แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก (1)/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก (1)

 

ในปี พ.ศ.2512 เมื่อผู้เขียนบทความได้ไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำในหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ผู้เขียนเรียนอาจารย์ว่าสนใจจะศึกษาเกี่ยวกับแซ็งเต็กซูเปรี

อาจารย์ได้ตอบว่า “เสียใจ มาดมัวแซล ไม่มีหัวข้อเกี่ยวกับแซ็งเต็กซ์เหลือให้ทำอีกแล้ว ทุกซอกทุกมุมทุกเรื่องเกี่ยวกับแซ็งเต็กซ์เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและปริญญาเอกไปหมดแล้ว จงไปหาดูนักประพันธ์คนอื่นที่คิดว่าตนเองพอจะชอบแล้วค่อยมาใหม่”

แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน ผู้เขียนก็ยังจำคำของอาจารย์ได้ดี

จะเห็นได้ว่าในวงการศึกษานั้น แซ็งเต็กซูเปรีเป็นนักประพันธ์ยอดนิยมมาแต่ไหนแต่ไร

 

อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี (ค.ศ.1900-1944) เป็นนักบิน-นักประพันธ์ซึ่งเป็นที่รู้จักดีทั่วโลก การดำเนินชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างที่บุคคลหนึ่งพึงกระทำในยุคบุกเบิกการบินในเวลากลางคืนและในยามสงคราม

เขาชอบการบินแต่เล็กและได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ขวบ

ต่อมาเขาทำงานเป็นช่างเครื่องเรือบินแทนการเกณฑ์ทหาร ได้เข้าทำงานในบริษัทเรือบินน้ำที่เมืองตูลูส (Compagnie G?n?rale a?ronautique de Toulouse) มีหน้าที่ช่วยเหลือนักบินที่ประสบปัญหาระหว่างการบินในแถบประเทศโมริทาเนีย ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกาเหนือ

ต่อมาบริษัทได้ส่งเขาไปรับผิดชอบเปิดสาขาของบริษัทชื่อ อาเอโรโปสตาล (A?ropostale) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ประสบการณ์ในการทำงานเป็นข้อมูลในการเขียนนวนิยายเรื่องแรก ไปรษณีย์ใต้ (Courrier Sud) ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1929

นวนิยายเรื่องนี้พูดถึงความอุตสาหะของนักบินที่จะส่งไปรษณียภัณฑ์จากเมืองตูลูส ในประเทศฝรั่งเศส ไปยังเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมร็อกโก และยังเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล ในทวีปแอฟริกา

ในนวนิยายนอกเหนือจากการบรรยายสภาพความเป็นจริงของทะเลทรายและเส้นทางคาซาบลังกา-ดาการ์ด้วยร้อยแก้วอันไพเราะดั่งบทกวี

ผู้อ่านยังชื่นชอบการกล่าวถึงเครื่องมือ อากัปกิริยาของช่างเครื่องซึ่งก็คือนักบินขณะใช้เครื่องมือเหล่านั้น ตลอดจนศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวข้อง

เมื่อนวนิยายเรื่องแรกนี้ประสบความสำเร็จ แซ็งเต็กซ์จึงหันมาสนใจงานประพันธ์มากขึ้น และทำการบินด้วยตนเองน้อยลง

 

ในปี ค.ศ.1931 นวนิยายเรื่อง เที่ยวบินรัตติกาล (Vol de Nuit) ได้รับรางวัลเฟมินา

นวนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยการบุกเบิกการบินในเวลากลางคืนเพื่อให้การขนส่งไปรษณียภัณฑ์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว

เป็นงานประพันธ์ที่ก้าวพ้นขนบนวนิยาย นำเสนอเรื่องราวในฐานะพยานหลักฐานและการคิดนึกตรึกตรองเรื่องภาระหน้าที่ ความกล้าหาญ ตัวตนของนักบินกับการมีชีวิตและกับความตาย

อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างความสุขในชีวิตครอบครัวกับภาระหน้าที่การบิน

ในปี ค.ศ.1939 แผ่นดินของเรา (Terre des Hommes) ได้รับรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมจากราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส (le Grand Prix du roman de l’Acad?mie fran?aise)

