เงาเกาหลี : ‘Antarctica’ ความหวัง ความฝัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (กันยายน 1945) จบลง ทุกประเทศต่างบอบช้ำไม่มากก็น้อย ตามสถานะของแต่ละประเทศ ประเทศที่แพ้สงครามนอกจากลำบากกว่าแล้ว ยังเสียหน้าเสียเกียรติอีกด้วย

ประเทศญี่ปุ่นผู้แพ้สงคราม ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “ไอ้ญี่ปุ่นขี้แพ้” ประชาชนทำมาหากินอย่าง ยากลำบาก ต่างต้องดิ้นรนให้อยู่รอดได้วันต่อวัน

การสร้างความหวังความฝัน ให้ประชาชนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน สร้างความฮึกเหิมและแรงใจเพื่อสร้างงานสร้างอนาคต ด้วยการทำอะไรสักอย่างเป็นสัญลักษณ์ขึ้นมา


ละครเรื่อง Antarctica เป็นเรื่องราวภายหลังสงคราม ปี 1950 ของนักสำรวจแอนตาร์กติกา ทวีปแถบขั้วโลกที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและความหนาวเย็น เป็นละครที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี (ปี 2011) ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งคันโต TBS (Tokyo Broadcasting System) โดยอิงเรื่องราวจากการสำรวจแอนตาร์กติกาครั้งแรก

ทาเคชิ คุราโมจิ (ทาคูยะ คิมูระ) นักธรณีวิทยาได้ข่าวว่า จะมีการสำรวจแอนตาร์กติกา โดยความร่วมมือจากหลายประเทศ ซึ่ง อาจารย์ยู ชิราซากิ (โกเฮย์ ชิบาตะ) ได้ชักชวนคุราโมจิร่วมเดินทาง เพื่อร่วมสำรวจในครั้งนี้ด้วย กว่าทีมของประเทศญี่ปุ่นจะได้รับเลือก ต้องตอบคำถามมากมาย รวมทั้งการถูกดูแคลนจากนานาประเทศ

การเริ่มต้นว่ายากแล้ว ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย อาทิ รัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ คนญี่ปุ่นทั่วไปยังไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันมาก แค่คิดเรื่องทำมาหากินไปวันๆ ก็แย่แล้ว

เพื่อให้ประชาชนเข้าใจรับรู้ คุราโมจิจึงขอความช่วยเหลือจาก โนริเอกิ อุทซึมิ (นาโอโตะ โอกาตะ) รุ่นพี่ที่เป็นนักข่าว ให้ช่วยเขียนข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องการสำรวจครั้งนี้


เมื่อข่าวสื่อสารออกไป มีการพูดถึงโครงการนี้มากมาย สำหรับคุราโมจิ การสำรวจแอนตาร์กติกา นอกจากเป็นการสานต่อความฝันงานที่พ่อเขาเคยทำให้สำเร็จแล้ว ยังเป็นการสร้างความหวังความฝันให้คนญี่ปุ่นผู้พ่ายแพ้ ให้กลับมายืนเชิดหน้าสู้ชาวโลกได้ เป็นงานที่สร้างฝันร่วมกัน

คนที่เห็นด้วยกับโครงการนี้กลับเป็นเด็กๆ ที่อยากเห็นนกเพนกวินกับทะเลน้ำแข็ง แม้ไม่ได้ไปเองแต่อยากรับรู้ผ่านคุราโมจิกับทีม

เด็กๆ ฝากความหวังความฝันไว้กับทีมสำรวจ เหรียญ 5 เยนเหรียญนำโชค (เหรียญ 5 เยน มีภาษาจีนเขียนไว้ 4 คำคือ ผิง เฉิง ว่าน เหนียน แปลว่า สันติสุข, ความสำเร็จ, หมื่นๆ ปี) เหรียญแรกที่คุราโมจิได้รับจากมือเล็กๆ ของเด็กชายคาโอรุ ได้สร้างกำลังใจและพลังอันยิ่งใหญ่ให้คุราโมจิ

