสนอ ความเชื่อมโยง (connectivity) ของบีอาร์ไอโยงระหว่างจีน ปากีสถาน เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ใช้แนวคิดระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ผิดอะไร แต่งานมองแค่โครงสร้างกับผลได้ทางเศรษฐกิจ โดยขาดความเข้าใจ non-economic factor จนราวเพ้อฝัน

ผมจะสรุปสาระสำคัญของงานเหล่านนั้นโดยเรียงประเด็นตามพื้นที่

 

เมียนมา ระเบียงผืนดินข้ามภูมิภาค

งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาระเบียงเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับเมียนมาเป็นอย่างมาก งานเหล่านั้นชี้ว่า ความสัมพันธ์จีน-เมียนมาเคยทุลักทุเลช่วง 2011 ประธานาธิบดี Thein Sein ชะลอโครงการเขื่อน Myitsone รวมทั้งมีการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยชาวจีน กลุ่มโกกั้ง (Kokang) ในบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา

แม้ยุ่งยากแค่ไหน จีนยังคงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของเมียนมา

มีการวิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนไม่สามารถทำเมียนมาหายไปได้ สำหรับจีน เมียนมาสำคัญทั้งภูมิยุทธศาสตร์ ในฐานะระเบียงพื้นดิน (land corridor) เชื่อมต่อมณฑลจีนตอนใต้ ยูนนานกับมหาสมุทรอินเดีย มีโครงการ Shwe pipeline ซึ่งเชื่อมต่อยูนนานกับท่าเรือ Kyaukphu ที่เมียนมาอนุญาตน้ำมันและก๊าซส่งไปยังจีน โดยที่ไม่เกิดปัญหาเหมือนที่เกิดปัญหาเรื่อยๆ แบบที่ช่องแคบมะละกา

งานเหล่านั้นเห็นว่า ที่สำคัญกว่านั้น เมียนมามีความสำคัญในฐานะ ระเบียงพื้นดิน ก้าวข้ามช่องแคบมะละกา ตรงนี้น่าสนใจ พวกเขาเชื่อว่า ก้าวข้ามช่องแคบมะละกา เพราะโครงการลงทุนทางเศรษฐกิจของจีนในเมียนมาส่องให้เราเห็น China-Pakistan Economic Corridor-CPEC อันเป็นอภิมหาโครงการเอเชียใต้

เป็นตัวโชว์ของภูมิภาคเอเชียใต้มองเหมือนเส้นทางขนถ่ายข้ามผ่านแผ่นดินจากทะเลอาหรับกับจีน จากท่าเรือ Gwadar ปากีสถาน

 

สปป.ลาวและกัมพูชา ตัวโชว์อุษาคเนย์

งานวิจัยเสนอว่า สปป.ลาวและกัมพูชาใกล้ชิดที่สุดและความสัมพันธ์แน่นแฟ้นที่สุดกับจีนในภาคพื้นอุษาคเนย์

ที่ลาว ทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองคุนหมิง เมืองทางตอนใต้จีนกับเมืองหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว การก่อสร้างสะพาน อุโมงค์ และสถานีรถไฟ เส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์มูลค่าประมาณพันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาล สปป.ลาวจะใช้เงินกู้สัมปทานจากจีน จะบังคับรัฐบาล สปป.ลาวสนับสนุนหนี้ก้อนนี้

เชื่อกันว่า โครงการนี้จะก่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวอย่างสำคัญต่อประเทศ

ทำไม สปป.ลาวเป็นตัวโชว์แห่งอุษาคเนย์

ในเมื่อเงื่อนไขเงินกู้ การก่อสร้าง วัสดุ วิศวกร แรงงาน เป็นของจีนแทบทุกอย่าง ยกเว้นหนี้เป็นของคนลาว ตรงกันข้าม ระหว่างวางเส้นทางรถไฟ บริษัทรับเหมาจีนกวาดโครงการก่อสร้าง เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไปทั่ว เพราะเงินสดและรายได้จากความแน่นอนการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านไหลเข้ากระเป๋าสะตางค์จีน

ที่กัมพูชา กัมพูชาตกลงเป็นสมาชิกของบีอาร์ไอ ความผูกพันทางเศรษฐกิจจีน-กัมพูชาการค้า การลงทุน เงินกู้ ความช่วยเหลือ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีนเคยประกาศเมื่อพฤศจิกายน 2014 ว่าจีนจะจัดหาความช่วยเหลือพัฒนารัฐบาล (Oversea Development Aids-ODA) มูลค่า 500-700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีแก่กัมพูชา

แต่ยังไม่มีโครงการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรถไฟความเร็วสูง

ความจริงแล้ว โครงการก่อสร้างของจีนในกัมพูชาตอนนี้ประกอบด้วย การก่อสร้างแบบพื้นฐานมากๆ และเป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นถนนและสะพานมากกว่าอย่างอื่น

 

