นวัต – จิตร – วรรณกรรม จ่าง แซ่ตั้ง/รายงานพิเศษ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

รายงานพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

นวัต – จิตร – วรรณกรรม จ่าง แซ่ตั้ง

 

ห้วงเวลาแห่งไวรัส “โคโรนา 2019” เริ่มปรากฏและระบาดขึ้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า หรือตลาดค้าอาหารทะเลสดเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 (ค.ศ.2019) ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วเริ่มกระจายออกไปยังส่วนอื่นของพื้นโลก พบในประเทศไทยโดยหญิงจีนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 3 มกราคม 2563

กระทั่งผ่านวันเดือนนับได้ปีเศษ วันนี้ พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) แม้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนการแพร่ระบาดสร่างซาลงไปกระทั่งแทบจะเรียกว่าหายขาด แต่ในกรุงเทพมหานครยังมีปริมาณผู้ป่วยเกินกว่าหมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 100 ราย ในรอบวัน

ระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส รัฐบาลยังต้องกำหนดนโยบายสาธารณสุขชนิดเข้มข้นถึงขนาดที่เรียกว่า “เคอร์ฟิว” ในหลายพื้นที่ เกือบทั่วประเทศ ประชาชนต้องปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่กับบ้าน “work from home”

ผู้คนประชาชนแทบว่าไม่ได้ออกจากบ้านเดินทางไปไหนมาไหน โดยเฉพาะกับรถโดยสารประจำทางสาธารณะ ที่เรียกกันติดปากว่า “รถเมล์”

ผู้คนตั้งแต่ผู้สูงวัยถึงเด็กเล็กที่อยู่บนอ้อมอกแม่ เด็กนักเรียนหิ้วกระเป๋าใส่หนังสือเรียนยืนรอเบียดเสียดแย่งผู้ใหญ่ขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียน แทบว่าไม่มีให้เห็น ป้ายรถเมล์ในหลายเวลาว่างเปล่า

คืนหนึ่ง ตื่นขึ้นมากลางดึก ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีของ “จ่าง แซ่ตั้ง” ชื่อ “คน”

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน คน

คอยรถเมล์โดยสารประจำทาง……………………………………………ที่กรุงเทพฯ

(หนังสือ กวีนิพนธ์ “ปกคำ” จ่าง แซ่ตั้ง ระลึก 30 ปี มตะกาล จ่าง แซ่ตั้ง พ.ศ. 2533-2563 สำนักพิมพ์ ลูก-หลาน จ่าง แซ่ตั้ง นครปฐม พิมพ์ครั้งที่ 3 (ฉบับสองภาษา) สิงหาคม 2563 ราคา 100 บาท)

 

จ่าง แซ่ตั้ง ข้าพเจ้าเรียก “เฮียจ่าง” รู้จักกันมายาวนานกว่า 60 ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งเฮียจ่างไปเช่าหน้าร้านทำมาหากินด้วยการรับจ้างวาดรูปภาพเหมือน (portrait) จากสีถ่าน (เกรยอง-ขาวดำคล้ายแรเงา) ที่สี่แยกตลาดพลู ถนนเทอดไทย อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี

(คนสมัยก่อนเขามีโอกาสถ่ายรูปตัวเองหรือครอบครัวไว้จะเป็นรูปขาวดำขนาดเล็กๆ เก็บรูปไว้นานๆ คุณภาพก็เสื่อมไป พอมีคนในครอบครัวเสียชีวิต ต้องการรูปมาติดหน้าศพหรือเก็บไว้เป็นที่ระลึก เขาก็เอารูปมาจ้างให้คุณพ่อเขียนขยาย พ่อเขียนรูปเหมือนได้เร็วและแม่นยำมาก สมัยก่อนคนจ้างเขารีบมารับรูปมาก บางทีจ้างวันนี้พรุ่งนี้มารับ เพราะต้องการรีบนำรูปคนในครอบครัวไปติดหน้างานศพ บางวันเขียนรูปเหมือนได้หลายรูป เนื่องจากขนาดรูปถ่ายเดิมมันเล็กมาก (จากภาพถ่ายขนาด 2 นิ้ว ต้องขยายใหญ่เท่ากับ 33×46 เซนติเมตร ภาพฝีมือของจ่างภาพหนึ่ง คือภาพ “กง” – ปู่ของภรรยาข้าพเจ้า ซึ่งน้องชายของภรรยาเคยนำไปให้ช่างกรอบรูปเปลี่ยนกรอบ ช่างทักว่า ขอให้บอกขนาดและชนิดกรอบ ส่วนภาพคือภาพเขียนของ “จ่าง แซ่ตั้ง” ให้นำกลับไปก่อน เมื่อกรอบเสร็จแล้วจึงนำมาเปลี่ยน – มุมขวาใต้ภาพพิมพ์เป็นภาษาจีน น่าจะเป็นชื่อ ส่วนภาษาไทยเป็นตัวพิมพ์ “เขียนโดยนายจ่าง แซ่ตั้ง” ยังคงทนไม่เลือนถึงวันนี้) เวลาพ่อเขียนก็ต้องเอากล้องส่องขยาย เวลามองผ่านกล้อง พ่อไม่ได้เห็นเฉพาะหน้าของคนที่จะวาด แต่เห็นร่องรอยอื่นๆ ที่อยู่บนภาพด้วย ทั้งเชื้อรา ทั้งรอยด่าง รอยขูดขีดต่างๆ หรือเม็ดสีจุดเล็กๆ ที่ประกอบกันเข้าจนเป็นภาพหน้าคน – ทิพย์ แซ่ตั้ง เล่าไว้ในเรื่อง “บางส่วนเสี้ยวของชีวประวัติ” ฯ สิทธิธรรม โรหิตะสุข หน้า 174- 175 “จ่าง” ศึกษา นวภู แซ่ตั้ง บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2563 สำนักพิมพ์ ลูก-หลาน จ่าง แซ่ตั้ง นครปฐม ราคา 550 บาท)

