นวัตกรรมไม่ได้อยู่แค่ในสิ่งของ/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

นวัตกรรมไม่ได้อยู่แค่ในสิ่งของ

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ลำพังจะเอาตัวรอดให้ไม่เป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อก็ว่ายากแล้ว ในแง่เศรษฐกิจจะประคองตัวเองยังไงให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ไปได้โดยไม่สิ้นเนื้อประดาตัวไปเสียก่อนก็ยากไม่แพ้กัน

ดังนั้น ถ้าหากจะถามคุณผู้อ่านว่าให้ลองนึกถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาอันน่าหดหู่แบบนี้ ก็ไม่น่าจะนึกออกกันสักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ เพราะก็ไม่น่าจะมีใครมีกะจิตกะใจสร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมาได้

แต่ Accenture บริษัทที่ปรึกษา และ Fast Company สื่อสัญชาติอเมริกันเขาก็จับมือกันสร้างลิสต์รายชื่อบริษัทที่มีความเป็นนวัตกรรมมากที่สุดประจำปี 2021 ขึ้นมาซึ่งก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากทีเดียว

นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่สองหน่วยงานนี้จับมือกันสร้างลิสต์ 100 บริษัทระดับโลกที่มีนวัตกรรมด้านวัฒนธรรมการทำงานประจำปีนี้ขึ้นมา

โดยตัดสินจากปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร ความคิดริเริ่มในการทำให้เกิดความหลากหลายและความเท่าถึงกันภายในองค์กร รวมถึงนวัตกรรมและโปรแกรมต่างๆ

โดยมีองค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 950 แห่ง และคัดเลือกมาเหลือ 100 แห่งเท่านั้น

เรามาดูที่อันดับที่หนึ่งกันเลยดีกว่า

 

ถ้าได้ยินชื่อบริษัทที่คว้าอันดับหนึ่งไปครอง ทุกคนจะต้องพยักหน้าหงึกๆ ด้วยความเข้าใจทันที เพราะมันก็คือบริษัท Moderna นั่นเอง

ถึงแม้วัคซีนของ Moderna จะเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จักแต่ยังไม่มีบุญได้เห็นหรือฉีดตัวจริงสักที แต่ฉันก็เชื่อว่าเราคุ้นเคยกับชื่อนี้กันเป็นอย่างดี

นี่คือบริษัทผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นและพัฒนาวัคซีน mRNA สำหรับใช้ต้านโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่ามีประสิทธิผลสูงถึงราว 94%

Moderna ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 ในชื่อ ModeRNA Therapeutics เพื่อใช้เทคโนโลยี mRNA ในการพัฒนายาประเภทใหม่ๆ โดยบริษัทได้ศึกษาเชื้อไวรัส MERS ร่วมกับ National Institutes of Health มาเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จู่ๆ ก็เกิดมีรายงานเกี่ยวกับโรคชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

11 มกราคม 2020 ทางการของจีนได้ส่งลำดับดีเอ็นเอของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ให้กับทาง Moderna ซึ่งบริษัทใช้เวลาเพียงแค่สองวันก็สามารถออกแบบวัคซีนสำหรับโควิด-19 ขึ้นมาได้

และภายในเดือนมิถุนายน ปี 2021 ก็สามารถผลิตวัคซีนไปได้แล้วมากกว่า 200 ล้านโดสในสหรัฐ

เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก สถานการณ์ได้บีบบังคับให้ Moderna ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงานใหม่หมด จากเดิมที่พนักงานต้องมากระจุกตัวกันที่ออฟฟิศ ก็เปลี่ยนแปลงกลายเป็นการกระจายกันทำงานจากสถานที่ต่างๆ

และเพิ่มกำลังคนจาก 800 คนในปี 2019 เป็น 1,300 คนภายในก่อนสิ้นปี 2020

Moderna ได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งนี้ว่าการทำงานระยะไกลกลับส่งผลกระทบด้านดีให้เกิดขึ้นกับนวัตกรรมของบริษัทอย่างคาดไม่ถึง ทุกคนสามารถเข้าถึงความเป็นผู้นำได้มากขึ้น เกลี่ยสนามการแข่งขันให้มีความเท่าเทียมกันระหว่างคนที่มีบุคลิกภาพเป็นคนเก็บตัวกับคนที่ชอบเข้าสังคม

