ศ. ดุสิต/รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว/อ่านอนาคตของคุณไม่ยากหรอก…แค่รู้จักดาว 10 ดวงเท่านั้น!

รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว/ศ. ดุสิต

อ่านอนาคตของคุณไม่ยากหรอก…แค่รู้จักดาว 10 ดวงเท่านั้น! เรื่องลึกในโหราศาสตร์ไทยชุด “คลังโหร”

ทักษารามัญ (ต่อ)

อีกดวงหนึ่งเป็นลูกคนที่สาม ได้นาม ๓ อังคาร เกิดเดือนห้าปีมะเส็ง ทักษาเดือนก็ตกที่เดียวกับนาม มีกาลกิณีคือดาวจันทร์ ปีมะเส็งนับจากภูมิอังคารจะตกที่ภูมิศุกร์ มีราหูเป็นกาลกิณี ดวงนี้จึงมีกาลกิณีเพียงสองตัว

เป็นชีวิตที่มีผลบุญส่งมาให้ด้วย จึงไม่ต้องลำบากมากนัก แม้จะลำบากบ้างก็จะได้รับผลตอบแทนในชีวิตที่ดีจนได้ อันเนื่องมาจากผลบุญ แต่ผลบาปก็มี นั่นคือความเหน็ดเหนื่อยที่ได้รับบ้าง แต่คนที่มีกาลีเพียงสองตัวนั้นมักไม่เหนื่อยเปล่าหรอก เหนื่อยแล้วมีผลของความเหนื่อยแน่นอน

ส่วนที่ดีกว่านี้ก็คือ เมื่อทักษาปีสถิตที่ภูมิศุกร์ ก็จะทำให้ภูมิอังคารซึ่งเป็นภูมิทักษานามและทักษาเดือนนั้นเป็นภูมิศรี เป็นตัวบ่งอีกว่าชีวิตจะได้รับความสุขสบายในบั้นปลายอย่างไม่มีปัญหา

นี่คือวิธีสร้างและวิธีอ่านทักษารามัญที่ไม่เหมือนกับทักษาแบบอื่นๆ เพราะทักษานี้มีทักษานามและทักษาเดือนมาเป็นตัวขยายความของทักษาปีอันเป็นตัวหลักในการพยากรณ์ ซึ่งความหมายของแต่ละทักษานี้ก็มีต่างกัน เช่น-

ทักษานาม ตกที่ภูมิใดก็ใช้อ่านอุปนิสัยใจคอ หรือพฤติกรรมของเจ้าชาตานั้น

ทักษาเดือน บ่งถึงความสุขความทุกข์ในการดำรงชีวิตของเจ้าชาตา เช่น ตกภูมิศุภเคราะห์ท่านถือว่าดี จะได้สุขมากกว่าทุกข์ แต่ถ้าตกบาปเคราะห์ก็จะได้ทุกข์มากกว่าสุข คือชีวิตต้องเหนื่อยยากนั่นเอง

ศุภเคราะห์นั้นท่านกำหนดไว้ ๓ ดาวคือ–

ดาวจันทร์, ดาวพฤหัสฯ, ดาวศุกร์

บาปเคราะห์นั้นท่านกำหนดไว้ ๓ ดาวเช่นกันคือ-

ดาวอังคาร, ดาวเสาร์, ราหู

ส่วนดาวที่เป็นทั้งศุภเคราะห์และบาปเคราะห์มี ๒ ดวง คือ–

ดาวอาทิตย์, ดาวพุธ

เกิดกลางวันเป็นบาปเคราะห์ เกิดกลางคืนเป็นศุภเคราะห์ หรือถ้าตรวจในดวงชาตา ถ้าอยู่ภาคกลางวันก็เป็นบาปเคราะห์ ถ้าอยู่ภาคกลางคืนก็เป็นศุภเคราะห์

ตำราว่าไว้ยังงี้แหละครับ

และการที่ทักษารามัญนี้มีกาลกิณีถึงสามตัวเพื่อผลทางพยากรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ไม่พึงตกใจกับการที่มีกาลกิณีถึงสามตัวเช่นนี้ เพราะท่านบอกว่ากาลกิณีนั้นเสื่อมได้ กาลกิณีตัวใดเสื่อม กาลกิณีตัวนั้นก็ส่งโทษน้อย ซึ่งการที่มันจะเสื่อมได้นั้นก็ด้วยเหตุดังนี้

๑. กาลกิณีเป็นนิจ, ประ

๒. กาลกิณีสถิตอยู่ในภพมรณะ, วินาสน์

๓. กาลกิณีสถิตร่วมกับดาวที่ได้เกษตร, อุจจ์, มหาจักร

๔. กาลกิณีสถิตร่วมกับดาวศรีแล้วกุมลัคน์

๕. กาลกิณีตกเป็นดาวศรีในทักษาที่ร่วมกัน

เห็นไหมครับว่ามีทางที่กาลกิณีจะส่งโทษน้อยจนถึงไม่ส่งโทษเลยก็มีอยู่ ดังนั้น จึงไม่ควรจะตกอกตกใจกับการที่มีกาลกิณีถึงสามตัวหรอก ใครมีสามตัวแต่เสื่อมเสียตัวหนึ่งก็เหลือแค่สองตัว หรือเสื่อมสองตัวก็เหลือแค่ตัวเดียว ถ้าเสื่อมหมดก็สบายแฮ ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

