โฟกัสพระเครื่อง : พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มงคลวัตถุวัดราชบพิธฯ

(ซ้าย) พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ขวา) พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

มงคลวัตถุวัดราชบพิธฯ

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุล ชมพูนุท ดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกอยู่นานถึง 16 ปี

วัตถุมงคลพระเครื่องของพระองค์ ล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง มีพระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคมร่วมพิธีปลุกเสกมากมาย

หนึ่งในนั้นคือ “พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2466

ในโอกาสที่พระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในปี พ.ศ.2464

พุทธลักษณะ ตรงกลางเป็นพระพุทธปางสมาธิประทับอาสนะ ฐานเขียง 2 ชั้น รอบองค์พระเป็นซุ้มเรือนแก้วรูปสามเหลี่ยม ข้างองค์พระพุทธด้านซ้ายและขวา มีรูปพระอัครสาวก

ทั้งนี้ ในงานพิธีบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ 65 พรรษา ได้ประกอบพิธีเททองหล่อพระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม ที่ลานพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ โดยนิมนต์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นผู้จัดพิธีและควบคุมดำเนินการจัดสร้าง

หลังประกอบพิธีเททองเสร็จ นำพระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม เข้าพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ จัดพิธีพุทธาภิเษก โดยมีพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมและพระราชาคณะ รวมกว่า 60 รูป อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก เป็นต้น ร่วมเจริญพระพุทธมนต์และนั่งปรกปลุกเสกเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน

พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยมรุ่นดังกล่าว สร้างจำนวน 1,000 องค์ หล่อสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ มี 3 แบบด้วยกัน คือ แบบธรรมดาหน้าเดียว แบบธรรมดาหน้าเดียวเจาะก้น และแบบพิเศษ 2 หน้า

กล่าวกันว่า วัตถุมงคลสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นที่นิยมและมีประสบการณ์ทุกรุ่น

 

ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2402 เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (ต้นราชสกุลชมพูนุท) กับหม่อมปุ่น มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ ทรงศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นกับเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ในรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นอัยยิกา

เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแรฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ทรงบรรพชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้น พ.ศ.2422 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระฉายาว่า สิริวัฑฒโน

ทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และพระปริยัติธรรมจนแตกฉาน

มีพระปรีชาญาณพิเศษในทางรจนาหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

ทรงพระนิพนธ์ตำราและหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก นิทานต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น

พระนิพนธ์เหล่านี้ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และการศึกษาพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบั

ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงริเริ่มให้จัดหลักสูตรธรรมศึกษา เป็นหลักสูตรการเรียนพระพุทธศาสนาสำหรับฆราวาส ควบคู่ไปกับหลักสูตรนักธรรมของบรรพชิต

พระกรณียกิจพิเศษได้แก่ การเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ 1 สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ.2444 จึงได้ทรงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เป็นเจ้าอาวาสยุคที่ 2

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงบริบูรณ์ด้วยพระศีลาจารวัตรเนกขัมมปฏิปทาไม่บกพร่อง มีพระอัธยาศัยเยือกเย็นสุภาพ ไม่เคยมีผู้ใดเคยเห็นพระอาการกริ้วโกรธหรือมีรับสั่งผรุสวาทรุนแรงแม้แต่ครั้งเดียว ทรงพระสุขุมคัมภีรภาพในการบริหารกิจการพระศาสนา ด้วยความมั่นคงในหลักการตามพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังทรงอุปการกิจสาธารณูปการไว้เป็นอันมาก เช่น ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธสืบต่อจากเจ้าอาวาสยุคที่ 1, ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม) สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จังหวัดปทุมธานี, ทรงสร้างโรงเรียนวัดชินวราราม (เจริญผลวิทยาเวศม์) จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนาและในพระอิสริยยศทางราชตระกูลตลอดมานับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และเป็นที่ทรงพระราชศรัทธายิ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2464

ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก เป็นต้น ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาอย่างแพร่หลาย

ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคนเบาพิการ ทำให้พระบังคนเบาเป็นโลหิต

สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2480

สิริพระชนมายุ 77 พรรษา