สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (4) เราจะต้องไม่มีวันยอมแพ้

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีประชุมวิชาการนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 (PMCA FORUM 2017) ภาคเช้าวันแรก การอภิปรายโดยครูผู้ได้รับรางวัล จาก 3 ประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ดำเนินไปด้วยความคึกคัก

ผมรายงานบทสรุปจากการถอดความของทีมงาน ว่าด้วยแรงบันดาลใจในการเป็นครูของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กับการได้เป็นบุคคลต้นแบบส่งผลต่อนักเรียนอย่างไรไปแล้ว

สัปดาห์นี้ว่ากันต่อ

 

ความท้าทายและการแก้ปัญหาในการทำงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

ครู Zainuddin Zakar จากมาเลเซีย เล่าว่า เผชิญความท้าทายในการทำให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้ด้วยการกระตุ้นให้เด็กคิดและทำโครงงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

“การจัดการเรียนการสอนต้องปรับให้นักเรียนมีบทบาทที่สำคัญ การศึกษาต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมและถูกต้องสอดคล้องในชีวิตจริงในศตวรรษที่ 21”

ดังนั้น ครู Zainuddin จึงต้องอ่านหนังสือตลอดเวลา สร้างบรรยากาศของชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) แลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักเรียนและเพื่อนครู และต้องบอกตัวเองเสมอว่า “เราจะต้องไม่มีวันยอมแพ้” ทำให้ครูเชื่อมั่นว่าตนเองคือครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้

ครูเฉลิมพร จากประเทศไทย รับไมค์ต่อ ครูเผชิญปัญหาท้าทายของวิชาวิทยาศาสตร์ คือนักเรียนไม่รู้ว่าจะนำความรู้ไปทำอะไร ครูจึงใช้โครงงานวิทยาศาสตร์มาช่วยให้นักเรียนบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันและเกิดเป็นนวัตกรรมได้ สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้โครงงานวิทยาศาสตร์ช่วยสนับสนุนนักเรียนให้ดีที่สุด ตามแนวคิดที่ว่า “อัจฉริยะสร้างได้”

นอกจากนี้ ยังได้จัดค่ายวิทยาศาสตร์ เช่น ค่ายเพาะกล้า โดยจัดสถานการณ์ให้ฝึกแก้ปัญหา เช่น “ไอ้เท่งติดป่า” ต้องสร้างหอคอยเพื่อให้หนีออกจากป่า และให้รุ่นพี่แบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจัดทำสื่อเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เช่น คลิปวิดีโอ “เกาะปันหยี ปันหยีเอฟซี สนามฟุตบอลลอยน้ำ จ.พังงา” สื่อให้รู้ว่า เมื่อจะทำงานอย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์ แรงขับเคลื่อนนวัตกรรมมาจากนักเรียน ดังนั้น จึงต้องทำให้นักเรียนนำความรู้ไปสร้างนวัตกรรมให้ได้

ครู Herwin Hamid จากอินโดนีเซีย บอกว่า “ครูสอนวิชา ICT แต่เด็กๆ ไม่ค่อยมีอุปกรณ์ จึงแก้ปัญหาโดยการใช้อุปกรณ์ร่วมกันทั้งห้องหรือแบ่งกลุ่มกันใช้ เนื่องจากการเรียนด้วยเทคโนโลยี ICT ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพเคลื่อนไหว และเข้าใจในแนวคิดต่างๆ การใช้เทคโนโลยีเสมือนจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่นักเรียนไม่ได้ไปสัมผัสจริง แต่โรงเรียนของคุณครูค่อนข้างขาดแคลน และโรงเรียนในประเทศอินโดนีเซียยังใช้ค่อนข้างน้อย ครูจึงพยายามสร้างแผนการสอนให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่มีให้มากที่สุด

ประสบการณ์จากวงดนตรีทำให้ครู Herwin เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทั้งหมด ปัจจัยที่สำคัญกว่าคือต้องมีจิตวิญญาณของการเรียนรู้ เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ เราก็ใช้กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการคิดวิพากษ์ และสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้

 

ประเด็นต่อไป แลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาชีพครู

ครู Zainuddin Zakar เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีขอบเขต บทบาทของครูสำคัญมาก ครูจากหลายประเทศทำให้เห็นว่า แม้จะไม่มีความพร้อม แต่ครูยังสามารถสร้างสรรค์บทเรียนที่พิเศษสุดในโลกได้

