คนมองหนัง : ‘The Crowned Clown’ ‘ราชา’ กับ ‘ตัวตลก’

คนมองหนัง

 

‘The Crowned Clown’

‘ราชา’ กับ ‘ตัวตลก’

 

“The Crowned Clown” เป็นผลงานซีรีส์ย้อนยุคของเกาหลีใต้ที่แพร่ภาพมาตั้งแต่ปี 2019 อย่างไรก็ดี ตามประสา “คนติดตามวัฒนธรรมบันเทิงเกาหลีแบบห่างๆ” ผมจึงเพิ่งได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ผ่านทางแพล็ตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์

ย้อนไปเมื่อปีก่อน ผมมีโอกาสได้ชมซีรีส์อิงประวัติศาสตร์การเมืองยุคก่อตั้ง/ช่วงต้นอาณาจักรโชซอนเรื่อง “Six Flying Dragons” และ “Deep Rooted Tree” ต่อเนื่องกัน (ทั้งสองเรื่องสร้างโดยผู้สร้างชุดเดียวกัน โดยเรื่องหลังออกอากาศก่อน แต่อ้างอิงถึงยุคสมัย-ห้วงเวลาที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันเป็นบริบทของเรื่องแรก)

แล้วก็รู้สึกประทับใจกับปมดราม่าอันซับซ้อน ที่วางอยู่บนปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครมากหน้าหลายตา ซึ่งมีจุดยืน โลกทัศน์ ผลประโยชน์แตกต่างกันไป

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “เด็กหนุ่มผู้มีปณิธานที่ดี” สามารถกลับกลายเป็น “ผู้นำที่โหดเหี้ยม” ได้อย่างไร (Six Flying Dragons) และ “กลุ่มการเมือง” ที่รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สามารถกลับกลายเป็นพลังปฏิปักษ์ขัดขวางความก้าวหน้าของสังคม (ผ่านการสร้างตัวอักษรสำหรับสามัญชน) ได้ด้วยเหตุผลใดบ้าง (Deep Rooted Tree)

เดิมที ผมตั้งใจจะเขียนบทความถึงซีรีส์ทวิภาคดังกล่าวด้วยหัวเรื่องทำนองว่า “สมาคมลับ ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน คนสามัญ และพญามังกร” (หยิบยืมมาจากชื่อหนังสือวิชาการสองเล่ม) แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อยากดูทั้งสองเรื่องซ้ำอีกรอบเพื่อเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน

พอผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกที ซีรีส์สองเรื่องนั้นก็หลุดออกจากเน็ตฟลิกซ์เสียแล้ว จนส่งผลให้เค้าโครงบทความที่ว่าไม่ได้ถูกสานต่อจนสำเร็จเสร็จสิ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงขอแก้ตัวด้วยการบันทึกความเห็นถึงซีรีส์อิงประวัติศาสตร์เกาหลีอีกเรื่องหนึ่ง คือ “The Crowned Clown” เป็นสิ่งทดแทน

หากพิจารณาจากชื่อเรื่อง หลายคนคงเป็นคล้ายๆ ผมที่หลงคิดว่าเนื้อหาของ “The Crowned Clown” น่าจะออกแนว “หัวร่อต่ออำนาจ” (เหมือนละครจักรๆ วงศ์ๆ บ้านเรา)

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว บทของซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังเกาหลีเรื่อง “Masquerade” (2012) ซึ่งดูจะได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกเรื่อง “The Man in the Iron Mask” มาอีกต่อหนึ่ง

กล่าวคือ ซีรีส์ได้บอกเล่าเรื่องราวของ “สามัญชน/นักแสดงตลก” รายหนึ่ง ผู้มีหน้าตาเหมือน “พระราชา” แทบทุกกระเบียดนิ้ว เขาจึงถูกนำตัวมาสวมบท “ราชาตัวปลอม” ในยามที่ “พระราชาตัวจริง” ต้องลอบออกจากวัง เพราะปัญหาส่วนบุคคลอันเชื่อมโยงร้อยรัดกับเสถียรภาพทางการเมืองในราชสำนัก

แล้วในท้ายที่สุด พลวัตทางการเมืองในภาพรวมและพัฒนาการของปัจเจกบุคคลคนหนึ่งก็ค่อยๆ ผลักดันให้ “ราชาตัวปลอม” ก้าวขึ้นไปเป็น “ผู้ครองบัลลังก์อย่างแท้จริง”

ดังนั้น บทบาท “ตัวตลก” ในซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อยั่วล้อ “อำนาจอันแข็งกระด้าง” ซึ่งปราศจากรอยยิ้มและอารมณ์ขัน

แต่ “ตัวตลก” ในซีรีส์คือเครื่องพิสูจน์ว่า “สามัญชนคนชั้นล่าง” ก็มีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำ” ซึ่งเปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถและเข้าอกเข้าใจราษฎร โดยมิต้องสืบทอด “สายเลือด” อันสูงส่ง

