สิ่งแวดล้อม : บทสรุป ‘โลกร้อน’ ของจริง / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ปกรายงานฉบับล่าสุดของไอพีซีซี ใช้สีแดงเข้มเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศอยู่ในห้วงอันตรายอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

บทสรุป ‘โลกร้อน’ ของจริง

 

ข้อถกเถียง “โลกร้อน” มีจริงหรือไม่นั้น ในบทสรุปรายงานฉบับที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซีแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พิสูจน์ว่ามีจริงและต้นเหตุมาจากน้ำมือของคน

รายงานไอพีซีซีฉบับนี้มาจากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศทั่วโลก 14,000 ชิ้นส่งให้นักวิทยาศาสตร์ 234 คนจาก 66 ประเทศวิเคราะห์ประมวลผล

เทียบกับรายงานชิ้นแรกที่ไอพีซีซีนำมาเผยแพร่เมื่อปี 2533 แตกต่างกันอย่างมาก

เวลานั้นผู้คนจำนวนมากเกิดความสงสัยว่า ภาวะโลกร้อนเป็นไปได้หรือ คนเป็นตัวต้นเหตุจริงหรือเปล่า หรือนักวิทยาศาสตร์กุเรื่องขึ้นมา

บางคนเห็นแย้งไอพีซีซีว่า เรื่องโลกร้อนเกิดขึ้นมานานแล้ว ดูจากยุคครีเทเซียส บรรดาไดโนเสาร์สูญหายไปจากโลกเมื่อ 83 ล้านปีก่อนโน้นก็มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นวันนี้กับอดีตโบราณกาล ไม่เห็นมีความแตกต่างกันตรงไหนเลย เป็นวัฏจักรของธรรมชาติ

 

นักวิทยาศาสตร์ที่เขียนรายงานไอพีซีซีชิ้นแรกไม่มีออกมาโต้แย้งกับฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นแล้ว แถมยังไม่ค่อยมั่นอกมั่นใจกับข้อมูลซะเท่าไหร่ บอกเพียงว่าเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเชื่อถือได้แต่ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

รายงานในชิ้นต่อๆ มา นักวิทยาศาสตร์พบข้อมูลมากขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และอวกาศ

ข้อมูลสภาพภูมิอากาศของโลก ความเปลี่ยนแปลงในมหาสมุทรหรือสภาพพื้นผิวโลก รวมทั้งความชื้น ระดับน้ำทะเล การละลายของหิมะบริเวณขั้วโลก นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลจากจุดเกิดเหตุ จากดาวเทียมและการคำนวณประมวลผลของคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง

รายงานไอพีซีซีฉบับที่ 6 ดังกล่าวได้เก็บรวบรวมข้อมูลแทบจะครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกด้านที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้น จึงมีความแตกต่างจากฉบับที่ 1 เป็นอย่างมาก

เป็นความต่างของความชัดเจนในข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการควันรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินและอุตสาหกรรมการเกษตร นำไปสู่วิปริตทางสภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นราวๆ 1.1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2393-2443 เป็นช่วงต้นๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมโลก

ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชาวโลกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก จากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2562 พบว่ามีปริมาณสูงที่สุดในรอบ 2 ล้านปี

ระดับก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศโลก มีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 และ 3 ถือว่าสูงสุดในรอบ 8 แสนปี

ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนและไนตรัสออกไซด์ คือตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ก๊าซพิษสะสมอย่างเข้มข้นในชั้นบรรยากาศโลกนำไปสู่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก

ความแปรปรวนและวิปริตเป็นไปอย่างรวดเร็ว แผ่กว้างรุนแรง ทั้งในชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร บนพื้นผิวดิน

 

หลักฐานปรากฏเด่นชัดว่าคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก ภัยแล้ง พายุโซนร้อน ไซโคลน ล้วนเป็นผลมาจากน้ำมือคนทั้งสิ้น

เพราะเป็นการเก็บข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมในชั้นอวกาศ การเฝ้าสังเกตการณ์จากทุกมุมโลกและการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง บ่งชี้สภาพภูมิอากาศของโลกเข้าสู่ความแปรปรวนอย่างรุนแรงยิ่ง จนกระทั่งในบางพื้นที่ สภาวะวิกฤตเช่นนี้กลายเป็นความปกติไปแล้ว

ไอพีซีซีคาดการณ์อีกว่า ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายทศวรรษแม้ ชาวโลกร่วมมือหยุดการปล่อยก๊าซพิษจนเป็นศูนย์แล้วก็ตาม

