E-DUANG : นิรมิตกรรม คาร์ปาร์ค ของ”พี่เต้น” ประสาน จัดเจน อดีต มาสู่ ปัจจุบัน

จะมองพัฒนาการของ “พี่เต้น” ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ต้องมองผ่านกระ บวนการ”ไลฟ์” ก็จะประจักษ์ในความเปลี่ยนแปลง

เป็นการเปลี่ยนแปลงในทาง”รูปแบบ”ในเชิง”กระบวนท่า”

หากมองจากที่เคยเป็น”นักโต้วาที” หากมองจากที่เคยเป็นนัก จัดรายการทาง”ทีวี” หากมองจากที่เคยเป็น “นักปราศรัย”ทางการ เมือง ไม่ว่าหาเสียง ไม่ว่าในการต่อสู้

ทุกคนต่างยอมรับในความสามารถในความจัดเจน จังหวะจะโคนในการพูด การเสนอประเด็น แต่กล่าวสำหรับพื้นที่”ไลฟ์”ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับ”พี่เต้น”ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

แต่จากหนฤกษ์เบิกโรงกับหนที่ 2 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ก็จะสัมผัสได้ในการปรับกระบวนท่า ที่เห็นเคอะเขิน ละล้าละลัง ก็มีความปราดเปรียว

อาศัยจุดแข็งในเรื่อง”อารมณ์ขัน”มาเป็นเครื่องเชื่อมประสาน

ที่สำคัญอย่างที่สุดคือตัวตนของ”พี่เต้น”ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่มิใช่ นักประสิทธิประสาท หากแต่ดำเนินไปในแบบปรับทุกข์ ผูกมิตร

 

การหวนคืนสู่สนามแห่งการเคลื่อนไหวนับแต่เข้าร่วมกับขบวนของ “คาร์ม็อบ” ก็เป็นการเข้าร่วมอย่างให้ความเคารพต่อเนรมิตกรรมของ “พี่หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ อย่างเต็มเปี่ยม

ยิ่งกว่านั้น ที่”พี่เต้น”ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ไม่เคยลืมเลือนเลย ยังเป็นคุณูปการจากน้องๆเยาวชนคนรุ่นใหม่

อาจจะยังเคอะๆเขินๆ เก้ๆกังๆ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์#ม็อบ7สิงหาคมบ้างในตอนแรก แต่เมื่อผ่านเห็นการยิงแก๊สน้ำตาประสานกับกระสุนยางอย่างบ้าคลั่ง

คนที่เคยผ่านความร้อนแรงของ”กระสุนจริง”ไม่ว่าในวันที่ 10 เมษายน ไม่ว่าในวันที่ 16 พฤษภาคมมาแล้ว มีหรือที่”พี่เต้น”ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของน้องๆ

นั่นแหละจึงได้พัฒนาการไปสู่”คาร์ปาร์ค”ใน#ม็อบ15สิงหาคม

 

“คาร์ปาร์ค”อาจสรุปได้ว่าเป็นการต่อยอดมาจาก”คาร์ม็อบ”ที่ริเริ่มและสร้างสรรค์โดย”พี่หนูหริ่ง”สมบัติ บุญงามอนงค์ จึงเมื่อสนธิเข้ากับ”ไฮด์ปาร์ค”ก็กลายเป็น”คาร์ปาร์ค”โดยกลมกลืน 

“ไฮด์ปาร์ค”เป็นนิรมิตกรรมตั้งแต่ยุค เสกสรร ประเสริฐกุล ตั้งแต่ยุค วีระ มุสิกพงศ์ กระทั่งยุค อานนท์ นำภา

เพียงแต่สอดสวมเข้ากับ”พี่เต้น”ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เท่านั้น