บ้านเดิมของพ่อเมื่อเขากำเนิดนั้น อยู่บริเวณตลาดสมเด็จฝั่งธนบุรี ใกล้กับวัดอนงคาราม (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นห้องแถวไม้ (ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวนั้นติดกับสวนสมเด็จย่า) ตอนอยู่ที่ตลาดสมเด็จพ่อเคยเปิดร้านให้เช่าหนังสือจีนและรับจ้างเขียนภาพเหมือน… หลังปลดจากทหารเกณฑ์ก็มาเปิดร้านรับจ้างเขียนภาพเหมือนบริเวณค่ายทหาร ร.1 พัน 4 แถวสะพานแดง ร้านอยู่บริเวณนั้นได้ไม่นานก็ย้ายร้านมาอยู่แถวตลาดพลู ร้านนี้อยู่หน้าโรงหนัง “วิกเตี้ย” – “ชื่อว่า ฉลองชัย ต่อมาเปลี่ยนเป็นศรีตลาดพลู” – ซึ่งคนรุ่นเก่าๆ ที่เคยอยู่แถวนั้นจะทราบกันว่า ร้านรับจ้างเขียนภาพเหมือนด้วยสีถ่าน คือร้านของจ่างนี่เอง ช่วงนั้นประมาณปี พ.ศ. 2497-2500)

– – ทิพย์ แซ่ตั้ง เล่าไว้ในเรื่องเดียวกัน หน้า 173-174

 

เฮียจ่างวันเวลานั้น แต่งกายสุภาพด้วยเสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว กางเกงขายาวสีดำ สวมถุงเท้า และรองเท้าหนังสีดำ

มาเริ่มงานห้วงเวลาสายประมาณ 09.00 น. เวลากลับไม่แน่นอน แต่ไม่เกิน 18.00 น.

ข้าพเจ้าอยู่ในวัยรุ่น ละแวกสี่แยกตลาดพลูใกล้โรงหนังฉลองชัย (วิกเตี้ย) ระหว่างเวลานั้น เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันและรุ่นพี่ต่างวัยอายุห่างกัน 3-4 ปี คนหนึ่งเรียนปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คนหนึ่งเรียนวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน ข้าพเจ้าเรียนมัธยมศึกษา บางคนจบมัธยมปีที่ 6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ช่วยบิดามารดาค้าขาย

ระหว่างเวลานั้นนวนิยายกำลังภายใน “มังกรหยก” สำนวนแปลของ จำลอง พิศนาคะ กำลัง “ฮิต” ท่ากำลังภายในของ “ก๊วยเจ๋ง – อึ้งย้ง” เป็นที่ติดอกติดใจในหมู่พวกเรา และนักอ่านคนไทย เพื่อนที่เรียนช่างกลปทุมวันถึงกับตั้งตัวเองเป็น “ก๊วยเจ๋ง” แล้วพยายามเรียกเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งละแวกนั้นว่า “อึ้งย้ง”

การรู้จักกับ “เฮียจ่าง” ของพวกเราจึงรู้ว่า เฮียเขารู้เรื่องกำลังภายใน และมวยจีน ทั้งยังใช้เวลายามบ่ายรุ่นพี่ที่เรียนเกษตรฯ สนใจเรื่องกำลังภายในถึงขนาดขอให้เฮียเขาใช้สถานที่หลังห้องเช่าห้วงเวลานั้นช่วยฝึกกำลังภายในฝึกท่าทางและสอนท่าฝึกให้ รวมถึงกับพวกเราบางคนด้วย