ตามโรงเรียนต่างๆ มีกล่องรับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนโครงการสำรวจแอนตาร์กติกา จนสภาต้องนำโครงการนี้เข้าที่ประชุม กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต่างถกเถียงทั้งคัดค้านและสนับสนุน

ทีมสำรวจแบกความฝันของเด็กๆ ไว้เต็มเปี่ยม อยากให้เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติได้เห็นว่า แม้สภาพประเทศญี่ปุ่นจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็ยังสามารถไปถึงแอนตาร์กติกาได้ และให้คนที่ตายในสงครามได้รู้ว่าญี่ปุ่นอาจแพ้สงครามแต่ไม่ได้แพ้ทุกอย่าง

เมื่อกลุ่มผู้สำรวจนานาชาติตอบรับประเทศญี่ปุ่นให้ร่วมเข้าสำรวจแอนตาร์กติกา ปรากฏว่าพื้นที่ที่ทีมสำรวจญี่ปุ่นต้องเข้าไปสำรวจคือ ชายฝั่งพริ้นซ์แฮรัลด์ (Prince Harald Coast) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ได้ (Inacessible Area) เหมือนไม่อยากให้เข้าร่วม แต่ถ้าอยากร่วมสำรวจนัก ก็ต้องทำให้ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ครั้นได้เข้าร่วมแล้ว ก็ต้องหาเรือสำรวจชายฝั่ง เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สามารถฝ่าธารน้ำแข็งเข้าถึงจุดสำรวจได้ คุราโมจิและอาจารย์ยู ได้พบเรือโซยะ เรือรบในสงคราม ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรือนำโชค ด้วยทุกครั้งที่ออกรบก็รอดกลับมาได้ ไม่เสียหาย เรือโซยะจะบรรทุกความฝันของทีมนักสำรวจ

สิ่งที่ต้องเตรียมการ ยังมีการหาสุนัขลากเลื่อน ซึ่งต้องเป็นสุนัขพันธุ์ซาฮาลินฮัสกี้ (Sakhalin Husky) คุราโมจิที่ถูกถอดชื่อออกจากทีมสำรวจ จึงมีเวลาไปตามหาสุนัขถึงฮอกไกโด ซึ่งแต่ละตัวก็มีประวัติความเป็นมาจากบรรพบุรุษของมัน


Antarctica หรือ Nankyoku Tairiku ซีรี่ส์ญี่ปุ่นจำนวน 10 ตอน โดยผู้กำกับฯ คัทซูโอะ ฟูกูซาวะ เขียนบทโดยนักเขียน คิตะมูระ ไทอิจิ ร่วมกับ โยชิฮิโระ อิซูมิ ละครได้เรตติ้งสูงถึง 18%

ดูแค่ตอนแรกก็สนุกชวนติดตาม เอาใจช่วยให้พวกทีมนักสำรวจได้ทำตามความฝัน

ละครสร้างเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบครบ จึงเป็นละครสร้างกำลังใจให้ผู้คนในแบบคนญี่ปุ่นเลือดนักสู้ ผู้ไม่ยอมแพ้โชคชะตาหรือปัญหา มีเรื่องราวความผูกพันของคนกับสุนัขน่ารักๆ ในระหว่างการสำรวจ ต้องพบเจอปัญหาอุปสรรค ต่อสู้กับความหนาวเย็นที่อุณหภูมิติดลบ รวมทั้งความคิดเห็นที่แตกต่างในการทำงาน แต่ในที่สุดทุกคนก็ต้องร่วมมือกัน

แม้พื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำรวจ เป็นที่ตาบอดไม่มีเส้นทาง ทีมสำรวจยังเชื่อว่า ด้วยศักยภาพของทีมจะสร้างเส้นทางได้ รุกหน้าต่อไปได้ ด้วยการเปลี่ยนมุมมองจากความยากลำบากเป็นการผจญภัย!!!