เปลี่ยน ‘โฆษกรัฐบาล’ กลางศึก จับตาปฏิบัติการ ‘ปะฉะดะ’ รับมือศึก ‘ซักฟอก’ มุ่งสยบ ‘คอลเอาต์’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เปลี่ยน ‘โฆษกรัฐบาล’ กลางศึก

จับตาปฏิบัติการ ‘ปะฉะดะ’

รับมือศึก ‘ซักฟอก’

มุ่งสยบ ‘คอลเอาต์’

ปฏิบัติการเปลี่ยน “โฆษกรัฐบาล” เริ่มมีกระแสข่าวมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ “เจมส์-อนุชา บูรพชัยศรี” อดีตโฆษกรัฐบาล ต้องเร่งเครื่องทำผลงาน

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความรวดเร็วในการชี้แจงตอบโต้ประเด็นต่างๆ ที่มีมากขึ้น

รวมทั้งการปลุกปั้นรายการ “แจงให้เคลียร์” ที่จัดร่วมกับ “ทีมโฆษกรัฐบาล” ออกอากาศผ่านช่องทางสื่อสารของทำเนียบรัฐบาล

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ทันเสียแล้ว

เพราะเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ “อนุชา” ทำงานในตำแหน่งโฆษกรัฐบาล แต่ยังไม่เข้าตา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม

ซึ่งที่ผ่านมา “อนุชา” ถูกมองถนอมเนื้อถนอมตัวพอสมควร ไม่ออกมาตอบโต้การเมืองมากนัก เพราะไม่ใช่ “สายบู๊” ตั้งแต่ต้น

รวมทั้งการชี้แจงข่าวสารต่างๆ ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่ “บิ๊กตู่” อยากเห็นด้วย

 

ย้อนประวัติ “อนุชา” ไปก่อนหน้านี้ ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาเป็นเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ในสมัย “ตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ขณะเป็น รมว.ศึกษาธิการ

ต่อมา “ณัฏฐพล” และ “บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีต รมว.ดิจิทัลฯ ได้พ้นจาก ครม. จึงทำให้ “อนุชา” ขาดคนหนุนหลัง กลายเป็น “โฆษกขาลอย”

แม้ว่า “บิ๊กตู่” จะตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง แม้จะดูอัพไซด์ขึ้น แต่ก็เป็นเพียงตำแหน่ง “ปลอบใจ” เท่านั้น

ทำให้ “บิ๊กตู่” ทำการ “ยกเครื่องใหม่” ทั้งส่วน “ทีมโฆษกรัฐบาล” และ “ทีมสื่อสาร ศบค.”

โดยตั้ง “แด๊ก-ธนกร วังบุญคงชนะ” ขึ้นเป็น “โฆษกรัฐบาล” ที่มีภาพลักษณ์ “สายบู๊-สายบวก” เต็มตัว ขึ้นมาแทน

สำหรับ “ธนกร” เป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าสู่ถนนการเมืองตั้งแต่ปี 2550 ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคมัชฌิมาธิปไตย ใต้ร่มเงา “บ้านเทพสุทิน” แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

จากนั้นปี 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นเคย

ต่อมาปี 2560 “ธนกร” ได้มาอยู่กับ “กลุ่มสามมิตร” ที่นำโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และเคยเป็น “โฆษกพรรค พปชร.” ก่อนออกจากตำแหน่ง หลัง พปชร.ปรับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (อนุชา นาคาศัย หนึ่งในกลุ่มสามมิตร) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (โฆษก ศบศ.)