เฮียจ่างอยู่ทำมาหากินกับการวาดภาพเหมือนที่บรรดาชาวละแวกตลาดพลู บางขุนเทียน มหาชัย นำภาพมาให้วาด คงประมาณ 3- 4 ปีจากนั้น จึงย้ายไปอยู่ที่อื่น

(จ่าง แซ่ตั้ง เกิดเมื่อวันที่ 1พฤษภาคม พ.ศ.2477 จบการศึกษาระดับชั้นมูลจากโรงเรียนเทศบาลสองวัดพิชัยญาติ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียนและไม่ได้ศึกษาต่ออีก

กระทั่งอายุ 9 ปี ได้เริ่มฝึกการเขียนวาดภาพโดยใช้ถ่านหรือสีชอล์ก ต่อมาเมื่ออายุ 10 ปี เขาทำงานด้วยการรับแจวเรือจ้างให้คนนั่งข้ามฟากเพื่อหาทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์วาดภาพมาฝึกฝน การฝึกฝนในระยะเริ่มแรก จ่างเริ่มต้นจากการหัดเขียนภาพเหมือน เขาเขียนภาพเหมือนของคนในครอบครัว จนเมื่อชำนาญจึงเริ่มทำงานรับจ้างเขียนภาพเหมือนเป็นหลัก แม้ไม่ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียน… แต่…

“ตอนเด็กๆ ตัวฉันเองก็ชอบขีดเขียนตามถนนพื้นซีเมนต์หรือฝาผนังบ้าน ทำความเลอะเทอะให้คนอื่น ก็คิดว่าควรเขียนบนแผ่นกระดาษ บนผืนผ้าอย่างที่ควรจะทำ แล้วก็มีประโยชน์แก่คนอื่นอื่นได้อีก ฉันเองไม่มีโอกาสที่จะเรียนอย่างคนอื่นๆ ยืนดูคนอื่นเขียนก็โดนไล่ ฉันไม่เคยมีโอกาสมีครูที่จะมาสอน แต่มีครูที่เป็นธรรมชาติโลกและหนังสือภาพเขียนผลงานจิตรกรรมเอกของโลก…” (เรื่องเดียวกัน หน้า 167-168)

 

อีกหลายปีต่อมา ข้าพเจ้าทราบและพบเฮียเขาไปเช่าแผงอยู่ที่ท่าน้ำถนนตก แล้วให้ “เจ๊” เปิดแผงขายหนังสือพิมพ์ ส่วนตัวเองยังคงรับจ้างวาดภาพเหมือนไปด้วย

แต่ดูเหมือนว่าจะเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตไปศึกษางานด้านศิลปะบ้างแล้ว

เมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไม่เจอะเจอกันหลายปี ข้าพเจ้ายังอาศัยเติบโตที่ตึกแถวบริเวณสี่แยกตลาดพลู ห่างจากห้องที่เฮียจ่างเช่าอยู่เพียงช่วงถนนเทอดไทยตัดขวาง

เป็นระหว่างที่น้าชายของข้าพเจ้า “สำราญ ทรัพย์นิรันดร์” ได้รับหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร “ช่อฟ้า” ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ที่มี “กิตติวุฑโฒภิกขุ” เป็นเลขาธิการมูลนิธิ และมอบหมายให้ข้าพเจ้า ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ทำหน้าที่กองบรรณาธิการ

บางครั้งได้มีโอกาสพบกับเฮียจ่างอยู่บ้าง ทราบว่าเฮียเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสิ้นเชิงด้วยการ “วาดภาพ” ใช้สีดำเป็นหลัก

ระหว่างดำเนินการนิตยสารช่อฟ้าบนชั้นสองของโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์การพิมพ์ ถนนเฟื่องนคร หน้าวัดราชบพิธฯ เฮียจ่างมาเยี่ยมเราถึงบนสำนักพิมพ์ พร้อมรับคำทวง “ต้นฉบับบทกวี” หรืองานเขียนของเขาจากพวกเรา ขณะที่เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นและบทกวีบ้างแล้ว

เรื่องหนึ่งคือเรื่องสั้นที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2506 ชื่อ “เวลาอันยาวนาน” เป็นระหว่างที่จ่างเริ่มเป็นที่รู้จักของศิลปิน “ละแวกถนนหน้าพระลาน” มากแล้ว

หนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอีกเล่มหนึ่งที่รวมบทความ สารคดี เรื่องสั้น และงานภาพเขียนที่ได้รับรางวัล “แห่งชาติ” ดีมากอีกเล่มหนึ่ง ไม่ต่างจากหนังสือ “23 ตุลา” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปีหนึ่งเป็นเหตุให้สาราณียกรคนหนึ่ง “จิตร ภูมิศักดิ์” ถึงกับถูก “โยนบก” ด้วยความไม่พอใจ และไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่ลงตีพิมพ์จากคณะกรรมการสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.)

