หมดสภาพที่จะบริหารให้ได้ผล ก็ยังดันทุรังอยู่กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ

เมนูขัอมูล

นายดาต้า

 

ยังมาหาว่า ‘ไม่ร่วมมือ’

 

โควิด-19 เชื้อไวรัสที่มองไม่เห็น กระจายตัวไปตามฟองสารเหลว สู่ทางเดินหายใจของมนุษย์ แพร่ขยายในหลอดลม ทำลายช่องอากาศในปอด ทำให้หายใจไม่ได้ นั่นหมายถึงตาย

การหยุดยั้งที่ได้ผลที่สุดคือให้ความรู้เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าจะป้องกันตัวเอง และระมัดระวังคนอื่นอย่างไร

ต้องทำให้รู้ว่าไวรัสที่อยู่ในเมือกเหลวของคนอื่น มีโอกาสเสมอที่จะแพร่มาสู่เรา สู่ทุกคน เพราะมองไม่เห็น ชีวิตที่ต้องสัมผัสพันธ์กันยากเกินกว่าจะระมัดระวังไหว หรือจะว่าไปคือ ไม่มีทาง

ที่ดีที่สุดในการหยุดยั้งการระบาดคือ “ร่วมมือกันเพื่อหยุดการแพร่ของไวรัส”

 

เริ่มจากให้ความรู้เรื่องโควิด-19 ให้ทุกคนมีข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด โดยเฉพาะเพื่อให้รู้ว่า “แค่ป้องกันตัวเองไม่ได้ จะต้องป้องกันคนอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนใกล้ชิด แต่ต้องเป็นคนทั้งหมด เพราะคนใกล้ชิด ไม่ได้ใกล้ชิดแค่เรา ทุกต่างใกล้ชัดกับคนอื่นเป็นทอดๆ ด้วย”

ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด

ความรู้นี้จะทำให้เกิดการแบ่งปัน จะทำให้เห็นความจำเป็นต้องขจัดหาวัคซีนให้เร็ว และกระจายไปให้มากที่สุดเร็วที่สุด หยุดยั้งที่คนอื่นเพื่อปิดโอกาสที่จะแพร่มาถึงทุกคน

ตรวจทุกคน เพื่อแยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติด

นี่เป็นความรู้ที่จำเป็น

แต่ประเทศไทยล้มเหลวทุกเรื่อง

การจัดหา การกระจายวัคซีน และการตรวจเพื่อคัดแยกนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ล่าช้า ไม่ทันการณ์ ไม่ทั่วถึง เอาตัวรอด แสวงหาประโยชน์กันสารพัด

แต่ที่แย่ที่สุดคือการให้ความรู้ อย่าว่าแต่การให้กับประชาชน ให้กับคนอื่น กระทั่งความรู้ที่ให้กับตัวเองยังมีปัญหา

ผู้มีอำนาจแทบมองไม่เห็น และขาดความรู้ว่า เชื้อโรคในสารคัดหลั่งในร่างคนอื่น คือโอกาสที่จะแพร่เชื้อมาที่ตัวเอง

เพราะขาดความรู้นี้ การแสวงหาประโยชน์จากการตัดเชื้อของคนอื่นจึงเกิดขึ้น

หรือไม่แน่ว่าความโลภที่จะหาประโยชน์จากการติดโรค จากความเป็นความตายของคนอื่น คืออุปสรรคที่ทำให้มองไม่เห็นความจริง ความรู้ถูกปิดกั้น

ความรู้ที่ต่างกัน ทำให้ความเชื่อร่วมกัน เหมือนกันไม่เกิดขึ้น

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล”เรื่อง “ทำไม COVID-19 รอบนี้ระบาดหนัก” ในคำถามที่ว่า “ท่านเชื่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” เช่น การแพร่ระบาด การรักษา วัคซีนของใครมากที่สุด ใน 3 อันดับแรก

ผลปรากฏว่า ร้อยละ 43.91 เชื่อหมอ/นักวิชาการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน, ร้อยละ 23.36 เชื่อสื่อมวลชน, ร้อยละ 23.29 เชื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข, ร้อยละ 16.97 เชื่อหมอ/นักวิชาการทางการแพทย์แผนไทย, ร้อยละ 16.51 เชื่อ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, ร้อยละ 10.81 ไม่เชื่อใครเลย, ร้อยละ 5.33 เชื่อนักวิชาการทั่วไป, ร้อยละ 3.88 เชื่อเจ้าหน้าที่รัฐทั่วๆ ไป, ร้อยละ 1.29 เชื่อดารา นักร้อง เซเลบ ไอดอลชื่อดัง, ร้อยละ 0.61 เชื่อนักการเมือง, ร้อยละ 0.08 เชื่อคนในชุมชน, ร้อยละ 0.99 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นี่ขนาด “นิด้าโพล” ซึ่งการสำรวจมักยืนอยู่ในความพยายามให้ความเข้าอกเข้าใจกับอำนาจรัฐอย่างที่สุดแล้ว

ผลยังออกมาว่า ไม่มีใครเป็นศูนย์รวมความเชื่อของคนส่วนใหญ่อยู่เลย

 

หากนับว่า หมอและนักวิชาการการแพทย์ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด แต่ยังไม่ถึงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งอยู่ดี ซ้ำความเห็นของหมอมีหลากหลายยิ่ง บ่อยครั้งมากในเรื่องเดียวกันให้ความรู้ ความเห็นไปคนละทิศละทาง ตรงกันข้ามกันไปเลยก็มาก

หากยึดถือเอาความตั้งใจของการบริหาร คือให้ ศบค.เป็นศูนย์กลาง อันหมายถึงให้ฟัง ศบค.เป็นหลักยิ่งเละไปใหญ่ เพราะคนที่เชื่อ ศบค.มีอยู่แค่ร้อยละ 16.51 น้อยนิดอย่างยิ่ง จนเป็นความเชื่อที่อยู่ในอันดับที่ 5 น้อยกว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข, สื่อมวลชน, แพทย์แผนไทยเสียด้วยซ้ำ

ขณะที่นักการเมือง อันหมายรวมถึงผู้มีอำนาจในการสั่งการแก้ปัญหา วางแผนคลี่คลายวิกฤต หยุดยั้งการระบาดยิ่งหมดท่าไปใหญ่ เพราะมีแค่ร้อยละ 0.61 เท่านั้นที่เชื่อ อยู่ในอันดับท้ายๆ

เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อร่วมกัน ความร่วมมือทำในสิ่งที่ถูกต้องที่จะได้ผลจึงไม่มี

ความร่วมมือในเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือเป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาไม่มี

ความสำเร็จจึงเป็นไปไม่ได้

แต่ทั้งที่ชัดเจนว่า หมดสภาพที่จะบริหารให้ได้ผล ก็ยังดันทุรังอยู่กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยการปลอบประโลมตัวเองด้วยการโทษว่าความผิดเป็นของคนอื่น อย่างที่ได้ยินบ่อยสุดคือ ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ

จะร่วมกับอะไร กับข้อมูล ความรู้ ความคิดที่ไม่เพียงไม่เชื่อ แต่ยังถูกสงสัยว่ามีเบื้องหลังเป็นผลประโยชน์ของพวกที่หากินกับความป่วยไข้ ความตายของผู้คนน่ะหรือ