ไทย จุดตัดยุทธศาสตร์

มีงานวิจัยหลายชิ้นอธิบายว่า ไทยเป็นจุดตัดเชื่อมต่อทะเลอาหรับ ปากีสถาน มหาสมุทรอินเดีย สู่อ่าวไทย ทะเลจีนใต้ จากระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor-CPEC) ไทยเชื่อมเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road-MSR) ในขณะที่จีนได้ทำข้อตกลงกับไทย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนข้อเสนอเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าจะนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งสำคัญโดยนำมาซึ่งการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของไทย จีนและภูมิภาค กล่าวคือ

การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็น ฮับโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าจีนปลายทางคือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ด้วยค่าธรรมเนียมขนส่งถูกกว่าต้นทุนขนส่งทางอากาศ แล้วทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลายๆ ด้านพร้อมกันคือ ในไทย ในจีน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่มองเศรษฐกิจเติบโตของจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกด้าน ประเด็นหลักอยู่ที่ตัวโชว์ที่ต่อไม่ติด

 

ตัวโชว์ที่ต่อไม่ติด

เมียนมา-ไทย

สมมุติว่า เมียนมาเป็นระเบียงผืนดินที่บูรณาการ CPEC ได้จริง ระเบียงเศรษฐกิจใหญ่จีน-ปากีสถานนี้จะเชื่อมต่อไทยที่เป็นจุดตัดยุทธศาสตร์ตรงไหน จุดตัดเชื่อมไทยระหว่างมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทยสู่ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกกลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวลกลับไปแล้ว

ระเบียงเศรษฐกิจใหญ่จีน-ปากีสถานจะเข้าไทยทางไหน ในเมื่อทางเข้าจากเมียนมา มหาสมุทรอินเดีย สู่ทวาย-ประจวบคีรีขันธ์กลายเป็นจุดบอดไปแล้ว

ท่าเรือน้ำลึกทวายที่รัฐบาลเมียนมาหลายชุดเสนอแปลกประหลาดให้ ไทยเป็นเจ้าของท่าเรือน้ำลึก อีกแห่งหนึ่งแต่อยู่นอกประเทศไทยคือ อยู่ที่ดินแดนเมียนมา

มิหนำซ้ำ ผู้ลงทุน การระดมทุน ดำเนินการโดยฝ่ายไทย และธนาคารไทยก็ล้มเหลวในการระดมทุนจากต่างประเทศ ยกขบวนไป road show ที่ญี่ปุ่นก็ไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยังได้ให้เงินทุนสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการก่อสร้างปรับปรุงถนนระยะทางราว 200 กิโลเมตร ไม่ทราบว่าแล้วเสร็จหรือยัง แต่ผู้ลงทุนฝ่ายไทยก็ได้ประกาศยกเลิกโครงการไปแล้ว

หากเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง คือย้อนกลับไปเข้าที่ย่างกุ้ง ย่างกุ้งก็เป็นท่าเรือขนาดเล็กซึ่งหนาแน่นอยู่แล้ว โดยเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปรับปรุงย่างกุ้งเป็นท่าเรือนานาชาติ หากยังคงใช้ท่าเรือย่างกุ้งต่อไป แล้วขนถ่ายสินค้าไปยังเมืองเมาะละแหม่ง เมืองใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมา ย่อมเป็นความผิดพลาดซ้ำซาก

ด้วยเมาะละแหม่งเป็นท่าเรือ inland เข้าไปในแผ่นดินที่ต้องขนส่ง สินค้าทางบก จากย่างกุ้ง เมาะละแหม่ง สู่รัฐมอญ ที่มีภาคใต้ของรัฐติดต่อกับภาคเหนือของไทย ไม่ใช่เพียงประเด็นเส้นทางถนน ระยะทาง ต้นทุนการขนส่ง มิหนำซ้ำอำนาจการปกครองไม่ใช่เป็นของเนปิดอว์ แต่เป็นของรัฐมอญที่ยังมีการต่อต้านจากชนกลุ่มน้อยอยู่เลย

ที่สำคัญที่สุด รัฐประหารเมียนมาที่ล้มเหลว เป็นอุปสรรคอย่างสำคัญของกิจกรรมทุกอย่างในเมียนมา การประท้วงของผู้คนในเมียนมาเมื่อมีการรัฐประหารในนาทีแรก แล้วยังมีการประท้วงรายวันต่อเนื่อง ประท้วงครอบคลุมทั่วประเทศ การปฏิเสธความร่วมมือทุกประการจากข้าราชการ ชาวบ้าน คนหนุ่ม-สาว คนชรา เด็ก ทั้งผู้ชายผู้หญิง ความร่วมมือระหว่างคนเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายๆ กลุ่มพร้อมๆ กัน ย่อมทำให้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน บูรณาการกับระเบียงผืนดินเมียนมาที่ฝันกันว่าจะเป็นตัวโชว์ของภูมิภาคเป็น ตัวโชว์กลายเป็นตัวตลกไปเลย

ตรรกะเดียวกัน แม้อิทธิพลจีนแผ่สานไปแทบทุกอณูผืนแผ่นดินไทย แม้จะมีรถไฟไทย-จีนหรือจีน-ไทยวิ่งเร็วสูงหรือช้าๆ ไทยไม่มีทางเป็นจุดตัดยุทธศาสตร์

ไทยเป็นกระจกส่องความล้มไม่เป็นท่าของระเบียงเศรษฐกิจจีนในภูมิภาค