สมุนไพร/สมอนั่ง

สมุนไพร/คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล

สมอนั่ง

Terminalia chebula Heyne Retz. var. nana Gagnep. COMBRETACEAE

ไม้พุ่ม สูง 0.7-2 เมตร เปลือกต้นหยาบ เป็นเกล็ด สีเทาเข้ม มีรอยแยก แห้งและแตก ตาใบและใบอ่อนมีขนอุยสีราสนิม

ใบ เดี่ยว เรียงเกือบตรงข้ามหรือตรงข้าม คล้ายแผ่นหนัง รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี โคนใบกลมหรือมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นขนครุย มีขนนุ่มประปรายทั้งสองด้านโดยเฉพาะที่เส้นกลางใบด้านล่าง ปรกติมีคู่ต่อมเป็นปมที่ขอบโคนใบและก้านใบ ก้านใบมีขนสั้นนุ่มแบนชิด

ดอก ช่อแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง แกนกลางมีขนสั้นนุ่มค่อนข้างแดง มีกลิ่นหอม ใบประดับมีขนสั้นนุ่ม รูปแถบ ขนาดเล็ก ส่วนวงกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงสีเหลือง

ผล สดมีเมล็ดเดียวแข็ง รูปทรงกลมหรือคล้ายทรงกลม สีเหลืองแกมเขียว มักมีจุดหรือแต้มสว่างสีม่วงแดงอ่อน มีรอยย่นและเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเมื่อแห้ง

ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ผลแห้ง ผสมผลสมอดีงูและผลสมอไทย อย่างละ4 ผล ต้มน้ำดื่ม เป็นยาถ่าย

ผล ดองกินเล่นช่วยแก้อาการกระหายน้ำ

ผลแก่ เป็นยาฝาดสมาน แก้อาการท้องเดิน

ทั้งต้น ขับเสมหะ แก้อาการเสียวคอและเสียวหน้าอก แก้ท้องผูก ใช้เป็นยาสมาน

ดอก รักษาโรคบิด

ผล ใช้ทาภายนอกบดให้ละเอียดโรยแผลเรื้อรัง ถ้าเป็นผลอ่อนเป็นยาระบาย

ผลแก่มีรสฝาด มีสารพวก tannin เป็นยาสมาน ยาระบายรู้จักปิด แก้ลมจุกเสียด เจริญอาหาร ยาบำรุง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ ขับน้ำเหลืองเสีย

เปลือกต้น บำรุงหัวใจ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ

ตำรับยานำเอาผลมาประมาณ 5-7 ผลแล้วใช้เนื้อในของผลต้มกับน้ำ 1 แก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วรับประทาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็จะถ่ายออกมา