และยังทำให้บริษัทสามารถเลือกหยิบพนักงานที่มีคุณภาพจากตลาดงานที่กว้างขึ้นได้เพราะไม่มีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์อีกต่อไป

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Moerna คว้าตำแหน่งที่หนึ่งขององค์กรแห่งนวัตกรรมไปครอง

 

อันดับที่สองประจำปีนี้ตกเป็นของ W.L Gore & Associates ที่คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่เป็นบริษัทด้านวิทยาศาสตร์ที่มีอายุมานานกว่า 63 ปี

มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักคือเนื้อผ้า Gore-Tex ที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ กันลม และระบายอากาศได้

บริษัททุ่มเงินจำนวนมากไปกับการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

แต่สิ่งที่ทำให้สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมไปครองได้ก็มาจากโครงสร้างองค์กรแบบที่ไม่มีลำดับขั้น นำไปสู่การที่พนักงานสักคนหนึ่งที่มีไอเดียดีๆ จะสามารถนำไอเดียนั้นไปทดลองและทำให้เกิดกระบวนการใหม่ๆ

จนบริษัทสามารถสร้างกำไรและเปิดตลาดใหม่ได้ในที่สุด

 

และอันดับที่สาม Quirk Creative บริษัทเอเยนซี่โฆษณาซึ่งชนะใจคณะกรรมการได้จากโปรแกรมที่มีชื่อว่า “Directors in Training” คือการสนับสนุนให้ครีเอทีฟซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสามารถพัฒนาฝีมือจนกลายเป็นผู้กำกับโฆษณาได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนี่คืออุตสาหกรรมที่รู้กันว่าชายเป็นใหญ่ และมีผู้กำกับผู้หญิงในวงการเพียงแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากสามอันดับที่ได้พูดถึงแล้วก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีเรื่องราวดีๆ ที่เราสามารถหยิบมาเรียนรู้ได้

อย่างเช่น ทีม Applied Physics Laboratory จาก Johns Hopkins ซึ่ง Fast Company ให้เหตุผลที่คัดเลือกทีมนี้เข้ามาอยู่ในลิสต์ว่าการอุดอู้ทำงานอยู่ภายในทีมกันเองมีโอกาสน้อยมากที่จะนำไปสู่นวัตกรรม แต่การจับมือร่วมกับทีมอื่นจะทำให้เกิดผลลัพธ์ความสำเร็จที่จับต้องได้

อย่างทีมของ Johns Hopkins ที่ร่วมมือกันทั่วมหาวิทยาลัยในการสร้างแดชบอร์ดโควิด-19 เพื่ออัพเดตข้อมูลการระบาดของไวรัสแบบทันท่วงที ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลกโดยมีคนเข้ามาดูข้อมูลมากกว่าหนึ่งพันล้านครั้ง

ในลิสต์นี้ยังมีบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่ติดอันดับเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น IBM, General Motors, Siemens, Alibaba Group, Google, Adobe, Pepsico, หรือ Samsung โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา

แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทเหมือนกันที่กระจายตัวมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก

 

จะเห็นได้ว่าลิสต์นี้มุ่งเน้นหลักๆ ไปที่นวัตกรรมทางด้านวัฒนธรรมองค์กรที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลการทำงานสูงที่สุด แม้ว่าโลกจะเผชิญกับความท้าทายของการต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โรคระบาด

แต่ก็ไม่ได้แปลว่านวัตกรรมจะต้องหยุดนิ่ง ถึงแม้พนักงานจะไม่สามารถเข้ามานั่งประชุม ทำงาน ระดมสมองแบบตัวต่อตัวที่ออฟฟิศกันได้เหมือนแต่ก่อน

แต่มนุษย์เราก็สามารถหาวิธีใหม่ๆ ในการที่จะจับมือกันและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อเอาชนะข้อจำกัดและอุปสรรคใหม่ที่เกิดขึ้น โดยที่ในหลายๆ กรณีกลับสามารถทำได้ดีกว่ารูปแบบเดิมด้วยซ้ำ

เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด หรือทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหรือวัฒนธรรมภายในองค์กรแม้เพียงเล็กน้อยแต่ถูกทาง ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะทรงพลัง

และอาจเปลี่ยนโลกใบนี้ได้เหมือนกับที่อันดับหนึ่งอย่าง Moderna ได้ทำมาแล้ว