บทความอัตชีวประวัติเล่มนี้ว่าด้วยความคิดคำนึงและโลกทัศน์ของผู้แต่งอันเนื่องจากเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงสีผิว เผ่าพันธุ์หรือเชื้อชาติ

เรื่องการตระหนักและการตื่นตัวในความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่รู้จักสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อนในคณะทำงาน

มนุษย์ที่เข้าใจว่าความรักในเพื่อนมนุษย์คือพื้นฐานของสันติสุขในโลก

ผู้อ่านจะจำคำพูดที่ว่า “โมสาร์ทได้ถูกฆ่าไปเสียแล้ว” (Mozart assassin?) ในหน้าสุดท้ายของหนังสือได้เป็นอย่างดี

คำพูดนี้อยู่ในบริบทที่ว่า โลกปัจจุบันกำลังพินาศด้วยลัทธิวัตถุนิยมซึ่งไม่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงอัจฉริยภาพที่อาจจะซ่อนอยู่ในตัวของเขาออกมาได้

ในตู้รถไฟชั้นสามในยามดึก ผู้เล่าเรื่องยืนมองดูบรรดากรรมกรชาวโปแลนด์ซึ่งถูกส่งตัวกลับประเทศนั่งเบียดเสียดยัดเยียดหลับอยู่ เขาได้เห็นเด็กน้อยคนหนึ่งซุกตัวหลับอยู่ระหว่างพ่อและแม่

“เด็กน้อยพลิกตัว ฉันจึงได้เห็นใบหน้าของเขาภายใต้แสงไฟสลัว โอ ใบหน้านั้นช่างงามน่ารัก สายพันธุ์ของหญิงชายคู่นี้เป็นประหนึ่งผลไม้ทอง เด็กน้อยผู้ก่อกำเนิดจากผ้าขี้ริ้วหนาหนักกลับเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจและสูงส่ง ฉันก้มลงพินิจหน้าผากเรียบ ริมฝีปากน้อยๆ ที่ยื่นมาชวนให้สัมผัส ฉันบอกตนเองว่า นี่คือใบหน้าของนักดนตรี นี่คือโมสาร์ทในวัยเด็ก นี่คือสัญญาอันสวยสดแห่งชีวิต เจ้าชายน้อยๆ ทั้งหลายในเทพนิยายไม่ได้ต่างไปจากเด็กคนนี้ ถ้าเขาได้รับการดูแล เอาใจใส่ และได้เล่าเรียน เขาจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นในอนาคต เมื่อเกิดกุหลาบพันธุ์ใหม่ขึ้นในสวน คนทำสวนก็จะตื่นเต้นดีใจ เขาจะแยกกุหลาบนั้นออก ประคบประหงมเป็นพิเศษ แต่ไม่มีคนทำสวนสำหรับมนุษย์ โมสาร์ทในวัยเด็กคนนี้ก็จะเหมือนคนอื่นๆ ที่ถูกกลืนหายไปในเครื่องจักร โมสาร์ทจะเล่นได้ก็แต่ดนตรีเลวๆ ในบรรยากาศอับๆ ตามคาเฟ่ที่มีการแสดงดนตรี โมสาร์ทถูกตัดสินประหารเสียแล้ว…”

“…สิ่งที่ทรมานใจฉันนั้นไม่อาจรักษาได้ด้วยอาหารที่ให้เป็นทานแก่ผู้ยากไร้ สิ่งที่ทรมานใจฉันนั้นไม่ใช่กระเพาะที่ว่างเปล่าด้วยความหิวโหย ไม่ใช่หลังที่ค้อมด้วยงานหนัก ไม่ใช่ความจนอันน่าเกลียดน่าชังนี้ แต่คือความเป็นโมสาร์ทในมนุษย์แต่ละคนที่ได้ถูกฆ่าไปเสียแล้ว”

 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1939 แซ็งเต็กซ์เข้าร่วมในกองทัพอากาศในฐานะนักบินลาดตระเวนในกลุ่ม II/33

หลังจากถูกปลดประจำการในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1940 และมีการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลเยอรมนี เขาเดินทางไปนครนิวยอร์กเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตร

รัฐบาลฝรั่งเศสโดยนายกรัฐมนตรีเปแต็งภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล

