หาทางออก/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

หาทางออก

 

รุมกินโต๊ะกันเมามัน แนวทางปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มความคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาด “โควิด-19”

ที่เสนอซ่อนรูปมาในนาม “พระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)”

ผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมความผิดทางแพ่ง ทางอาญา ความรับผิดชอบทางวินัย และความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย

1. บุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะในแขนงต่างๆ

2. อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครต่างๆ

3. บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุทางการแพทย์ รวมไปถึงยารักษาโรคและวัคซีน

ทั้งนี้ กฎหมายนี้คาดกันว่าจะครอบคลุมไปถึงสถานพยาบาลของทั้งรัฐและเอกชน การเดินทางไปรับ-ส่งผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ ทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ คือ “การกระทำต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่อร้ายแรง”

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การยกร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโควิด-19 และร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ

“เราต้องการให้แพทย์ พยาบาลมีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการรักษาคนไข้ ถ้ามีความกังวลน้อยที่สุด สุดท้ายคนไข้ ประชาชนจะได้ประโยชน์”

โดย “ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 พ.ศ. …” มีการนำเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 282 ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2564

แต่ไม่ลื่นไหลเหมือนสายน้ำไหลในลำธาร มีผู้ออกมาต่อต้าน “พ.ร.ก.” ฉบับนี้กันมากมาย เจ้าแรกขาเก่า “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า

หากจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยสุจริต ไม่มีการเลือกปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ก็คงไม่มีใครแย้ง พรรคก้าวไกลเห็นด้วย

“แต่การที่จะปกป้องบุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีน ล้วนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังประสบกับทุกข์ภัยอย่างแสนสาหัส เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า คับแค้นจนน้ำตาไหลเป็นสายเลือด ไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะหากการที่ประชาชนตายด้วยโรคระบาดเป็นจำนวนมาก เด็กเล็กๆ หลายคนต้องกำพร้า เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่บนวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติไว้แล้ว หรือเลิกเห็นหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้า แต่ก็มิได้ตระเตรียมหรือกระจายความเสี่ยงเอาไว้อย่างที่ควรจะเป็น เบิกจ่ายล่าช้าอย่างที่ไม่ควรจะเป็น”

“ดังนั้น บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ก็ควรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะถูกหรือผิด ศาลท่านจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง ไม่ควรออกกฎหมายมานิรโทษกรรมให้กับตัวเองล่วงหน้าเยี่ยงคณะรัฐประหารเช่นนี้”

 

มีคำถามผุดขึ้นมาต่อยอดมากมาย “พ.ร.ก.นิรโทษกรรม” ออกมาเพื่อปกป้องหมอจริงหรือ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ และซาบซึ้งในการเสียสละของแพทย์-พยาบาลด่านหน้า ที่เป็นผู้เสียสละชีวิต ความสุขส่วนตัวมาดูแลรักษาพี่น้องประชาชน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อมสักอย่าง

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ใช่เกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ แต่เกิดจากความบกพร่อง ผิดพลาดจากนโยบายของผู้บริหารระดับสูง ที่ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดในการป้องกันการแพร่ระบายของโรคโควิด-19

ย้อนรอยความผิดพลาดครั้งแต่โควิด-19 โจมตีรอบแรก ผู้บริหารออกมาเย้ยหยันว่า แค่ไข้หวัดกระจอก ไหนจะโดนกล่าวหาว่า “แทงม้าผิดตัว” ซื้อวัคซีนราคาแพง ประสิทธิภาพไม่ได้ดีกว่า และวัคซีนมาไม่ทัน ไม่มาตามนัด จนรอบสอง-รอบที่สามผ่านไปแล้ว “โควิด-19” เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ใหม่ โรคระบาดแพร่กระจายหนัก วันละหมื่นกว่าราย ล้มตายเหมือนแมลง

สังคมต่างพากันตำหนินโยบายที่ผิดพลาดอีกหลายกรณี

ดังนั้น การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม เป็นมิติทางการเมืองที่ผิดปกติ เป็นการเอาแพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้ามาบังหน้า มีการ “หมกเม็ด”

เพราะใน พ.ร.ก.ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องร้อง นอกจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังรวมถึง “ผู้จัดหาวัคซีนด้วย”

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึง “ลนลาน” ออกพระราชกำหนด อันเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี มีศักดิ์เท่ากับ “พระราชบัญญัติ” ทุกประการ ต่างกันตรงวิธีการตรากฎหมายเท่านั้น

พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นกรณีที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ เป็นความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

หมายความว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เร่งด่วนและจำเป็น ฝ่ายบริหารสามารถตราพระราชกำหนดขึ้นมาและทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งต้องใช้เวลานาน

ต่างกับ “พระราชบัญญัติ” คือกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นโดยคำแนะนำยินยอมของรัฐสภา เนื้อหาของ พ.ร.บ.จะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่เกิดจากความเห็นชอบของรัฐสภา เปิดให้มีการอภิปรายและลงมติ

ด้วยประการดังกล่าว พระราชกำหนดเลยโดนเททิ้ง