แรงบันดาลใจจากการได้เหรียญโอลิมปิก/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

แรงบันดาลใจจากการได้เหรียญโอลิมปิก

 

วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันสุดท้ายของการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020

การได้เหรียญทองโอลิมปิก เหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของวงการเทควันโดไทยของน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

เชื่อว่าจะทำให้เยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยมองพี่เทนนิสเป็นแบบอย่างและหันมาฝึกเทควันโดแบบพี่เทนนิส

หรือหันมาเล่นกีฬาอย่างจริงจังเพราะอยากประสบความสำเร็จอย่างพี่เทนนิส

 

จากการศึกษาของ University of Waterloo ในเมือง Waterloo รัฐ Ontario ประเทศแคนาดา นำโดย ดร.ลู้ก พอตวาร์คา (Dr. Luke Potwarka) พบว่า ในเมืองที่เป็นบ้านเกิดของนักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิกปี 2012 ไม่ว่าได้เหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนในเมืองนั้นๆ หันมาสนใจเล่นกีฬามากขึ้น

โดยเปรียบเทียบจำนวนเด็กอายุระหว่าง 12-19 ปี เล่นกีฬา 2 ปีก่อนที่โอลิมปิกปี 2012 จะเริ่ม กับจำนวนเด็กที่เล่นกีฬาหลังจากโอลิมปิกปี 2012 ผ่านไป 2 ปี

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ University of Waterloo ยังพบว่ายิ่งในเมืองเล็กๆ หากมีฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกในเมือง ก็จะทำให้เยาวชนในเมืองนั้นตื่นตัว หันมาเล่นกีฬาอย่างจริงจัง เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีหลายอย่างที่เหมือนกับนักกีฬาฮีโร่เหรียญโอลิมปิก เช่น บ้านอยู่ใกล้กัน อยู่โรงเรียนเดียวกัน ฝึกซ้อมที่เดียวกัน หรือมีโค้ชคนเดียวกัน

ดังนั้น ฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาโอลิมปิกก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เกินฝัน หากมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเต็มที่

นอกจากนี้ ชื่อเสียง เงินทองก็เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เยาวชนหันมา เอาจริงเอาจังกับการเล่นกีฬา

เชื่อว่าเด็กในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของน้องเทนนิส จะหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้หญิง ที่อาจมองว่ากีฬาเป็นเรื่องของเด็กผู้ชาย เพราะข่าวคราวกีฬาส่วนใหญ่ที่นำเสนอในเมืองไทยและต่างประเทศ มักจะเป็นเรื่องของนักกีฬาชาย

การได้เห็นน้องเทนนิสได้เหรียญทองโอลิมปิก เป็นฮีโร่ของชาติ จะเป็นแรงบันดาลใจว่า กีฬาก็เป็นเรื่องของผู้หญิง

และสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยกีฬา หากมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ย่อท้อ และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว

 

เช่นเดียวกับที่ประเทศเอธิโอเปีย และเคนยา ที่นับจากมีฮีโร่ของประเทศได้เหรียญโอลิมปิกเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ในการวิ่งระยะกลางและระยะไกล ทั้งสองประเทศก็ได้เหรียญโอลิมปิกจากการวิ่งระยะกลางและระยะไกลทุกครั้งในการแข่งขันโอลิมปิก

 

สร้างนักวิ่งรุ่นใหม่ฝีเท้าเยี่ยม ทุกสมัยไม่เคยขาด

ที่ประเทศเอธิโอเปีย นับตั้งแต่อะบีบี้ บิคิลา (Abebe Bikila) นักวิ่งมาราธอนชาย วัย 28 ปีที่วิ่งด้วยเท้าเปล่าแข่งขันวิ่งมาราธอนโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นนักวิ่งม้ามืดที่ลงแข่งวิ่งโอลิมปิกครั้งแรกก็ได้เหรียญทองให้กับเอธิโอเปียเป็นเหรียญแรก โดยเป็นครั้งที่ 2 ที่เอธิโอเปียส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน

 

ครั้งแรกที่ส่งคือโอลิมปิกปี 1956 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

เหตุผลที่อะบีบี้ บิเคลา วิ่งมาราธอนเท้าเปล่าก็เพราะซื้อรองเท้าใหม่เพื่อลงวิ่งแข่งขันโอลิมปิก แต่ปรากฏว่ารองเท้ากัด เลยตัดสินใจถอดทิ้ง และวิ่งเท้าเปล่า

อะบีบี้ บิคิลา ได้เหรียญทองจากการวิ่งมาราธอนอีกครั้งในโอลิมปิกครั้งต่อมาปี 1964 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพครั้งแรก ครั้งนี้อะบีบี้สวมรองเท้าวิ่งของ Puma

เป็นนักกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกจากการวิ่งมาราธอน 2 ปีซ้อน

 

นับจากโอลิมปิกปี 1960 นักวิ่งมาราธอนและนักวิ่งระยะไกลจากเอธิโอเปียก็คว้าเหรียญโอลิมปิกให้กับประเทศทุกครั้งที่ร่วมแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นวิ่งระยะ 3,000 เมตร, 5,000 เมตร, 10,000 เมตร และมาราธอน รวมแล้วกวาดเหรียญทองไปกว่า 20 เหรียญ

