‘3 ป.’ ลงหลังเสือ ‘ทายาทการเมือง’ นอก-ใน พปชร. ‘ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง’ แบบไม่เน้นพรรค/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

ปรัชญา นงนุช

 

‘3 ป.’ ลงหลังเสือ

‘ทายาทการเมือง’ นอก-ใน พปชร.

‘ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง’ แบบไม่เน้นพรรค

 

สภาวะ “วิกฤตศรัทธา” ต่อ “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และ รมว.กลาโหม ถือว่าหนักหน่วงที่สุดในห้วง 7 ปี ตั้งแต่ยุค คสช. ด้วย “ระเบิดเวลาทางการเมือง” ที่ดำรงอยู่มานาน เมื่อถูกกระตุ้นด้วย “วิกฤตโควิด” จึงทำให้เกิดแรงปะทุออกมา

มีการมองว่า “การเปลี่ยนแปลงใหญ่” จะเกิดขึ้นในปี 2565 ส่วนในปีนี้ “บิ๊กตู่-รัฐบาลพลังประชารัฐ” ต้องกรำศึกรบกับโควิดไปก่อน ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์” ว่าจะเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวเร่งหรือไม่ เพราะเป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่องคาพยพกลุ่มอำนาจ “3 ป.” ต้องเผชิญ

การหา “ทายาททางการเมือง” ของ “3 ป.” ได้เริ่มขึ้นแล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจ “วางมือ” ในอนาคตอันใกล้ เพราะกระแสธารแรงต้านที่ยิ่งฝ่าก็ยิ่งมีแต่เจ็บตัว

ดังนั้น การ “ลงหลังเสือ” เพื่อให้ตัวเองเจ็บน้อยที่สุด และไม่ถูก “เช็กบิลย้อนหลัง” จึงสำคัญเป็นอย่างมาก

การพูดถึงแคนดิเดต “นายกฯ คนใหม่” มีหลายชื่อถูกหยิบยกขึ้นมา ทั้งอดีตนายทหาร-ตำรวจ-พลเรือน แต่จุดสำคัญอยู่ที่ชื่อพลเรือนที่ถูกพูดถึง ล้วนมี “ภูมิหลัง” ยึดโยงอดีตนายทหาร-ตำรวจ ผ่านการเป็น “ทายาท” หรือ “เครือญาติ” ทั้งสิ้น

 

ส่วนตำแหน่ง “ขุนพล” ที่จะมารองรับการลงหลังเสือของทั้ง “3 ป.” ก็สำคัญไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ “ผู้กองมนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ ที่เพิ่งขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และมีภารกิจใหญ่รออยู่ข้างหน้า

“ผู้กองมนัส” ถือเป็น “คีย์แมน” มาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค จนถึงการ “ตั้งรัฐบาล” กระทั่งเขาเปรียบเทียบตัวเองเป็น “เส้นเลือดใหญ่” หล่อเลี้ยงรัฐบาล แน่นอนว่า รมช.เกษตรฯ ผู้นี้คือคนที่จะมาเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ในอนาคต หากถึงวันที่ “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เลือกหลบไปอยู่หลังฉาก

ล่าสุด มีการปล่อยข่าวทำนองว่า ร.อ.ธรรมนัสพร้อมรับตำแหน่งนายกฯ ทำให้เจ้าตัวต้องรีบออกมาปฏิเสธข่าวและเตรียมดำเนินคดีผู้ที่โพสต์ข้อความ

ก่อนที่ตกดึก “เฮียชู ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตนักการเมืองและคนในแวดวงเดียวกับผู้กองมนัส จะโพสต์เฟซบุ๊กว่า

“นายกฯ ไทย คนเป็นไม่ได้พูด คนพูดไม่ได้เป็น ผมได้ยินชื่อผู้กองธรรมนัสตั้งแต่อยู่คุกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อปี 2546 เกือบ 20 ปีที่แล้ว ผู้กองธรรมนัสเรียนรู้การเมืองได้ไว เข้าหาผู้ใหญ่ได้เก่ง กล้าได้กล้าเสีย นิสัยอย่างนี้ เป็นได้ทั้งนักการเมือง และนักเล่น (การพนัน)

“แต่หากถึงขนาดจะเป็นนายกฯ คงยังไม่ถึง และผู้กองธรรมนัสก็คงไม่ได้พูด เพราะต้องทราบดีอยู่แล้วว่า นายกฯ ประเทศไทย หากพูดว่าจะเป็น ไม่เคยได้เป็น ส่วนคนไม่พูด จะได้เป็นเสียอย่างนั้น สังเกตดูว่าใครเก็บตัวเงียบ จู่ๆ โผล่มาเป็นนายกฯ หน้าตาเฉย”