แต่ในทางกลับกันถ้าชาวโลกเอาแต่แย่งชิงการเป็นอยู่อย่างเสพสุข ใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซอย่างไม่แยแสคำเตือนของไอพีซีซี อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 ํc สภาพภูมิอากาศโลกถึงเวลานั้นวิปริตแปรปรวนอย่างสุดๆ

ไอพีซีซีชี้ให้เห็นว่า คลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 50 ปี มาเดี๋ยวนี้เกิดขึ้น 10 ปีครั้ง

พายุไต้ฝุ่น พายุไซโคลน หรือพายุเฮอร์ริเคน ก่อตัวในทะเลมีพลังแรงขึ้น สามารถหอบน้ำฝนในปริมาณมหาศาล แต่ไม่มีประเทศไหน “เอาอยู่” ทั้งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือในทวีปเอเชีย แอฟริกา

ต่างกับในอดีต ประชากรโลกยังมีไม่มาก ชุมชนโลกไม่ได้อยู่กันแออัดยัดเยียด มีป่าไม้หนาแน่นอุดมสมบูรณ์ ความรุนแรงของพายุเช่นนี้ มีผลกระทบกับชาวโลกน้อยมาก

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ป่าไม่มีเหลือให้ซับน้ำฝนห่าใหญ่ๆ อีกแล้ว ทางน้ำไหลจากภูเขาสูงมาสู่เบื้องล่างกลายเป็นถนน ตึกอาคารแท่งคอนกรีต และชุมชน น้ำจึงท่วมทะลักเมืองในทุกมุมโลก

เช่นเดียวกับภัยแล้ง และไฟป่า เกิดขึ้นบ่อยกว่าอดีต 1.7 เท่า แถมยังกินเวลายาวกว่า รุนแรงกว่า

 

ไอพีซีซีทำนายทายทักว่า ราวๆ 30 ปีข้างหน้า เมื่อถึงห้วงฤดูร้อนแผ่นน้ำแข็งปกคลุมขั้วโลกจะละลายหายไป เพราะอุณหภูมิอันร้อนระอุเร็วกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกในอดีตอย่างน้อย 2 เท่าตัว

อุณหภูมิเพิ่มสูงทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าร้อยปีหรือพันปีที่แล้วอย่างแน่นอนถ้าสามารถคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 ํc ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงราว 2-3 เมตร

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง อุณหภูมิในกระแสน้ำอุ่นมีมากกว่ากระแสน้ำเย็น และมวลน้ำทะเลขยายตัว ชายฝั่งทะเลจะต้องเจอน้ำทะเลเอ่อทะลัก คลื่นยักษ์ซัดใส่มากกว่าอดีตเป็น 2 เท่าตัว

อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงมีผลต่อกระแสน้ำ ความชื้นบนผิวน้ำ ปฏิกิริยาการก่อคลื่นลมในทะเลและสภาพภูมิอากาศ

เมืองเลกอส เมืองใหญ่สุดของประเทศไนจีเรีย เป็นกรณีตัวอย่างที่เจอกับความแปรปรวนของภูมิอากาศ ฝนตกหนัก ระดับน้ำของมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มสูง ทุกๆ ปี มีผลทำให้ไนจีเรียสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำทะเลเอ่อทะลัก

หรือกรณีคอนโดมิเนียมริมชายหาดเมืองเซิร์ฟไซด์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จู่ๆ ทรุดตัวถล่มลงมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้เสียชีวิต 98 คน สาเหตุนั้นเป็นเพราะโครงสร้างตัวอาคาร หรือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และการทรุดตัวดินชายฝั่งกันแน่ ยังไม่มีใครบอกได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน การวางผังเมืองชายฝั่งในอนาคตต้องปรับมาตรฐานใหม่ให้เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นแล้ว ผู้คนอยู่อย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย

 

การฉายภาพรวมจากข้อสรุปของรายงานไอพีซีซีฉบับที่ 6 แจ่มชัดไม่ต้องเถียงกันอีกว่า “ภาวะโลกร้อนมีจริงหรือเปล่า”

ไอพีซีซีได้วิงวอนชาวโลกให้เอาเวลาที่เหลืออยู่อันน้อยนิดมาพลิกฟื้นโลกกันดีกว่า

อย่าให้ลูก-หลานคนรุ่นต่อๆ ไปสาปแช่งก่นด่าว่าคนยุคนี้รุมขยำทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทำลายความน่าอยู่ของโลก และผลักไสให้สัตว์โลกทั้งหลายเข้าไปสู่วังวนแห่งมหาวิบัติภัย