แต่แซ็งเต็กซ์ปฏิเสธโดยที่เขาก็มิได้เข้าร่วมกับนายพลเดอโกลล์ซึ่งดำเนินการต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีอยู่แต่อย่างใด

เดิมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสงวนท่าทีที่จะเข้าร่วมสงครามเต็มกำลังและแสดงออกในเชิงดูหมิ่นประเทศฝรั่งเศสที่แพ้สงคราม

แต่เมื่อนวนิยายเรื่อง นักบินยามสงคราม (Pilote de guerre) ซึ่งเขียนในปี ค.ศ.1941 พูดถึงการสู้รบในช่วงเวลาหกเดือนที่นำประเทศฝรั่งเศสไปสู่ความพ่ายแพ้ และตีพิมพ์ที่นิวยอร์กปี ค.ศ.1942 ในพากย์ภาษาอังกฤษชื่อ Flight to Arras

ชาวอเมริกันได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างจำนวนและประเภทของอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนจำนวนกำลังพล จึงได้เข้าใจชาวฝรั่งเศสมากขึ้น

แซ็งเต็กซ์เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“อย่าตัดสินประเทศฝรั่งเศสจากการที่ถูกบดขยี้ จงตัดสินประเทศฝรั่งเศสจากการที่ชาวฝรั่งเศสยินยอมสละชีวิต ประเทศฝรั่งเศสยินดีทำสงครามทั้งๆ ที่ขัดกับเหตุผลของพวกนักตรรกะ พวกเขาบอกว่า เยอรมนีมีประชากร 80 ล้านคน ในเวลาเพียงหนึ่งปี เราชาวฝรั่งเศสย่อมไม่อาจเพิ่มประชากรที่ขาดไปจำนวน 40 ล้านได้ เราไม่อาจเปลี่ยนทุ่งข้าวสาลีของเราให้เป็นเหมืองถ่านได้ (…) เราจะต้องขายหน้าเพราะผืนดินของเราให้ข้าวสาลีมากกว่าที่จะให้เครื่องจักรกระนั้นหรือ หรือเพราะเรามีประชากรน้อยกว่าหนึ่งเท่า เหตุใดจึงเป็นเราที่ต้องอับอายขายหน้า เหตุใดจึงมิใช่โลกนี้ทั้งโลก”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ความจริงแท้ประการหนึ่ง การทำสงครามไม่ใช่การยอมรับว่าจะต้องเสี่ยงชีวิต การทำสงครามไม่ใช่การยอมรับว่าจะต้องมีการต่อสู้ แต่คือการยอมรับว่าจะต้องตาย ต้องตายเท่านั้นต่างหาก”

เขายังตัดพ้อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกว่า

“เหตุใดเราจึงต่อสู้ สู้เพื่อประชาธิปไตยหรือ หากเราตายเพื่อประชาธิปไตย ก็หมายความว่าเราเป็นฝ่ายเดียวกับนานาประเทศที่เชิดชูประชาธิปไตย ประเทศเหล่านั้นจงมาร่วมรบกับเราสิ! แต่ประเทศที่ทรงอำนาจที่สุด ประเทศเดียวซึ่งอาจช่วยเราได้ยังสงวนท่าทีเมื่อวานนี้ และวันนี้ก็ยังสงวนท่าทีอยู่ ช่างเถิด ก็เป็นสิทธิ์ของประเทศนั้นนี่นะ”

อาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้แสดงอำนาจแห่งวรรณกรรม (ตามคำของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี) โดยแท้ เพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตรเต็มตัว การยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์ม็องดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 เป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ

อย่างไรก็ตาม ที่สหรัฐอเมริกา แซ็งเต็กซ์รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะเขาไม่ฝักใฝ่กับชาวฝรั่งเศสที่นั่นซึ่งนิยมเดอโกลล์ เพราะเขาไม่พูดภาษาอังกฤษ (แม้จะมีเพื่อนชาวอเมริกันที่รู้ภาษาฝรั่งเศส) ปิตุภูมิที่เขารักก็ตกเป็นเชลย เขาปลอบใจตนด้วยการหวนกลับไปพึ่งพิงวัยเด็กอันแสนสุขแสนอบอุ่นของเขา

นิทานเชิงปรัชญาเรื่อง เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) จึงถือกำเนิดขึ้น