ต่างประเทศอินโดจีน : เวียดนาม วอร์ 2017

ข้อชวนสังเกตประการหนึ่งก็คือ สังคมอเมริกันยามนี้หันมาพูดถึงสงครามอินโดจีนกันมากขึ้น จริงจังขึ้น และสำรวจตรวจสอบยิ่งกว่าที่เคยเป็นมามาก

ทั้งๆ ที่สงครามลับในลาวก็ดี สงครามไม่ประกาศในกัมพูชาก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามยืดเยื้อในเวียดนาม เคยเป็นเพียง “สงครามที่ควรลืม” ของสังคมอเมริกันเท่านั้น

ในปีนี้ มีงานน่าสนใจเกี่ยวกับสงครามอินโดจีนออกมาถึง 3 ชิ้น ตั้งแต่งานของนักวิชาการที่สนใจเรื่องราวในอดีตร่วมสมัยของอุษาคเนย์อย่าง โจชัวร์ เคอร์แลนต์ซิก ซึ่งตรวจสอบข้อมูลสงครามลับในลาวใหม่อย่างถี่ถ้วน

แล้วฟันธงไว้ว่า นั่นคือจุดเปลี่ยน หรือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ทำให้หน่วยงานอย่างซีไอเอ เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองอย่างเต็มตัวในสหรัฐอเมริกา

 

หรือ “เว้ 1968” ของ มาร์ก บาวเดน นักเขียน นักค้นคว้าสารคดีเชิงข่าว เจ้าของผลงานเอกอุในอดีตอย่าง “แบล๊กฮอว์ก ดาวน์” ที่ขุดลึกลงไปในรายละเอียดของยุทธการเว้ที่รู้จักกันในนาม “เท็ต ออฟเฟนซีฟ” แล้วได้ข้อสรุปที่น่าสนใจมากมายหลายประการ

รวมทั้งข้อสรุปที่ว่า เรื่องราวของเว้ ก็เหมือนกับเรื่องราวของสงครามเวียดนามโดยรวม ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดเมืองทั้งๆ ที่รู้ดีว่ารักษามันเอาไว้ไม่ได้

ขณะที่อเมริกันแทบจะทำลายเมืองทั้งหมดไปในระหว่างที่พยายามยึดเมืองคืน

 

ชิ้นสุดท้ายน่าสนใจมาก เพราะทำขึ้นเพื่อเผยแพร่สู่สังคมอเมริกันในวงกว้างทั่วประเทศ ผ่านสถานีโทรทัศน์สาธารณะของรัฐอย่างพีบีเอส คือสารคดีเรื่อง “เดอะ เวียดนาม วอร์” กำหนดฉายกันยายนที่จะถึงนี้

เวียดนาม วอร์ เป็นภาพยนตร์สารคดี 10 ตอน ความยาวรวม 18 ชั่วโมง เป็นผลงานร่วมกันของนักถ่ายทำสารคดีเชิงประวัติศาสตร์สงครามที่ได้รับการยอมรับกันอย่าง เคน เบิร์นส์ และ ลินน์ โนวิก ที่เคยสร้างชื่อจากสารคดีชุด “เวิร์ลด์ วอร์ ทู” มาแล้ว

เบิร์นส์บอกว่า ทันทีที่เสร็จงานเวิร์ลด์ วอร์ ทู เขาหันมาบอกกับโนวิกคู่หูว่า “เราต้องทำเรื่องสงครามเวียดนาม”

เหตุผลของเขาชวนคิดอย่างยิ่ง

เบิร์นส์เชื่อว่า สงครามเวียดนามเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับอเมริกันทุกคนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 “กระนั้นเราก็ทำแทบทุกอย่างเท่าที่จะทำได้นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้เพื่อเลี่ยงการทำความเข้าใจมัน”

แน่นอนสงครามทุกครั้งล้วนน่าเกลียดน่ากลัว แต่เบิร์นส์ชี้ว่า สงครามก็เป็นช่วงเวลาที่มีค่าเหลือเชื่อเมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจ หากเต็มใจที่จะทำ แต่สังคมอเมริกันเลี่ยงที่จะทำเช่นนั้นกับสงครามเวียดนาม

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ควบคู่กับการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเกือบ 80 ราย รวมทั้งอเมริกันที่ผ่านศึกและอเมริกันที่เคยต่อต้าน พลเรือนและทหารเวียดนามทั้งจากฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้

มีข้อมูลใหม่ๆ ประวัติ ความเป็นมาใหม่ๆ ของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่จะเปลี่ยนทัศนะต่อสงครามที่เคยเป็นมา นำไปสู่ความเข้าใจในสงครามหนนี้แบบบรรลุ รู้แจ้ง ที่จะช่วยทำลายความผิวเผิน ตื้นเขินให้กับคนอเมริกันไม่ว่าจะอยู่ในปีกไหนในทางการเมืองได้ ตามความคาดหวังของเบิร์นส์

 

ในทัศนะของเบิร์นส์ สงครามเวียดนามเป็นเหมือนไวรัสที่ฝังตัวเกาะติดอยู่กับสังคมอเมริกันมาช้านานจนกลายเป็นอาการเจ็บไข้เรื้อรัง แปลกแยก หมดทั้งความไว้วางใจในรัฐบาล และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้คนสองฟากในสังคมด้วยกันเอง

มีแต่การศึกษา ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงสามารถเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของการเยียวยาสังคมได้

เบิร์นส์เชื่อด้วยว่า งานย้อนอดีตของตน สามารถสะท้อนปัจจุบันของสังคมอเมริกันได้อีกด้วย

เพราะสภาพในปัจจุบันของประเทศที่แตกเป็น 2 ขั้ว การเมืองแบบกล่าวหา ป้ายสี มีการแทรกแซงจากภายนอกประเทศระหว่างการเลือกตั้ง ทำเนียบขาวที่สาละวนอยู่กับข้อมูลที่รั่วไหลและการเดินขบวนประท้วงที่ผุดพรายในหลายที่หลายแห่งทั่วประเทศ

แทบไม่ต่างแต่อย่างใดกับสภาพสังคมอเมริกันยุคสงครามเวียดนาม!