งานนี้เรียกได้ว่าชูวิทย์มาแปลก ผิดจากปกติที่เวลาเขาพูดถึงผู้กองมนัสจะมีท่าทีงัดกันมากกว่านี้

โดยคราวนี้ ชูวิทย์ได้เล่าภูมิหลังว่า ได้ยินชื่อ ร.อ.ธรรมนัสช่วงปี 2546 ขณะนั้นตนเองอยู่ระหว่างการสู้คดี “รื้อบาร์เบียร์” ส่วนอีกฝ่ายก็ทำงานอยู่ในพรรคไทยรักไทยยุครัฐบาลทักษิณ โดยเป็นน้องเลิฟของ “เสธ.ไอซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต” อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง

ทั้ง “ชูวิทย์-ผู้กองมนัส” ต่างมีภูมิหลังชีวิตโลดโผนทั้งคู่ ดังนั้น การที่ฝ่ายแรกออกมาพูดทำนอง “สะกิด” ฝ่ายหลัง จึงถูกตีความไปไกล และมีคนเชื่อว่า “อดีตเจ้าพ่ออ่าง” คงต้องได้ยินข้อมูลอะไรมาบ้าง

 

ส่วน “บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ก็เตรียมทายาทไว้เช่นกัน นั่นคือ “ปลัดฉิ่ง ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ ว่ากันว่าปลัดฉิ่งได้ปูทางทำ “พรรคการเมืองสำรอง” ไว้แล้ว นั่นคือ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่มีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ปลายปี 2563

มีเสียงเล่าลือว่า ปลัดฉิ่งพยายาม “ดูด ส.ส.” จากพรรคการเมืองต่างๆ ให้มาร่วมทัพกับตน โดยมีการพูดไปถึงขั้นว่าปลัดมหาดไทยสามารถดูด ส.ส.เพื่อไทยมาได้ครึ่งพรรคเลยทีเดียว

แต่ก็มีเสียงเตือนว่า บิ๊กข้าราชการประจำแห่งกระทรวงคลองหลอดอาจโดน “นักการเมืองหลอก” หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าใน “พรรคเพื่อไทย” นั้นมีพวก “ส.ส.ฝากเลี้ยง” แฝงตัวอยู่ด้วยแน่ๆ จนทำให้ทางพรรคต้องแอบทำโพลลับๆ ประเมินจำนวน ส.ส.ที่เหลืออยู่กันภายใน แบ่งเกณฑ์คร่าวๆ เป็น 3 ระดับ ได้แก่ “ใครใจไปแล้ว-ใครชั่งใจ-ใครใจอยู่ที่เดิม”

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ ส.ส.ฝั่งพรรครวมรัฐบาล ก็ยังได้รับ “คำเชิญ” ให้ไปร่วมทัพกับ “พรรคปลัดฉิ่ง” ด้วยเหมือนกัน

ทว่ากลับมีเรื่อง “เสียจังหวะ” เกิดขึ้น หลัง ครม.ไฟเขียวแต่งตั้ง “อธิบดีเก่ง สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ขึ้นเป็นปลัดมหาดไทยคนใหม่ ชนิดที่เรียกว่า “เหาะมา” ด้วย “แบ๊กอัพส่วนตัว” ที่รู้กันในรั้วกระทรวง

ส่งผลให้ชื่อ “ปลัดตุ๋ม จตุพร บุรุษพัฒน์’ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่หวังจะเป็น “เสื้อข้ามห้วย” กลับคืนถิ่นมหาดไทยอีกครั้ง ตามที่ “3 ป.” วางแพลนไว้ เป็นอันต้อง “หลุดโผ” ไปในช่วงโค้งสุดท้าย หลังมีการยื้อเสนอชื่อเข้า ครม.มานานนับเดือน

แต่อย่าดูแคลนชื่อ “อธิบดีเก่ง” ที่ถูกมองเป็น “ม้านอกสายตา” เพราะหากพิจารณาคอนเน็กชั่นของว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็ถือว่าครองตนรอดมาทุกยุคสมัย และรู้จักมักคุ้นผู้มีอำนาจ-นักการเมืองจำนวนมาก

ด้วยดีกรีเป็นหัวหน้าสำนักงาน รมว.มหาดไทยถึง 4 คน ตั้งแต่ยุค พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา, อารีย์ วงศ์อารยะ, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