ในข้อ ๕ นั้นก็หมายถึงว่า กาลกิณีตัวนั้นได้ตกเป็นดาวศรีในทักษานาม, เดือน, ปี อย่างใดอย่างหนึ่งที่ร่วมกันอยู่ในดวงชาตานั้น กาลกิณีตัวนั้นก็ลดโทษลง (เสื่อม) เพราะต้องทำหน้าที่ศรีอยู่ในทักษาร่วมอยู่แล้วนั่นเอง

จะยกตัวอย่างให้ดูอีกสักตัวอย่างหนึ่งดังนี้

เจ้าชาตาเป็นลูกคนโต เกิดเดือน 12 ปีมะเส็ง มีรูปดวงชาตาดังนี้

เป็นลูกคนโตจึงได้นาม ๑ อาทิตย์ มีดาวศุกร์เป็นกาลกิณี เกิดเดือน 12 นับเดือนห้าจากภูมิอาทิตย์ตกภูมิศุกร์ มีราหูเป็นกาลกิณี นับปีชวดที่ภูมิศุกร์ไปหาปีมะเส็ง ตกที่ภูมิเสาร์ มีดาวพุธเป็นกาลกิณี เท่ากับมีกาลกิณีสามตัวคือ ดาวศุกร์, ราหู, ดาวพุธ

แล้วคุณดูที่ดวงชาตาซีครับ ดาวพุธนั้นสถิตร่วมกับดาวศุกร์เกษตรย่อมเสื่อมไป และดาวศุกร์ที่เป็นกาลกิณีทักษานามนั้นก็ตกเป็นดาวศรีของทักษาปี (ภูมิเสาร์) ศุกร์กาลกิณีก็เสื่อมไปอีก ดังนั้น คงเหลือราหูเพียงตัวเดียวที่ยังมีฤทธิ์อยู่

จะถือว่าดวงนี้จะพอมีบุญอยู่บ้างก็ได้ เพราะกาลกิณีสามตัวเหลือตัวเดียวเท่านั้น

ทักษาจร

ผมก็แจกแจงทักษานี้มาละเอียดพอสมควรแล้ว ยังไม่ได้ขยายเรื่องของ “ทักษาจร” เลย เพราะทักษานี้เขามีการจรที่ไม่เหมือนกับทักษาคู่ธาตุ เพราะในการจรนี้บางครั้งจะเกิดกาลกิณีสองตัวขึ้นมาได้ คือมีพระเกตุเป็นกาลกิณีด้วยอีกตัวหนึ่ง และการนับเข้าตากลางก็ไม่เหมือนกัน ของรามัญเขามีวิธีนับยังงี้ครับ

เอาอายุย่างตั้งแล้วเอา 9 หาร เหลือเศษเท่าใดนับตั้งแต่ภูมิบริวารของทักษาปีกำเนิดไปเท่าเศษ ตกที่ภูมิใด ภูมินั้นเป็นบริวารจรของปีนั้น แต่–

แต่ถ้านับมาถึงภูมิศุกร์ ท่านให้วกเข้าตากลางก่อนแล้วจึงขึ้นไปยังภูมิอาทิตย์และไปภูมิจันทร์ต่อไปตามปกติ ไม่เหมือนกับทักษาคู่ธาตุของโหรไทยที่นับถึงภูมิอาทิตย์แล้วจึงลงตากลาง (เพราะของไทยเราดัดแปลงมาจากของเขากระมัง)

และถ้าอายุตกที่ตากลางพอดี ก็ไม่ได้เลื่อนลงมายังภูมิพฤหัสฯ เหมือนกับโหรไทยอีก แต่ให้กลับไปใช้ภูมิบริวารเดิมของทักษาปีกำเนิดเป็นบริวารจรแทน

ในกรณีที่อายุตกตากลางนี้เท่ากับตกภูมิพระเกตุ จึงเท่ากับมีพระศุกร์เป็นกาลกิณีจร และยังมีกาลกิณีจากบริวารจรอีกตัวหนึ่งด้วย ปีนี้จึงนับว่ามีกาลกิณีสองตัว และ–

ตรงนี้สำคัญมาก ระวังจำให้ดี ถ้าอายุตกภูมิอาทิตย์จะมีพระเกตุเป็นกาลกิณี

กาลกิณีนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นตัวที่นำความเดือดร้อนมาให้ ดังนั้น จึงอดตกใจกันไม่ได้เมื่อรู้ว่าตัวเองมีกาลกิณีถึงสามตัว แต่ในการใช้งานจริงๆ แล้ว แม้ว่าเราจะโชคไม่ดีที่ไม่มีกาลกิณีตัวใดเสื่อมเลย แต่เขาก็มีการแบ่งประเภทของกาลกิณีเอาไว้เป็น ๑-๒-๓ ดังนี้