ซีรีส์ที่มีตัวละครนำเป็น “ตัวตลก” และมีคำว่า “ตัวตลก” ปรากฏในชื่อเรื่อง จึงแทบไม่มีฉากขำขันเฮฮาหยอกล้อผู้มีอำนาจสอดแทรกอยู่เลย หากเต็มไปด้วยการหักเหลี่ยมเฉือนคมอันเข้มข้นและเหตุนองเลือดในราชสำนัก (แม้ในช่วงกลางเรื่อง ความสนุกเร้าใจจะแผ่วลงพอสมควร เพราะการมุ่งเน้นไปที่ความรักโรแมนติกระหว่าง “ราชาตัวปลอม” กับ “มเหสีตัวจริง”)

อย่างไรก็ตาม พึงตั้งข้อสังเกตว่า แม้ “ตัวตลก” จะพิสูจน์ว่าตนเองสามารถเป็น “พระราชาที่ดีและทรงอำนาจ” ทว่าเขากลับขึ้น “ครองบัลลังก์” ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ต่างจากการเล่นตลกล้อเลียนเสียดสีราชวงศ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้แค่ชั่วครู่ชั่วยาม ผ่านการแสดงของคณะตลกที่สัญจรเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีหลักแหล่งชัดเจน

 

หลังจากดูซีรีส์เกาหลีแนวประวัติศาสตร์การเมืองย้อนยุคมาจำนวนหนึ่ง ผมเริ่มรู้สึกสะดุดใจกับบทบาทของ “สมาคมลับ” ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลาย เช่น บัณฑิต ข้าราชการ นางคณิกา พระสงฆ์ ชาวบ้าน เรื่อยไปถึงนักฆ่า-จารชน

ตัวละครเหล่านี้จะมารวมตัวกันอย่างลับๆ เพราะมีท่านอาจารย์/เจตจำนงทางการเมือง/ความคาดหวังถึงอนาคต ร่วมกัน

ผมทึกทักเอาเองว่าบรรดา “สมาคมลับ” ในซีรีส์ยุคโชซอนทั้งหลายนั้น อาจมีสถานภาพเทียบเท่า “พรรคการเมือง” ในยุคสมัยปัจจุบันนั่นเอง

แม้จะต้องยอมรับว่า “Six Flying Dragons” และ “Deep Rooted Tree” สามารถฉายภาพกระบวนการทำงานและการต่อสู้ของ “สมาคมลับ” ได้ละเอียดลออและเข้มข้นกว่า “The Crowned Clown” ที่ “สมาคมลับ” ในเรื่อง คล้ายจะเป็นเศษซากของอุดมการณ์แต่หนหลัง ซึ่งอ่อนล้าพลังลงทุกที

ทว่าจุดน่าสนใจจริงๆ อาจอยู่ตรงที่ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์เกาหลีจำนวนไม่น้อยมักวาดภาพทำนองว่า ต่อให้บุคคลอันเป็นแกนนำ-หลักสำคัญของ “สมาคมลับ” จะเสียชีวิตลง หรือตำแหน่งแห่งที่-จุดยืนทางการเมืองของ “สมาคมลับ” จะเปลี่ยนแปลงไป (เช่น ยุคหนึ่งดูก้าวหน้า มาถึงอีกยุคกลับต่อต้านฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลง)

แต่อย่างไรเสีย “สมาคมลับดังกล่าว” ก็ได้ฝังรากลึกลงในสังคมเรียบร้อยแล้ว ผ่านการกระจายกำลังคน (และ/หรืออุดมการณ์) ให้ไปแฝงตัวอยู่ตามองค์กรภาคส่วนต่างๆ โดยมิรู้จบ

ประเด็นท้ายสุดที่อยากตั้งข้อสังเกตไว้เล็กน้อย ก็คือ “The Crowned Clown” และ “Masquerade” นั้นมีเค้าโครงเนื้อหามาจากชีวประวัติจริงของ “พระเจ้า/องค์ชายควังแฮ” ซึ่งถูกยึดอำนาจและต้องโทษเนรเทศ

อย่างไรก็ตาม “The Crowned Clown” เลือกจะ “เพลย์เซฟ” ด้วยการอ้างว่าเรื่องราวในซีรีส์เป็นเพียง “สถานการณ์และบุคคลสมมุติ” และเลี่ยงไปเรียกชื่อ “พระราชา” ว่า “อีฮอน” (อันเป็นพระนามเดิมก่อนขึ้นครองราชย์ของ “พระเจ้าควังแฮ”)

พร้อมทั้งแปรเปลี่ยนชะตากรรมให้ “ตัวตลกผู้สวมบทพระเจ้าอีฮอน” ประสบชัยชนะเหนือคณะรัฐประหารอย่างงดงาม แทนที่จะพ่ายแพ้อย่างน่าหดหู่เช่นดัง “พระเจ้าควังแฮ”

ก่อนที่ผู้สร้างซีรีส์จะหาทางลงให้แก่ “ตัวตลก/พระราชา” ด้วยโศกนาฏกรรมและความหวังในรูปแบบอื่นๆ

นี่คือการพยายามเล่นแร่แปรธาตุกับ “ประวัติศาสตร์” ซึ่งยังดำเนินไปไม่ถึงขั้น “การปลอมประวัติศาสตร์” หรือ “การเปลี่ยนประวัติศาสตร์” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในภาพยนตร์บางเรื่องของ “เควนติน แทแรนติโน”