โดยสุทธิพงษ์ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแรกที่ จ.นครนายก ในยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งในขณะนั้น มี “ปู่จิ้น ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” บิดา “เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็น รมว.มหาดไทย

ช่วงเวลาเดียวกัน “สุทธิพงษ์” ยังเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงาน รมว.มหาดไทย โดยมี “เสี่ยโอ๋ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ณ ปัจจุบัน นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะทำงาน มท.1

 

มาว่ากันที่ความสัมพันธ์ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” แม้จะมีเรื่อง “ระหองระแหง” และมีบางพฤติกรรมที่ทำให้ “หวาดระแวง” กันเอง แต่ทั้ง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ยังคงกอดคอไม่ทิ้งบิ๊กตู่ ไม่ถอนตัวจากรัฐบาล แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันหนักหน่วงจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พรรคร่วมรัฐบาลยังคงซุ่มทำงานในหน้าที่อย่างเงียบๆ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ลุยงาน “เกษตร-พาณิชย์” พร้อมพีอาร์ตนเองอย่างหนักหน่วง

รวมทั้งการลงพื้นที่ของ “อู๊ดด้า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชนิด “ออนทัวร์” โดยปล่อยให้ “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” เปิดศึกกันเอง ในมหาสงครามโควิดและวัคซีนการเมือง ซึ่งทั้ง “บิ๊กตู่-เสียหนู” ต่างเป็นตำบลกระสุนตกเหมือนกัน

แม้ลูกพรรคภูมิใจไทยจะมองว่า “หัวหน้าหนู” นั้นเป็น “แพะรับบาป” เพราะโดนหั่นอำนาจจาก ศบค.ไปเยอะ แต่ต้องมารับกรรมพร้อมกันไปด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ “แบรนด์พรรคการเมือง” เสื่อมมนต์ขลังลงไป แต่ละพรรคจึงต้องเร่งเสริมสร้าง “ตัวบุคคล-ส.ส.” ในพื้นที่ให้เข้มแข็ง

จะเห็นได้ว่า ส.ส.ในแต่ละพื้นที่มีภารกิจต้องเร่งดูแลลูกบ้านเป็นหลัก แม้แต่ ส.ส.พลังประชารัฐก็มีท่าทีปล่อย “บิ๊กตู่” แล้วมุ่งหน้าเข้าหาประชาชนเจ้าของพื้นที่ก่อน จนส่งผลให้ไม่มีลูกพรรค พปชร.ออกมาปกป้องนายกฯ อย่างที่ควรจะเป็น เพราะ “นักการตลาดการเมือง” วิเคราะห์แล้วว่าการทำตัวคนให้แข็งเท่านั้นคือทางรอดในห้วง “วิกฤตศรัทธารัฐบาล”

โดยหากจะเอา “นโยบายรัฐบาล” ไปขอคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดูแล้วฝั่งพลังประชารัฐและพรรคร่วม ก็ลำบากไม่น้อย เพราะหลายๆ นโยบายยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง กระทั่งประชาชนทั้ง “จำ” และ “จับ” ไม่ได้ แต่การจะถอนตัวออกจากรัฐบาลกลางคัน ก็มีแต่ “เสียกับเสีย” เช่นกัน

 

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นก้าวย่าง “3 ป. ลงหลังเสือ” เร่งหา “ทายาทการเมือง” พร้อมวางขุนพลและปูทาง “พรรคสำรอง” ที่เตรียมปฏิบัติการ “พลังดูดเต็มสูบ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พร้อมปรับยุทธศาสตร์ “สร้างคนพื้นที่ให้แข็ง” ในยาม “แบรนด์พรรคอ่อนแอ”

ส่วนอนาคต ” 3 ป.” ต้องติดตามว่า “บิ๊กตู่” จะไปทำงานในตำแหน่งใดต่อ ส่วน “บิ๊กป้อม” น่าจะยังดูแลพรรคพลังประชารัฐต่อไป

ด้าน “บิ๊กป๊อก” คาดว่าคงหลบไปทำงานการเมืองหลังฉากเช่นกัน โดยต่างฝ่ายต่างถือสัญญาใจที่ว่า “มาด้วยกัน ไปด้วยกัน”

งานนี้ไม่ต้องไล่ เมื่อถึงเวลาและพร้อมเมื่อไหร่ ทั้ง “3 ป.” ก็จะไปเอง ไม่นานเกินรอ!?!?