กาลกิณีตัวที่ ๑ จากทักษานามกำเนิด ส่งผลเมื่อปฐมวัย

กาลกิณีตัวที่ ๒ จากทักษาเดือนกำเนิด ส่งผลในยามปัจฉิมวัย

กาลกิณีตัวที่ ๓ จากทักษาปีกำเนิด ส่งผลเมื่อยามมิชฌิมวัย (หรือยามปัจจุบัน)

นอกจากนั้น ยังมีการนับชันษาจรในแต่ละปีอีกด้วย แต่การนับจะไม่เหมือนกับตอนนับเมื่อกำเนิด

เขานับทักษาจรอย่างนี้

นับขึ้นต้นที่บริวารปีกำเนิดไปเท่าอายุย่าง (เข้าตากลางที่ภูมิศุกร์) ตกภูมิใดนับภูมินั้นเป็นภูมิอายุ จากนั้นขึ้นปีชวดที่ภูมิอายุนั้นนับไล่ไปหาปีปัจจุบัน ตกภูมิใดถือภูมินั้นเป็นภูมิปีจร (ทักษาปี) ขึ้นเดือนห้าที่ภูมินั้นนับไล่ไปหาเดือนปัจจุบัน ตกภูมิใดถือภูมินั้นเป็นภูมิเดือนจร (ทักษาเดือน) ขึ้นดิถี ๑ ค่ำที่ภูมินั้นนับไล่ไปหาดิถีปัจจุบันที่ต้องการ (ทักษาวัน) ตกภูมิใดภูมินั้นเป็นภูมิดิถีหรือภูมิวัน เสร็จแล้วอยากจะดูอะไรก็ดูกันไปตามดวง โดยขึ้นบริวารที่ทักษานั้นๆ (ของใครของมัน) ซึ่งจะทำให้มีกาลกิณีเพิ่มขึ้นมาให้เราพิจารณาอีกสามตัว แต่ทั้งสามตัวนี้ไม่มีอำนาจอิทธิพลเท่าใดนัก เพียงแต่เป็นตัวขัดแย้งหรือขัดขวางทางเดินของสิ่งที่เราดูบ้างเท่านั้น เพราะของจริงที่หนักแน่นกว่าอยู่ที่ทักษาอายุนั่นแล้ว (มอญใช้ทักษาอายุเป็นตัวหลัก)

ในการที่อายุตกตากลางและเราต้องกลับไปใช้ “บริวารเดิม” ของทักษาปีกำเนิดนั้น ทำให้เราต้องใช้ “ทักษา” ทั้งแปดของทักษาปีกำเนิดนั้นด้วย เช่น ใช้ศรี, กาลกิณี, เดช, มนตรี ฯลฯ เป็นต้น แม้จะมีทักษาปี, เดือน, ดิถีจรขึ้นมาอีกตามที่เราสร้างขึ้นเพื่อหารายละเอียด

แต่เราจะไม่นำเอาศรีเอาเดชมาใช้เป็นหลัก ใช้เพื่อผลการพยากรณ์ในเรื่องที่เราต้องการจะรู้เท่านั้นเอง

นี่เป็นวิธี “เล่น” ของทักษารามัญเขา ซึ่งก็นับว่าแปลกกว่าที่โหรไทยเคยเล่นกันมา

เราเคยชินกับทักษาวาร (วันเกิด) กันจนหลายคนไม่อาจจะเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นได้

ด้วยเหตุนี้เองทักษารามัญจึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงและนำมาใช้ นานๆ จึงจะเห็นสักคนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมว่าของเขามีส่วนที่ดีอยู่ไม่น้อยเลย หลายอย่างที่มีอย่างที่เราไม่เคยมี ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะทอดทิ้งของดีๆ อย่างนี้ไปเสีย อย่างน้อยนำมาทดลองพยากรณ์กับดวงของตัวเองดูบ้างก็ยังดี

ผมว่ามานี่ก็ยืดยาวไม่น้อยอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่บอกในตอนต้นว่าจะอธิบายพอสังเขป แต่ก็อดที่จะแจกแจงให้รู้เรื่องกันไม่ได้ จึงต้องออกมายาวหน่อย

ถึงอย่างไร ที่ผมว่ามานี้ก็ยังไม่หมดหรอกนะครับ ยังมีรายละเอียดของทักษารามัญนี้อีกอึดตะปือ

ถ้าจะเขียนให้ละเอียดจริงๆ จะต้องเป็นหนังสือเล่มโตเล่มหนึ่งทีเดียว

แต่เอาแค่นี้ผมก็ว่าพอจะรู้เรื่องกันแล้ว อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าหน้าตาของ “ทักษารามัญ” นี้เป็นอย่างไร มีคุณภาพยังไง

สมควรที่คุณจะทดลองใช้ดูบ้างไหม ก็พิจารณากันเอาเองนะครับ