ที่ผ่านมา “ธนกร” แสดงผลงานตอบโต้ “การเมือง” มาตลอด และได้มา “แสดงฝีมือ” งานด้านเศรษฐกิจ ในตำแหน่ง “โฆษก ศบศ.” จนเข้าตา “บิ๊กตู่”

จึงต้องจับตาดูว่า “โฆษกป้ายแดง” จะทำงาน “เข้าเป้า” ในภาพรวมหรือไม่ เพราะงาน “โฆษกรัฐบาล” แค่เข้าตานายคงไม่เพียงพอ

 

ทั้งนี้ ในยุค “ประยุทธ์ 2” ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนโฆษกรัฐบาลไปแล้วถึง 3 คน

เริ่มจาก “อ.แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ที่มีผลงานรับประกันคือ “มารดาประชารัฐ” จบปริญญาเอกด้านการเงิน พูดภาษาต่างประเทศได้ จึงเป็น “สเป๊กโฆษก รบ.” ที่ “บิ๊กตู่” มองหา

แต่ตลอดการทำงานของ “โฆษกแหม่ม” ก็เกิดปัญหาถึงความไม่เป็นเอกภาพของทีมโฆษก ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่า “สงครามนางฟ้า” เพราะโฆษกเป็นผู้หญิงทุกคน

จนสุดท้าย “โฆษกแหม่ม” ได้รับแรงหนุนจาก “บ้านป่ารอยต่อฯ” ขึ้นเป็น รมช.แรงงาน และตั้งโฆษกคนใหม่เป็น “อนุชา” นั่นเอง

สำหรับ “โฆษกเงา” ทำหน้าที่ “คู่ขนาน” ก็คือ “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ ที่ออกมาโต้ทางการเมืองกับฝ่ายค้านและคู่ตรงข้าม ชนิดที่ว่าไม่เกรงใจ “นายเก่า-เพื่อนเก่า” เลยทีเดียว พร้อมเป็นอีก “มือรับหนังสือ” ของศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบฯ ด้วย

ล่าสุด ครม.ได้ตั้งน้องชายแรมโบ้ “ชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์” ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (อนุชา นาคาศัย) เมื่อ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และอดีตผู้ช่วยเลขานุการ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งที่ผ่านมา “ชนะศักดิ์” ก็ทำหน้าที่ตอบโต้การเมืองไม่ต่างจาก “พี่แรมโบ้”

ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เป็น “ทีมสื่อสาร” ในทำเนียบฯ ที่เป็นที่ตั้งของ ศบค. ยังมี ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่มาเป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค. ที่ผ่านมามักโพสต์ข้อความวิจารณ์สื่อมวลชน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

ล่าสุด ศบค.ได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต” โดยมี “เสี่ยแฮงค์-อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค. และตั้ง “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ และตั้ง “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” และ “เกษมสันต์ วีระกุล” เป็นบรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค. ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะชื่อ “ดร.เสรี” นั่นเอง

การตั้ง ดร.เสรี ทำให้เห็น “แนวคิด” การทำงานของศูนย์แห่งนี้ไปในตัวด้วย ด้วยภาพลักษณ์ ดร.เสรีที่มีความชัดเจนทางการเมือง รวมทั้งมีวิวาทะกับกลุ่มการเมืองที่เห็นต่างมาตลอด ชื่อ ดร.เสรีเรียกได้ว่าเป็น “ระดับรุ่นใหญ่” แต่ในอีกแง่ก็ถูกมองว่า “ผิดยุค” หรือไม่ ในการมาสู้กับโลกโซเชียล

 

ด้าน ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองปรากฏการณ์ “สื่อสารการเมือง” เช่นนี้ว่าเป็นแบบ “ปะทะประชาชน”

ดร.นันทนากล่าวว่า เป็นการสะท้อนความหวั่นไหวและความไม่มั่นใจของรัฐบาลต่อเสถียรภาพและเริ่มรู้สึกถึงการขาดศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล รวมทั้งปรากฏการณ์คอลเอาต์ของบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ จึงทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารเป็นเชิงปะทะประชาชนและตาต่อตาฟันต่อฟัน กับผู้ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกัน

ดร.นันทนายังมองอีกว่า การเอาสายบู๊ออกมา จะยิ่งสร้างความเดือดดาลให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนเขาอยากได้ข้อมูล แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และความรู้ แต่กลับใช้วิธีการปะทะตอบโต้ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลไม่สนใจประชาชนหรือไม่เห็นหัวประชาชน และไม่สามารถเรียกศรัทธากลับมาได้ อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความโกรธมากขึ้นและทำให้รัฐบาลยิ่งห่างไกลในการทำหน้าที่ดูแลประชาชน