ถ้ารวมเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง เอธิโอเปียกวาดไปกว่า 50 เหรียญ โดยมาจากการวิ่งระยะกลางคือ 3,000 เมตร และระยะไกลคือ 3,000 เมตรขึ้นไป

 

เช่นเดียวกับประเทศเคนยา ที่นับตั้งแต่เข้าร่วมการโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในโอลิมปิกปี 1964 ที่กรุงโตเกียว ก็ได้เหรียญจาการแข่งวิ่งทุกโอลิมปิก

นักวิ่งจากเคนยา ชื่อ วิลสัน คิพรูกูต (Wilson Kiprugut) ได้เหรียญทองแดงจากการวิ่งระยะ 800 เมตร ในโอลิมปิกปี 1964 เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนเคนยาหันมาเป็นนักวิ่ง

นับจากนั้น นักวิ่งจากเคนยาได้เหรียญโอลิมปิกในการแข่งขันวิ่งทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะไกล และวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกทุกครั้ง ได้เหรียญทองโอลิมปิกกว่า 30 เหรียญ

 

รวมเหรียญทอง เงิน ทองแดง แล้วได้กว่า 100 เหรียญ

หลายคนสงสัยว่าทำไมนักวิ่งจากเคนยาและเอธิโอเปียถึงเก่งในการวิ่งระยะไกลเหลือเกิน

บางคนคิดว่านักวิ่งเอธิโอเปียและเคนยาวิ่งระยะไกลเก่งมากเพราะได้เปรียบด้านพันธุกรรมและภูมิประเทศ

สมัยก่อนโน้นเชื่อกันว่าในร่างกายคนเรามีกล้ามเนื้อ 2 ประเภท คือกล้ามเนื้อแดงกับกล้ามเนื้อขาว

กล้ามเนื้อขาวเป็นกล้ามเนื้อสำหรับวิ่งเร็วแต่ล้าง่าย ส่วนกล้ามเนื้อแดงเป็นกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวช้า แต่อึด ใช้งานได้นาน

โดยเชื่อกันว่าคนเอธิโอเปียและเคนยามีกล้ามเนื้อแดงเยอะ

แต่เมื่องานวิจัยทำการเปรียบเทียบสัดส่วนของกล้ามเนื้อของนักวิ่งเอธิโอเปีย นักวิ่งเคนยากับนักวิ่งชาติอื่น ปรากฏว่าไม่พบข้อแตกต่าง จึงสรุปว่ากล้ามเนื้อขาว-กล้ามเนื้อแดงไม่น่าจะเกี่ยวกับความอึดหรือความเร็ว

 

มีความพยายามหาเหตุผลอีกหลายประการที่จะนำมาสนับสนุนการวิ่งอึดของนักวิ่งเคนยาและเอธิโอเปีย เช่น เพราะประเทศอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ 2,000 เมตร การเกิดและเติบโตในบรรยากาศที่บางเบากว่าพื้นราบทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดมากขึ้นจึงทำให้วิ่งอึด

แต่ทฤษฎีนี้ถูกลบล้างด้วยคำถามที่ว่า แล้วทำไมนักวิ่งจากเนปาล อุรุกวัย และเปรูซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่าจึงไม่มีนักวิ่งระยะไกลชั้นแนวหน้า

นักกีฬาชาติตะวันตกหลายชาติที่เชื่อทฤษฎีนี้เคยเอานักกีฬาไปเก็บตัวฝึกซ้อมในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเยอะๆ เพื่อจะได้อึด ปรากฏว่าไม่ได้ผล

 

แต่ถ้าถามนักวิ่งเอธิโอเปียและเคนยาว่าทำไมถึงเก่งวิ่งระยะไกลเหลือเกิน

นักวิ่งทั้งสองชาตินี้คงตอบเหมือนกันหมดว่าเป็นเพราะความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกฝน ไม่เกี่ยวกับความได้เปรียบทางพันธุกรรมหรือภูมิประเทศ

ชาวเคนยาและเอธิโอเปียชอบการวิ่งมากโดยเฉพาะการวิ่งระยะไกลที่ป็นยิ่งกว่ากีฬา

ตั้งแต่เด็กก็วิ่งไปโรงเรียนระยะทางเป็นสิบกิโล วิ่งไปซื้อของ วิ่งเล่นกับเพื่อน การวิ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิตประจำวัน

นอกจากการวิ่งระยะไกลเป็นวัฒนธรรมของชาวเคนยา ชาวเอธิโอเปียแล้ว ยุคสมัยปัจจุบันการวิ่งยังยึดเป็นอาชีพทำให้ร่ำรวยมหาศาลได้แบบเดียวกับฟุตบอลและกีฬาประเภทอื่นๆ ยิ่งทำให้ 2 ประเทศที่ยากจนนี้มีนักวิ่งระยะไกลชั้นยอดเพิ่มขึ้น

การมีนักวิ่งรุ่นก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เอธิโอเปียและเคนยาใช้การวิ่งเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