แล้ววันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2510 นิตยสารช่อฟ้ารายเดือน จึงมีโอกาสตีพิมพ์บทกวีของ จ่าง แซ่ตั้ง ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าเป็น “บทกวีสมัยใหม่ (CONCRETE POETRY)” ครั้งแรก หลังจากบทกวีคำซ้ำ…

“ลอย ลอย ลอย ฯลฯ …” (จ่าง แซ่ตั้ง เริ่มเขียนบทกวีชิ้นแรก เมื่อ พ.ศ.2510 ขณะนอนพักผ่อนข้างลอมฟางหลังจากเขียนรูป การเป็นคนวาดรูป ทำให้จ่างมองเห็นสิ่งเบื้องหน้าเป็น “ภาพ” แม้เขาจะใช้ตัวอักษรแสดงความรู้สึกแทนสีน้ำ หรือถ่าน อย่างที่เคยทำตามปกติของการวาดภาพ ตัวอักษรของเขาก็แสดงเป็นภาพอยู่นั่นเอง – บทกวีบทแรกในชีวิตของจ่าง แซ่ตั้ง เผยแพร่ครั้งแรก – “บทกวีการเมืองของจ่าง แซ่ตั้ง รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เล่มเดียวกัน หน้า 387)

และปีต่อมา พ.ศ.2511 หนังสือรวมกวีนิพนธ์นามธรรม “ปกดำ” ของ จ่าง แซ่ตั้ง จึงพิมพ์ออกจำหน่าย

น่าเสียดายว่า นอกจากเรื่องสั้น “เวลาอันยาวนาน” ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ.2506 แล้ว เรื่องอื่น ที่เป็นวรรณกรรม และกวีนิพนธ์ ของจ่าง แซ่ตั้ง แม้เมื่อนำมารวมเป็นเล่มแล้ว ไม่มีชื่อหนังสือและวันเดือนปีของเรื่องนั้นลงพิมพ์บอกไว้แม้แต่เรื่องเดียว

(สอบถามจาก ทิพย์ แซ่ตั้ง – กรกฎาคม 2564 – ซึ่งเป็นผู้ที่รวบรวมภาพและงานเขียนของพ่อที่มีจำนวนมาก (จากการศึกษาโดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Haus der Kulturen der Welt ในปี พ.ศ.2558 แคลร์ วีล (CLARE Veal) นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่สนใจศึกษาศิลปะในบริบทอุษาคเนย์ได้สรุปผลงานทั้งหมดของจ่างไว้ว่ามีผลงานจิตรกรรมจำนวนกว่า 5,000 ชิ้น และข้อเขียนจำนวนกว่า 90,000 แผ่น – เล่มเดียวกัน หน้า 121) ว่าไม่สามารถทราบได้ว่าเรื่องใด หรืองานเขียนใดลงพิมพ์หรือเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ จึงไม่สามารถอ้างอิงได้ แม้ทราบว่าการระบุชื่อหนังสือและวันเดือนปีของผลงานอาจแสดงถึงห้วงเวลาและประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ขณะนั้นมีความสำคัญก็ตาม หากมีโอกาสและสามารถทราบได้หรือใครทราบว่าวันเวลาของผลงาน จ่าง แซ่ตั้ง เผยแพร่เมื่อไหร่ อย่างไร โอกาสตีพิมพ์รวมเล่มครั้งต่อไปจะพยายามจัดบันทึกไว้)

 

เมื่อข้าพเจ้าเกิดคิดถึง “คน…คอยรถเมล์โดยสารประจำทาง………………………….ที่กรุงเทพฯ” ระหว่างไวรัส “โควิด-19” แพร่ระบาด ทั้งรัฐบาลประกาศมาตรการเข้มงวดไม่ให้ออกจากบ้านหากไม่จำเป็น ข้าพเจ้ามองไปในความว่างเปล่า เห็นภาพถนนโล่ง ป้ายรถเมล์ปราศจากผู้คน นักเรียน แม่กระเตงลูกบนสะเอว ยิ่งคิดถึง “กวี” บทนี้ ไม่ทราบว่าจะให้เรียกว่าอะไร ณ ขณะนั้น

แล้วข้าพเจ้ากลับคิดถึง บทกวีต้นฉบับที่เป็นลายมือของ “จ่าง แซ่ตั้ง” พลันกลับไปคิดถึงงาน “จิตรกรรมสีดำบนผ้าใบผืนใหญ่” ฝาผนังบ้านที่จ่า