ดังนั้น แนวทางการปะทะเช่นนี้ ถือเป็นความรุนแรงในการสื่อสาร ที่ไม่ใช่เพียงทางกายภาพเท่านั้น เพราะยังมีในเรื่องคำพูดและภาษา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลเลย

“การสื่อสารภาครัฐ เราพอจะเห็นผลงานที่ผ่านมา มีการสื่อสารที่ขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เป็นความผิดของรัฐบาลและองคาพยพ ที่ไม่ประสานงานกัน ที่ต่างนำเสนอกันไป ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าจะฟังอะไรและฟังจากหน่วยงานใด หากจะบอกว่าเป็นความผิดของโฆษก ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหาดังกล่าวสะท้อนว่าไม่มีแผนแม่บทในการวางแผนงาน การบริหารจัดการ เพื่อสื่อสารออกมาในรูปแบบ Single Massage ไม่ใช่ออกมากระจัดกระจายเช่นที่เกิดขึ้น หากจะมาบอกว่าเฟกนิวส์เกิดจากคนข้างนอกนั้น ก็ไม่ใช่ เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลเป็นคนสร้างเฟกนิวส์เสียเอง เพราะไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนพูดจริง ดังนั้น การเปลี่ยนโฆษก ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้” ดร.นันทนากล่าว

“สิ่งที่รัฐบาลพยายามนำบุคลากรออกมาสื่อสาร ตั้งแต่ ดร.เสรี จนมาถึงนายธนกร ก็ดูบุคลิกแล้ว มีลักษณะคล้ายกันก็คือการปะทะ การเลือกทีมงานแบบนี้ออกมา ก็คือรัฐบาลตั้งใจให้ออกมาจัดการคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในส่วน ดร.เสรีกับโซเชียลมีเดีย ตามทันกันหรือไม่ หลังได้โพสต์ลงเพจเฟซบุ๊กไทยรู้สู้โควิด ที่พบว่าเชยและล้าสมัย มีการให้ข้อมูลที่น่าตกใจ หลังโพสต์ถึงกรณีการฉีดวัคซีนว่า เรากำลังจะฉีดวัคซีนได้ครบ 50 ล้านโดส เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องคำนวณว่าข้อมูลที่ออกมาจากศูนย์ดังกล่าวเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ เมื่อโพสต์มาจึงทำให้ทัวร์ลงเพราะเป็นข้อมูลที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริงหรือเกินจริงไป ทำให้คนรับไม่ได้ ถือเป็นความล้มเหลวของการสื่อสาร แม้ว่ารัฐบาลอาจจะเล็งผลเลิศเกินไป ที่ไปนำเอาบุคลากรระดับบิ๊กเนมมาทำงาน เพื่อเปลี่ยนจากดำเป็นขาว เปลี่ยนจากทองเหลืองเป็นทองคำ หวังสร้างศรัทธาประชาชนเพียงข้ามคืน แต่รัฐบาลเข้าใจผิด เพราะการสื่อสารไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

ดร.นันทนากล่าว

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า “บิ๊กตู่” ลั่นกลองรบเรียบร้อย ในการ “วางขุนพลโทรโข่ง” เตรียมรับ “ศึกซักฟอก” ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ที่รัฐบาลเตรียมขึ้นเขียงปม “โควิด” และฝ่ายค้านหวังให้เป็น “เชื้อไฟ” สุมรัฐบาล คู่ขนานกับ “ม็อบบนถนน-คาร์ม็อบ-คาร์ปาร์ก-คอลเอาต์” ที่ขย่มเก้าอี้ “บิ๊กตู่” ให้สั่นไหวมากที่สุด เพื่อปูทางสู่การ “เลือกตั้ง” ในอนาคต

ปฏิบัติการปะฉะดะ เต็มสูบ!!