ครู Zainuddin จึงคิดเสมอว่าจะทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม การได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ถือเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและพิเศษที่สุด ส่งผลให้ต้องเป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ (ประเทศมาเลเซีย) ผู้แทนของครูในประเทศ และตั้งใจเผยแพร่เพื่อให้ครูคนอื่นๆ ได้ไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนต่อไป

ครู Herwin Hamid เห็นว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ให้ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง การได้รับโอกาสไปเป็นวิทยากร บอกเล่าประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ครูอื่นๆ เพื่อให้ลุกขึ้นมาทำอะไรให้แตกต่างจากเดิมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสให้ได้เผยแพร่ข้อมูลด้วยการใช้ ICT ให้กว้างขวางขึ้น ได้มีการเผยแพร่ออนไลน์ และชุมชนปฏิบัติการ มีโอกาสสร้างแรงบันดาลใจให้ครูท่านอื่นๆ สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ได้ทำมาแล้ว ทำให้มีความน่าเชื่อถือขึ้น ขณะเดียวกันทำให้รู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และเป็นครูมืออาชีพที่ดีมากขึ้นอีกด้วย

ครูเฉลิมพรย้ำว่า ภาคภูมิใจที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุด เปิดโอกาสให้ได้เผยแพร่ความรู้ นวัตกรรมที่ได้ค้นพบให้แก่ครูทั่วประเทศ และเพื่อนครูที่สนใจขยายต่อไปในวงกว้าง

หลังได้รับรางวัลครูยังคงดำเนินชีวิตเหมือนเช่นเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือได้รับเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ได้รับการต้อนรับที่ดี และได้รับกำลังใจจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานียังได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ด้วย

รวมทั้งได้รับโอกาสไปเผยแพร่ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์แก่เพื่อนครูทั่วประเทศทั้งหมด 32 ครั้งในปีที่แล้ว รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์เรื่องสะเต็มศึกษาที่กรุงเทพฯ และขยายผลสู่เพื่อนครูในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ซึ่งครูยินดีจะทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างยิ่ง

 

ครับ อ่านความคิดของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แล้ว ผมมีข้อสังเกต ทั้งคุณสมบัติและสมรรถนะของความเป็นครู ของท่านทั้งสาม จะพบในครูต้นแบบ ครูสอนดี ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ครูแกนนำ ครูสอนคิด ครูเพาะพันธุ์ปัญญา ครูปัญญาทีปกร ฯลฯ ซึ่งกระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในเมือง ต่างจังหวัด และชนบทห่างไกลของไทยเรา จำนวนไม่น้อย

แต่ก็ยังมีคำถามว่า แล้วทำไมคุณภาพการศึกษา คุณภาพโรงเรียน คุณภาพนักเรียน ยังตกต่ำย่ำแย่อยู่เป็นอันมาก

คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า ครูที่ได้รับการยกย่องเหล่านั้น ก็ยังเป็นครูส่วนน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณครูจำนวนหลายแสนคนทั่วประเทศซึ่งยังคงเคยชินกับแนวทางการเรียนการสอนแบบเดิม คือ เน้นสั่งและสอน ให้นักเรียนท่อง ให้จำ ให้ทำตาม มากกว่าให้คิด ตั้งคำถาม เรียนรู้ร่วมกันไปกับเด็ก

ปัญหาต่อมาจึงมีว่า แล้วทำอย่างไรให้ครูส่วนใหญ่เปลี่ยนจากครูคนเก่า เป็นครูคนใหม่ คำตอบคงหนีไม่พ้นทั้งสองส่วน คือระบบ โครงสร้าง การบริหารจัดการ กับตัวบุคคล ครูแต่ละคนนั่นเอง ต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน เปลี่ยนไปด้วยกัน

แต่ระบบ โครงสร้าง เป็นเรื่องยาก เรื่องใหญ่ สลับซับซ้อน ต้องแก้ที่คนอื่นมากมาย หนทางแก้ง่าย แก้ได้ทันที แก้เร็ว แก้เลย เห็นผลก่อน คือ แก้ที่ตัวเรา แก้ที่ตัวครู เป็นไปตามหลักการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ คิดใหญ่ ทำย่อย

ตรงกับสิ่งที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทั้งสามท่านถ่ายทอด ความคิดและประสบการณ์ “อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดให้บรรลุผล ทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์”

ถ้าครูส่วนใหญ่ของเราเปลี่ยนตัวเองได้ ปฏิรูปการศึกษา ความหวังของเด็กไทย ไม่ไกลเกินรอ